แชร์ทิปส์ ‘ซื้อบ้านต่างจังหวัด’ มีอะไรที่ต้องเตรียมบ้าง?
สำหรับใครที่กำลัง อยากย้ายออกจากเมืองหลวง หรือ กำลังวางแผนไว้ว่าปีนี้จะซื้อบ้านต่างจังหวัดสักหลัง เพื่อรับอากาศสดชื่น บรรยากาศชิล ๆ เพื่อใช้เป็นบ้านพักตากอากาศ หรือจะไปลงหลักปักฐาน รวมถึงคนที่อยู่ในต่างจังหวัดอยู่แล้ว ไหนจะเรื่อง งบประมาณในการซื้อที่ต้องคำนวณให้ดี รวมถึง การยื่นขอสินเชื่ออีกด้วย ทำให้การซื้อบ้านต่างจังหวัดสักหลังต้องมีการเตรียมความพร้อม วางแผนกันให้ดี วันนี้ PropertyScout นำเทคนิคการวางแผนให้ดีก่อนซื้อบ้านต่างจังหวัดมาแนะนำกัน
ซื้อบ้านต่างจังหวัด ดีอย่างไร?
ก่อนจะไปดูกันในเรื่องการการเตรียมตัว สำหรับใครที่วางแผนจะซื้อบ้านต่างจังหวัดเพื่ออยู่อาศัย ไม่ว่าจะขยายครอบครัว ต้องการพื้นที่เพิ่ม หรือใช้ชีวิตในบั้นปลาย อย่าลืมสำรวจความต้องการแท้จริงของตนเอง ว่าทำไมถึงอยากเลือกซื้อบ้านต่างจังหวัด ลองมาดูกันว่าบ้านต่างจังหวัดน่าซื้อเพราะอะไร แท้จริงบ้านต่างจังหวัดเหมาะกับใครบ้าง
มีงบประมาณน้อย
หากเราเป็นคนหนึ่งที่มีงบประมาณไม่เยอะมากพอที่จะซื้อบ้านเดี่ยวในพื้นที่กรุงเทพ ฯ บ้านต่างจังหวัดอาจเป็นอีกทางเลือกของเรา เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับบ้านแบบเดียวกัน ราคาบ้านต่างจังหวัดมักจะถูกกว่าบ้านในกรุงเทพ ฯ เนื่องจากที่ดินอาจมีราคาถูกกว่า ทำให้ต้นทุนบางอย่างมีราคาถูกกว่าบ้านในกรุงเทพฯ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องดูทำเลในแต่ละที่ด้วยว่าคือที่ไหนด้วย
คนที่ชอบพื้นที่กว้าง
ใครที่ชอบเนื้อที่บ้านเยอะ ๆ เพื่อจะทำประโยชน์อื่นเพิ่ม บ้านต่างจังหวัดคือไอเดียที่น่าสนใจ เพราะโดยปกติแล้วบ้านในราคาเดียวกันของกรุงเทพฯ และบ้านต่างจังหวัด บ้านในต่างจังหวัดจะได้พื้นที่กว้างมากกว่า เนื่องจากที่ดินมีราคาถูกกว่า ทำให้เราได้เนื้อที่เพิ่มไปทำอย่างอื่นได้อีกมากมาย หรือสังเกตได้ง่าย เราจะเห็นบ้านต่างจังหวัดขายแบบบ้านชั้นเดียวค่อนข้างเยอะ เพราะมีเนื้อที่ให้เราเยอะเช่นเดียวกัน ฉะนั้นใครที่อยากสร้างบ้านในสวนสวยๆ หรือออกแบบมุมโปรดต่างๆ ก็สามารถทำได้ง่ายๆ ตามใจชอบได้มากกว่า
คนที่ชอบบรรยากาศสบาย
ใครที่ไม่ชอบความแออัดในเมือง และชอบบรรยากาศสบายๆ บ้านต่างจังหวัดน่าจะเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ตอบความต้องการนี้ได้ เพราะต่างจังหวัดมีวิถีชีวิตที่ไม่เร่งรีบเท่ากับกรุงเทพ ฯ แม้ตามหัวเมืองใหญ่จะมีรถติดและชีวิตเร่งรีบบ้าง แต่รับรองไม่เร่งรีบตลอดเวลาเท่ากรุงเทพ ฯ แน่นอน แถมยังมีบรรยากาศเงียบสงบกว่าในกรุงเทพ ฯ อีกด้วย เรียกได้ว่าใครที่ชอบบรรยากาศแบบสโลว์ไลฟ์หน่อย ๆ น่าจะตอบโจทย์ได้ดี
คนที่ไม่ชอบรถติด
ใครที่เบื่อรถติดในกรุงเทพฯ เรียกว่าติดตลอดเวลา ใครที่ไม่ชอบบรรยากาศแบบนั้น บ้านต่างจังหวัดอาจจะเป็นคำตอบของเรา เพราะด้วยความที่ต่างจังหวัดชีวิตไม่เร่งรีบเท่ากับในกรุงเทพฯ จึงทำให้รถไม่ติดมากเท่า อีกทั้งประชากรยังไม่หนาแน่นเท่ากรุงเทพฯ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในต่างจังหวัดอาจยังมีไม่มาก ให้คนออกไปจับจ่ายใช้สอยได้ตลอด ทำให้รถราอาจไม่ขวักไขว่เท่า เรียกได้ว่าถ้าเราอยู่ต่างจังหวัดอาจไม่ต้องตื่นแต่เช้ามืด ต้องไปแต่งตัวในรถ หรือเผื่อเวลาเยอะ ๆ ในการนัดคนหรือไปทำงานเลย
ยิ่งใครที่ชอบบ้านใกล้โรงพยาบาล เพราะรู้สึกอุ่นใจ หากเจ็บป่วยเมื่อไรเราได้ไปโรงพยาบาลได้สะดวก รถไม่ติดนั่นเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องดูด้วยว่าบ้านต่างจังหวัดของเรานั่นอยู่ไกลโรงพยาบาลหรือทางลำบากหรือเปล่า เช่น หากเราเลือกบ้านอยู่บนดอย อยู่ในภูเขาลึก หรือห่างชุมชนเกินไปก็จะทำให้ไกลโรงพยาบาลและใช้เวลานานได้เช่นกัน กว่าจะมาถึงโรงพยาบาลที่อาจอยู่ในเมือง
คนที่ชอบใช้ชีวิตที่มีค่าครองชีพไม่สูง
ใครที่ไม่อยากเดินออกจากบ้านก็ต้องจ่ายเงินจ่ายทองเป็นค่าครองชีพราคาแพง บ้านต่างจังหวัดน่าจะช่วยประหยัดค่าครองชีพให้เราได้ ซึ่งเราคงจะเห็นกันได้บ่อยๆว่าค่าข้าว ค่าอาหาร หรือค่าวัตถุดิบอย่างเช่นทำอาหารสดต่างๆ ถูกมากกว่า เนื่องจากวัตถุดิบเหล่านี้มีราคาถูกกว่า รวมถึงค่าบริการรถโดยสารในต่างจังหวัดก็ไม่แพงด้วย เรียกได้ว่าใครต้องการค่าครองชีพถูกๆ บ้านต่างจังหวัดตอบโจทย์มาก
คนที่ต้องการขยายครอบครัวใหญ่ขึ้น
หากวางแผนว่าจะขยายครอบครัว มีลูก หรือเลี้ยงสัตว์การหาบ้านเดี่ยวกลางเมืองกรุงเทพฯ คงหาได้ยากมาก ๆ แถมยังมีราคาสูง แต่ถ้าเราขยับออกไปนอกเมืองหรือบ้านในต่างจังหวัดรอบๆ เราจะสามารถหาซื้อบ้านเดี่ยวได้ง่ายขึ้น แถมยังอาจได้บ้านที่มีพื้นที่ในการจัดสวนหรือจัดเป็นมุมต่างๆ เพิ่มขึ้นในราคาที่เรารับได้ด้วย
ไม่เหมาะกับคนที่ไม่มีรถส่วนตัว
ใครที่ขับรถไม่เป็น หรือที่บ้านไม่มีรถ การอยู่บ้านต่างจังหวัดอาจจะลำบากหน่อย เนื่องจากในต่างจังหวัดคนนิยมเดินทางด้วยรถส่วนตัว และบริการรถสาธารณะไม่มากเท่าในกรุงเทพ ฯ ฉะนั้นหากจะเดินทางไปไหน แล้วจะหาแท็กซี่ รถเมล์ หรือรถไฟฟ้าอาจจะเป็นเรื่องยากเกินไป
ไม่เหมาะกับคนชอบชีวิตเมือง
ใครที่ชอบชีวิตเมือง ใช้ชีวิตแบบไนท์ไลฟ์บ้านในกรุงเทพฯ อาจจะถูกใจมากกว่า เพราะต่างจังหวัดอาจไม่มีแสงสีเท่ากับในกรุงเทพ ฯ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ไม่มากเท่ากรุงเทพ ฯ ยกเว้นจะเป็นหัวเมืองใหญ่ ๆ อย่างเชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นต้น ฉะนั้นหากเราชอบชีวิตในแบบคนเมือง อาจไม่เหมาะกับต่างจังหวัด
เตรียมความพร้อม 'ซื้อบ้านต่างจังหวัด'
สำรวจทำเลที่ต้องการ
อย่างแรกที่เราต้องเตรียมเลยก็คือ ทำเลที่จะอยู่ในต่างจังหวัด โดยอาจเลือกจากความต้องการที่จะอยู่ สภาพแวดล้อม สถานที่ทำงาน การเดินทาง รวมถึงไลฟ์สไตล์ของเรา ซึ่งในต่างจังหวัด เราอาจตั้งทำเลกว้าง ๆ ได้มากกว่าในกรุงเทพ เพราะการจราจรในต่างจังหวัดมักไม่ติดเท่ากับในกรุงเทพและปริมณฑล แต่แนะนำว่าควรรถส่วนตัว จะได้เดินทางได้อย่างสะดวก เนื่องจากในต่างจังหวัดคนนิยมเดินทางด้วยรถส่วนตัว อีกทั้งบริการรถสาธารณะก็ไม่มากเท่าในกรุงเทพ เพราะฉะนั้นหากจะเดินทางไปไหน แล้วจะหาแท็กซี่ รถเมล์ อาจจะยากสักหน่อย
สำรวจงบประมาณของเรา
งบประมาณในกระเป๋าคือเรื่องสำคัญที่ห้ามลืมวางแผนซื้อบ้านต่างจังหวัด ซึ่งเราควรดูว่าเรามีงบประมาณเท่าไร แล้วจะซื้อเงินผ่อนหรือเงินสด หากเป็นเงินผ่อน แม้เราจะไม่ต้องจ่ายทั้งหมดในครั้งเดียว แต่เราต้องคำนวณถึงวงเงินกู้และเงินผ่อน รวมถึงเงินต้นและดอกเบี้ยด้วย
ลองซ้อมผ่อน 6 เดือน
หากใครที่คิดจะกู้เงินซื้อบ้าน อีกหนึ่งการวางแผนที่หลายคนชอบลืมก็คือการวางแผนในการผ่อนค่าบ้าน แนะนำว่าให้เราลองไปประเมินสินเชื่อและดอกเบี้ยกันก่อนว่าเราจะสามารถกู้ได้เท่าไร และควรผ่อนเท่าไร โดยสามารถเครื่องมือประเมินสินเชื่อของแต่ละธนาคาร
เมื่อได้แล้ว แนะนำว่าอยากให้ทดลองซ้อมผ่อนสักประมาณ 6 เดือน หรืออย่างน้อย 3 เดือนก็ได้
ตัวอย่าง ยื่นกู้กับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โดยมีรายได้ที่ 30,000 บาทต่อเดือน ต้องการกู้ระยะเวลา 40 ปี มีดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.25% และได้วงเงินกู้ได้ 100% ของราคาประเมิน หากบ้านราคา 2,000,000 บาท จะต้องชำระค่างวดที่ประมาณ 7,451 บาทต่อเดือน ดังนั้นเราก็ลองนำเงิน 7,451 บาท เข้าบัญชีเงินฝากประจำไปสัก 3-6 เดือนดูว่าถ้าต้องผ่อนจริง รวมกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในชีวิตประจำวันของเราแล้วจะทำได้หรือไม่ |
วางแผนรายจ่ายภาพรวมให้ดี
ซื้อบ้านต่างจังหวัด ไม่ได้มีแค่ค่าตัวบ้าน แต่ยังมีค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ อีกด้วย เช่น เสียค่าธรรมเนียมยื่นกู้, ค่าธรรมเนียมการโอน , ค่าสำรวจและประเมินราคาหลักประกัน , ค่าอากรแสตมป์ , ค่าจดจำนอง , ค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย , ค่าส่วนกลาง , ค่าตกแต่งบ้าน เป็นต้น จึงอยากแนะนำว่าให้สอบถามและศึกษากับธนาคารที่จะยื่นกู้ก่อนว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้วางแผนหาเงินในส่วนมาไว้ก่อน
เตรียมเอกสารขอยื่นกู้เงินซื้อบ้านให้พร้อม
การเตรียมเอกสารให้พร้อมก่อนที่เรายื่นกู้เงินซื้อบ้านนั้นจะช่วยให้การพิจารณาอนุมัติเงินกู้รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งเอกสารหลักๆ ที่ต้องเตรียมให้พร้อมในการยื่นกู้ซื้อบ้านต่างจังหวัดก็เหมือนการยื่นกู้ปกติครับ ประกอบไปด้วย
กลุ่มเอกสารส่วนบุคคล
เช่น บัตรประจำตัวประชาชน / บัตรข้าราชการ / บัตรรัฐวิสาหกิจ, สำเนาทะเบียนสมรส / ใบหย่า / ใบมรณะบัตร (ถ้ามี), สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ – สกุล (ถ้ามี), สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนคู่สมรส (ถ้ามี)
กลุ่มเอกสารทางการเงิน
หากเป็นพนักงานประจำ ก็จะต้องมีใบรับรองเงินเดือน, สลิปเงินเดือนหรือหลักฐานการรับเงินเดือนย้อนหลัง 3 เดือน , สำเนาบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 6 เดือน แต่ถ้าหากเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระก็จะต้องมีสำเนาบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 12 เดือน / หลักฐานแสดงฐานะการเงินอื่นๆ (พร้อมเอกสารฉบับจริง), สำเนาทะเบียนการค้า / ทะเบียนบริษัท / ห้างหุ้นส่วน , หลักฐานการเสียภาษีเงินได้ , รูปถ่ายกิจการ , สำเนาใบประกอบวิชาชีพ
กลุ่มเอกสารหลักประกัน
จะประกอบไปด้วยสำเนาโฉนดที่ดิน / นส.3ก ทุกหน้า , หลักฐานการยื่นขอใบอนุญาตปลูกสร้าง / สำเนาใบอนุญาตปลูกสร้าง , แบบแปลน และใบประมาณการปลูกสร้าง / สัญญาว่าจ้างก่อสร้าง
เช็คสินเชื่อและเลือกธนาคารที่ต้องการ
ต้องยอมรับว่าช่วงนี้หลายคนก็กลัวว่ากู้ซื้อบ้านจะยาก เพราะแต่ละธนาคารต้องพิจารณากันมากขึ้น แต่วิธีการหาสินเชื่อที่เหมาะกับเรานั้นแนะนำว่าให้นำข้อมูลของแต่ละสินเชื่อของแต่ละธนาคารมาเทียบกันก่อนยื่นกู้ ทั้งวงเงินกู้ ระยะเวลาในการผ่อน อัตราดอกเบี้ย และเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อหาสินเชื่อไหนที่ตอบโจทย์ตรงไลฟ์สไตล์ และความสามารถในการผ่อนของเรา
สรุปส่งท้าย
คงพอได้คำตอบกันแล้วว่า เราเหมาะกับบ้านต่างจังหวัดหรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ ก็มองหาบ้านต่างจังหวัด โครงการจัดสรรดี ๆ กันเลย แล้วก็อย่าลืมตรวจเช็คความพร้อมของตัวเองในด้านต่าง ๆ ที่ได้แนะนำกันไปด้วย ไว้คราวหน้า PropertyScout จะนำเรื่องเกี่ยวกับการอยู่อาศัยและการลงทุนในต่างจังหวัดมาแชร์ให้ฟังกันอีกแน่นอน
หาบ้านต่างจังหวัด สวย คุณภาพดี ตอบโจทย์ทุกรูปแบบการพักอาศัยได้ที่ PropertyScout คลิกเลย