Leasehold กับ Freehold คืออะไร? ต่างกันอย่างไร?

Author
by
At
August 29, 2022
Leasehold กับ Freehold คืออะไร? ต่างกันอย่างไร? Leasehold กับ Freehold คืออะไร? ต่างกันอย่างไร?

ใครที่กำลังมีความคิดอยากซื้อคอนโดมิเนียมย่านใจกลางเมือง หรือสนใจในด้านอสังหาริมทรัพย์ อาจจะคุ้นกับคำว่า "Leasehold" กับ "Freehold" กันบ้างแล้วใช่ไหมคะ? แล้ว 2 คำนี้มีความหมายว่าอย่างไร และต่างกันอย่างไร เราไปดูรายละเอียดกันเลยค่ะ

Leasehold คืออะไร?

Leasehold คือการเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ในระยะยาว โดยไม่ได้กรรมสิทธ์ นั้นหมายถึงว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาจะต้องคืนสิทธิ์ให้เจ้าของ หรือต่อสัญญาออกไปอีก การเช่าซื้อแบบนี้ส่วนใหญ่จะเหมาะกับกลุ่มนักลงทุน เนื่องจากว่าราคาจะถูกกว่า ใช้เงินต้นทุนต่ำกว่า แต่จะต้องยอมรับความเสี่ยงต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น หากเกิดการชำรุดเสียหายจากภัยพิบัติ หรือถูกเวนคืนที่ในช่วงที่ยังติดสัญญาเช่าอยู่ คุณจะไม่มีสิทธิ์ได้ค่าชดเชยในส่วนของที่ดินและอาคาร

Freehold คืออะไร?

Freehold คือการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์แบบขายขาด โดยผู้ซื้อจะได้กรรมสิทธิ์ไปครอบครองอย่างเต็มตัว และสามารถปรับปรุง ซ่อมแซม ตกแต่งห้อง เพื่อลงทุนทำกำไรต่อได้ และถ้าหากเกิดภัยพิบัติต่างๆ หรือถูกเวนคืนขายที่ดิน ผู้ซื้อจะได้รับค่าชดเชยตามสัดส่วนในโฉนดที่ดิน รวมถึงยังมีโอกาสกู้กับธนาคารได้วงเงินสูงสุด 100% อีกด้วย และถึงแม้เขาจะบอกกันว่าต้องใช้เงินลงทุนในการซื้อสูง แต่อย่าลืมว่าผู้ซื้อแบบ Freehold มีอิสระในการทำกำไรได้ในหลายรูปแบบ ทั้งให้เช่า หรือขายต่อก็สามารถทำได้ ที่สำคัญยังกลายเป็นมรดกตกทอดให้แก่ลูกหลานได้อีกด้วย

ระหว่าง Leasehold กับ Freehold เหมาะกับใคร

หากให้เลือกว่าแบบไหนดีกว่ากันนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการและจุดประสงค์ในการลงทุนของแต่ละบุคคล

หากคุณต้องการทำกำไรเยอะๆ ในระยะยาว Freehold อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีมากกว่า เพราะการซื้อขายขาด ไม่ว่าจะอีกกี่สิบปี อสังหาริมทรัพย์นั้นก็ยังเป็นของคุณ ซึ่งคุณสามารถหาวิธีทำกำไรเพิ่มได้อีกหลากหลาย ทั้งขายต่อและปล่อยเช่า ที่สำคัญกี่ปีผ่านไปที่ดินมีแต่จะราคาสูงขึ้น ยิ่งเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจหรือเขตเมืองชั้นใน เช่น สาทร สีลม รับรองเลยว่าซื้อขาดวันนี้ไป เพียงไม่กี่ปีราคาก็เติบโตไม่มีหยุด

สำหรับ Leasehold เหมาะกับคนที่ต้องการจำกัดงบประมาณในกระเป๋า และเน้นมองหาคอนโดมิเนียมทำเลใจกลางเมือง เดินทางง่าย ต้องการไว้อยู่เองในช่วงเวลาหนึ่ง ไม่ต้องการส่งต่อเป็นมรดกให้กับคนอื่นๆ หรือไม่ต้องการสร้างภาระให้กับลูกหลาน อีกทั้งยังผ่อนได้ในราคาที่ต่ำกว่า

ข้อดี และข้อเสียของ Leasehold

ข้อดี

  • ราคาถูกกว่าคอนโดมิเนียม Freehold อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าในทำเล และระดับของโครงการที่ใกล้เคียงกัน คอนโดมิเนียมแบบ Leasehold จะมีราคาที่ต่ำกว่าคอนโดฯ Freehold ประมาณ 30-40 %
  • ทำเลส่วนใหญ่อยู่ใจกลางเมืองราคาแพง เดินทางสะดวกอยู่ในแหล่ง CBD (Central Business District) ของกรุงเทพมหานคร เช่น ราชดำริ, หลังสวน, เยาวราช เป็นต้น
  • ชาวต่างชาติสามารถถือครองได้ไม่จำกัดสัดส่วน ทำให้มีสภาพคล่องในการเปลี่ยนมือมากขึ้น
  • มักมีการบริหารจากผู้บริหารโครงการมืออาชีพ ไม่ต้องกังวลเรื่องอาคารทรุดโทรมเนื่องจากเจ้าของอสังหาฯนั้นๆจะมีการดูแลสมบัติของตัวเอง เมื่อสิ้นสุดสัญญา ก็ย่อมต้องการอาคารที่ไม่ทรุดโทรมนั่นเองค่ะ

ข้อเสีย

  • ไม่ได้กรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของ ได้เพียงสิทธิ์เช่า โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 30 ปี และสามารถต่อสัญญาได้อีก 30 ปี หากเกิดการชำรุดเสียหายจากภัยพิบัติ หรือถูกเวนคืนที่ดินจะไม่ได้ค่าชดเชยในส่วนของที่ดินและอาคาร
  • เมื่อหมดระยะเวลาสัญญาแล้ว ถือว่าไม่มีสิทธิ์ในอสังหาฯนี้แล้วค่ะ ไม่สามารถขายได้อีกต่อไป 

ข้อดี และข้อเสียของ Freehold

ข้อดี

  • มีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของ สามารถถือครองได้ไม่มีระยะเวลากำหนด สามารถปรับปรุง ซ่อมแซม ตกแต่งห้องได้ จะเก็บไว้เป็นสมบัติส่งต่อให้ลูก หลานก็ย่อมได้ค่ะ
  • มูลค่าคอนโดฯมีโอกาสปรับสูงขึ้นตามราคาที่ดินที่สูงขึ้นในอนาคต จึงสามารถทำผลตอบแทนได้จากทั้งค่าเช่า และ Capital Gain หรืออยู่เองก็สามารถขายเพื่อได้เงินกลับมาไม่มีระยะเวลากำหนด
  • มีโอกาสกู้กับธนาคารได้วงเงินสูงสุด 100% หากคอนโดเกิดภัยพิบัติต่างๆ หรือถูกเวนคืนขายที่ดิน ผู้ซื้อก็ได้ค่าชดเชยตามสัดส่วนในโฉนดที่ดินค่ะ

ข้อเสีย

  • อาจเกิดความทรุดโทรม เนื่องจากเป็นการขายขาดถ้าซื้อกับผู้พัฒนาโครงการที่ไม่น่าเชื่อถืออาจจะมีปัญหาตามมาภายหลัง การบริหารจัดการอาคารขึ้นอยู่กับคณะกรรมการลูกบ้าน ถ้าคนที่ไม่ใช้พื้นที่ส่วนกลางอาจจะลงความเห็นว่าไม่จำเป็นต้องดูแล ทำให้เกิดความทรุดโทรมขึ้นได้
  • ชาวต่างชาติสามารถถือครองได้ไม่เกิน 49 % ของจำนวนห้องชุดทั้งหมดในอาคาร

หากมีคำถาม หรือข้อสงสัยอื่นๆเพิ่มเติม เกี่ยวกับการฝากซื้อฝากขาย หรือซื้อขายเช่าอสังหาริมทรัพย์ สามารถติดต่อสอบถามทีม PropertyScout โดย คลิกที่นี่ ทางทีมงานยินดีช่วยเหลือและตอบทุกข้อสงสัยค่ะ