สินเชื่อคืออะไร?
สินเชื่อคืออะไร?
สินเชื่อ คือโอกาสที่ ผู้ขอ มีโอกาสที่จะได้รับเงินก้อนมาใช้จ่ายไปก่อนแล้วค่อยนำมาใช้หนี้ในภายหลังตามกำหนดสัญญา ปกติแล้วการขอสินเชื่อมักจะขอกับสถาบันการเงินหรือธนาคารต่างๆ ตามระเบียบที่เหมาะสมกับผู้ขอ
สินเชื่อมีกี่ประเภท?
โดยทั่วไปแล้วเราจะรู้จัก สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรถยนต์ หรือสินเชื่อที่อยู่อาศัย แต่ความจริงแล้ว ประเภทของสินเชื่อในปัจจุบันนั้นแบ่งได้ ดังนี้
- สินเชื่อที่แบ่งตามลักษณะของผู้ขอสินเชื่อ
- สินเชื่อที่แบ่งตามระยะเวลา
- สินเชื่อที่แบ่งตามหลักประกัน
1. สินเชื่อที่แบ่งตามลักษณะของผู้ขอสินเชื่อ
เป็นสินเชื่อที่สามารถแบ่งได้ตามการใช้งานของสินเชื่อ ส่วนใหญ่ยกให้สินเชื่อประเภทนี้อยู่ในหมวดเดียวกับการเพื่อวัตถุประสงค์ซึ่งมีอยู่ 3 รูปแบบ ดังนี้
- สินเชื่อส่วนบุคคล
สินเชื่อส่วนบุคคล เป็นสินเชื่อที่อนุญาตให้บุคคลผู้ขอสินเชื่อสามารถนำเงินก้อนที่ได้ไปใช้จ่ายเพื่อบริโภค จึงเป็นที่มาในอีกความหมายหนึ่งว่า สินเชื่อเพื่อการบริโภค สินเชื่อประเภทนี้มีทั้ง บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด ซึ่งสถาบันการเงินและธนาคารนับเป็นส่วนหนึ่งของสินเชื่อส่วนบุคคล และถือว่าเป็นสินเชื่อเพื่อการบริโภคด้วย
- สินเชื่อประเภทนิติบุคคล
สินเชื่อประเภทนิติบุคคล หรือที่เรียกว่า สินเชื่อเพื่อการลงทุน เป็นสินเชื่อสำหรับการประกอบธุรกิจ หรือดำเนินกิจการเพื่อการลงทุน การผลิต หรือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานต่างๆ สินเชื่อประเภทนี้อาจต้องใช้เวลาในการพิจารณา รวมทั้งมีกระบวนการในการขอและอนุมัติที่ซับซ้อนเล็กน้อย
- สินเชื่อภาครัฐ
สินเชื่อภาครัฐ หรือ สินเชื่อประเภทสำหรับรัฐบาล การขอสินเชื่อประเภทนี้ใช้ในกรณีที่ภาครัฐ หรือหน่วยงานนั้นๆ มีความจำเป็นต้องกู้เงิน ซึ่งอาจอยู่ในรูปของพันธบัตรเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ พันธบัตรออมทรัพย์ พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ หรือพันธบัตรรัฐบาลรูปแบบต่างๆ
2. สินเชื่อแบ่งตามระยะเวลา
แบ่งเป็น 3 ประเภท
- สินเชื่อระยะสั้น (Short-term Loans) สินเชื่อที่มีระยะเวลาในการกู้ยืมไม่เกิน 1 ปี เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต
- สินเชื่อระยะกลาง (Medium-term loan) สินเชื่อที่มีระยะเวลาตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป ถึง 5 ปี เช่น สินเชื่อรถยนต์-รถจักรยานยนต์
- สินเชื่อระยะยาว (Long-term Loan) สินเชื่อประเภทนี้มีระยะเวลาในการพิจารณาขอสินเชื่อนานกว่าสินเชื่อระยะสั้นและสินเชื่อระยะกลาง เพราะเป็นสินเชื่อที่มีระยะเวลาในการชำระหนี้นานหลายปี ซึ่งนอกจากจะมีระยะเวลาการกู้ยืมที่ยาวนานแล้ว ยังเป็นการขอสินเชื่อในวงเงินที่สูงกว่าปกติ
3. สินเชื่อแบ่งตามสินทรัพย์ค้ำประกัน
แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
- สินเชื่อแบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
เป็นสินเชื่อที่สามารถขอวงเงินได้จำกัด เป็นอีกหนึ่งประเภทสินเชื่อที่ใช้เวลาการพิจารณาอนุมัติไม่นาน โดยอาศัยความสามารถในการชำระหนี้และอาศัยคามน่าเชื่อถือของผู้กู้หรือผู้ขอสินเชื่อในการประกบการพิจารณา
- สินเชื่อแบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
ผู้กู้ต้องมีหลักประกันของผู้กู้สำหรับสินเชื่อประเภทนี้เพื่อชดเชยความเสียหายในอนาคต เช่น กรณีเกิดการผิดสัญญา ซึ่งสิ่งที่นิยมนำมาใช้ค้ำประกัน มีทั้ง พันธบัตร เงินฝากในบัญชี โฉนดที่ดิน ทองคำ ทะเบียนรถ เป็นต้น
เอกสารที่ใช้สำหรับการขอสินเชื่อ
เอกสารหลักฐานที่เราต้องเตรียมเพื่อประกอบการขอสินเชื่อนั้นขึ้นอยู่กับประเภทของสินเชิ่อนั้นๆ
1.เอกสารประจำตัว
เช่น
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า หรือใบมรณบัตร
- สำเนาหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ สกุล (ถ้ามี)
- กรณีนิติบุคคล อาจใช้สำเนาทะเบียนการค้า หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล
2. เอกสารเกี่ยวกับรายได้
เช่น
- ผู้มีรายได้ประจำ
- ใบรับรองเงินเดือน หรือหลักฐานการรับ/จ่ายเงินเดือนจากนายจ้าง
- สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร
- ผู้มีอาชีพอิสระ
- กรณีเป็นสัญญาจ้าง อาจใช้สำเนาสัญญาว่าจ้างและหลักฐานการจ่ายเงินค่าจ้าง
- กรณีเป็นแพทย์ ทนายความ ผู้สอบบัญชี วิศวกร สถาปนิก ควรแสดงใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้วย
- บัญชีเงินฝาก พร้อมใบแจ้งยอดบัญชี หรือสเตทเมนต์ (statement) ของบัญชีเงินฝากของตนเองหรือของกิจการย้อนหลังอย่างน้อย 6 เดือน
- หลักฐานรายได้หรือทรัพย์สินอื่นๆ เช่น ใบหุ้น พันธบัตรรัฐบาล บัญชีเงินฝากธนาคาร
- นิติบุคคล
- สำเนางบการเงินปีล่าสุด และย้อนหลังไม่น้อยกว่า 3 ปี
- สำเนาแสดงรายการภาษีเงินได้ประจำปี
- สำเนาเอกสารสิทธิในทรัพย์สินที่เสนอเป็นหลักประกัน
- แผนที่แสดงที่ตั้งสถานประกอบการ
3. เอกสารอื่น ๆ
เช่น
- สำเนาสัญญาจะซื้อจะขาย หรือสัญญามัดจำ
- สำเนาโฉนดที่ดิน หรือสำเนาหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์
- สัญญากู้เงิน และสัญญาจำนองจากสถาบันการเงินเดิม
- ในกรณีมีผู้กู้ร่วม จะต้องมีหลักฐานประจำตัว และหลักฐานรายได้ของผู้กู้ร่วม
- ในกรณีที่ขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจ สิ่งที่จำเป็นคือแผนธุรกิจ เช่น แผนธุรกิจของ SMEs แผนโครงการที่ต้องการดำเนินการ
การยื่นขอสินเชื่อนั้นจำเป็นต้องมีการใช้เอกสารที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเภท เราจึงจำเป็นต้องศึกษาหรือสอบถามรายละเอียดจากผู้ให้สินเชื่ออีกครั้งเพื่อความถูกต้อง ทั้งนี้อาจมีแบบฟอร์มอื่นๆ ที่แนบมาในการขอสินเชื่อ ซึ่งจำเป็นที่ต้องพิจารณาก่อนกรอกข้อมูลและเซ็นสัญญาในเอกสารนั้นๆ เช่น
- แบบคำยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เพื่อขอตรวจสอบประวัติเครดิตจากเครดิตบูโร แล้วนำมาวิเคราะห์การให้วงเงินสินเชื่อที่เหมาะสม
- แบบคำขออนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของผู้ให้สินเชื่อติดต่อ แนะนำสินค้าอื่น หรือให้ข้อมูลแก่ผู้อื่น ซึ่งเรามีสิทธิเลือกที่จะลงนามหรือไม่ก็ได้
- ใบคำขอประเภทอื่น เช่น คำขอมีบัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล หรือบริการแจ้งเตือน SMS
ที่มาจาก : MoneyGuru , ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย