ถมที่ดินอย่างไรให้ถูกกฎหมาย เรื่องที่เจ้าของที่ดินต้องรู้!
การถมที่ดิน ถือเป็นสิ่งที่เจ้าของที่ดินควรต้องรู้เป็นอันดับต้น ๆ ก่อนจะสร้างบ้านใหม่ เนื่องว่าเป็นรากฐานที่สร้างความมั่นคงให้กับบ้าน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะมีทั้งเรื่องกฎหมาย ประวัติที่ดิน และผู้รับเหมาที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นเจ้าของที่ดินจึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจก่อนที่จะทำการถมที่ดิน เพื่อส้รางบ้านหรืออาคารรูปแบบใด ๆ ก็ตาม
ข้อควรรู้ก่อนถมที่ดิน
ทำความเข้าใจข้อกฎหมายก่อนถมที่ดินใหม่
ก่อนคิดจะปลูกบ้านบนที่ดินของตนเอง สิ่งแรกที่จำเป็นจะต้องศึกษาก็คือเรื่องกฎหมายสำหรับการถมที่ดิน ซึ่งถือเป็นส่วนประกอบหลักในการสร้างบ้าน หากไม่ทำการศึกษาอาจทำให้การถมที่ดินส่งผลกระทบไปสู่ที่ดินข้างเคียงของผู้อื่นให้เสียหายได้
ดังนั้น การถมที่ดินจึงมีข้อบังคับให้อยู่ภายใต้ พรบ.ขุดดินและถมดิน พ.ศ. 2543 โดยมีประเด็นหลักที่ต้องดูอยู่ด้วยกันอยู่ 3 ข้อ ดังนี้
- หากเจ้าของที่ดินจำเป็นต้องทำการขุดดินโดยมีความลึกจากระดับพื้นดินเกิน 3 เมตร จะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่พนักงานท้องถิ่น (ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร หรือ นายกเทศมนตรี สำหรับในเขตเทศบาล) และทำการขุดตามแบบที่เจ้าหน้าที่พนักงานท้องถิ่นกำหนด
- หากพื้นที่ที่ขุดดินมีความลึกจากระดับพื้นดินไม่เกิน 3 เมตร แต่อยู่ใกล้แนวเขตที่ดินของผู้อื่นในระยะน้อยกว่าสองเท่าของความลึกของบ่อดินที่จะขุด ต้องจัดการป้องกันการพังทลายของดินตามวิสัยที่ควรกระทำ เพื่อป้องกันดินทลายลงสู่พื้นที่ข้างเคียง
- การถมที่ดินสูงกว่าพื้นที่ใกล้เคียง หากจะทำการถมดินโดยมีความสูงของเนินดินเกินกว่าระดับที่ดินต่างเจ้าของที่อยู่ใกล้เคียง และมีพื้นที่ของเนินดินไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร ต้องจัดให้มีการระบายน้ำเพียงพอที่จะไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่เจ้าของที่ดินที่อยู่ข้างเคียง
- ความสูงของการถมดินใกล้แนวเขตผู้อื่น ส่วนฐานของเนินดินจะต้องห่างจากแนวเขตที่ดินของบุคคลอื่นหรือที่สาธารณะ เป็นระยะไม่น้อยกว่าความสูงของเนินดินที่จะถมดิน เช่น ถมดินสูง 2 เมตร ต้องร่นเข้ามา 2 เมตร หรือ ถมสูง 5 เมตร ต้องร่นเข้ามา 5 เมตร แต่สามารถยกเว้นการถมเต็มพื้นที่ได้โดยการทำกำแพงกันดิน
แต่บางคนมีที่ดินเก็บไว้เป็นเวลานานแล้ว ก็ต้องกลับมาตรวจเช็กที่ดินของตัวเองกันใหม่ก่อนจะถมที่ดินหรือสร้างบ้าน เนื่องจากการเอาที่ดินเก่าเก็บมาสร้างบ้านนั้นจะมีปัจจัยของระยะเวลามาเกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมาที่ดินของคุณอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม การพังทลายของดินมาก่อน ดังนั้นก่อนที่จะถมดินก็ต้องมาทำความรู้จักที่ดินของตัวเองใหม่
เช็คระดับดินถนนหน้าบ้าน และพื้นที่ดินบริเวณข้างเคียง
เพื่อจะได้ทำการถมดินให้สูงกว่า โดยส่วนใหญ่จะมักจะถมให้สูงกว่าถนนหน้าบ้านประมาณ 50-80 ซม. แต่จะอยู่ระดับที่ใกล้เคียงกับที่ดินเพื่อนบ้าน จะไม่นิยมถมที่ดินให้สูงเกินกว่านี้ เนื่องจากพื้นที่ระหว่างที่ดินของบ้านกับถนนสาธารณะจะมีความลาดชันมากเกินไป และอาจเกิดปัญหาน้ำท่วมที่ดินข้างเคียง โดยเฉพาะที่สำคัญการถมที่ดินสูงกว่า 80 ซม. ก็มีค่าใช้จ่ายสูง และอาจเกิดแรงดันจนรั้วบ้านเสียหายได้
อย่าลืมเช็คประวัติการเกิดน้ำท่วม
สิ่งแรกที่ควรจะตรวจสอบเลยก็คือประวัติน้ำท่วมบนพื้นที่โดยพิจารณาจากการย้อนไปดูข่าวเก่า หรือสอบถามจากคนพื้นที่ เพื่อเช็กระดับสูงสุดที่น้ำเคยท่วมถึง รวมไปถึงเช็กระดับน้ำในท่อระบายน้ำสาธารณะ โดยติดต่อหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ เพื่อจะประมาณการถมดินให้สูงกว่าระดับดังกล่าว เพื่อป้องกันอุทกภัย และให้น้ำระบายออกมาจากพื้นที่ดินในบ้านได้
ถมที่ดินอย่าลืมพิจารณาประเภทของดิน สนใจอ่านบทความเพิ่มเติม คลิก
เพื่อนบ้านถมดินสูงเกิน ทำอย่างไร?
หากเจอสถานการณ์นี้ ให้แจ้งกับเจ้าของบ้านให้ทราบและตระหนักถึงข้อกำหนดทางกฎหมาย ซึ่งมีตราอยู่ใน พ.ร.บ. การขุดดินและถมดิน พ.ศ. 2543 และนอกจากนี้ยังมีเรื่องของ เทศบัญญัติ การผังเมือง และกฎหมายควบคุมอื่น ๆ และการทำแบบนั้นถือว่ามีความผิด
โดยให้ไปพูดคุยกับเจ้าของบ้านหรือเจ้าของที่ข้างเคียง เพื่อทำความเข้าใจกันเสียก่อน หากเจรจาไม่ได้ให้ไปขอให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้หยุดการขุดดินหรือถมดินนั้นได้
อย่าลืมเช็คราคาถมที่ดินแบบเบื้องต้น ป้องกันการถูกผู้รับเหมาโกง
เมื่อรู้ข้อกฎหมายการถมที่ดิน รู้ประวัติที่ดินของตนเอง ทีนี้ก็มาดูค่าใช้จ่ายในการถมที่ดินกันบ้าง ซึ่งโดยทั่วไปการถมที่ดินนั้นจะมีราคาไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลาย ๆ อย่าง อาทิ ระยะทางในการขนส่ง ขนาดพื้นที่ สภาพที่ดิน เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก
ดังนั้น เจ้าของที่ดินที่อยากจะสร้างบ้านในราคาที่ประหยัด อยู่ในงบประมาณก็ควรเริ่มต้นศึกษาข้อมูลค่าใช้จ่ายตั้งแต่การถมที่ดินเลย เนื่องจากผู้รับเหมาส่วนใหญ่จะคิดราคาการถมที่ดินไม่เหมือนกัน บางรายคิดเป็นคันรถ บางรายคิดเป็นคิว แต่จะคิดราคาเหมารวมกับค่าบดอัด
ทั้งนี้ เจ้าของที่ดินสามารถเปรียบเทียบและคำนวณหาผู้รับเหมาที่ถูกที่สุดได้โดยการแปลงพื้นที่ดินจากตารางวาให้เป็นตารางเมตร โดยใช้สูตรดังนี้
ขนาดพื้นที่ดิน (ตารางวา) x 4 = พื้นที่ตารางเมตร |
ตัวอย่าง:
ที่ดิน 60 ตารางวา = 60x4 = 240 ตารางเมตร เมื่อได้ผลลัพธ์ที่เป็นที่ดินแบบตารางเมตรแล้วก็มาคำนวณความสูงของดินที่จะถม ดังนี้
ความสูงในการถมที่ดิน (เมตร) x พื้นที่ตารางเมตร = ปริมาณดินที่ต้องการใช้ (คิว) |
ต้องการถมที่ดินสูง 2 เมตร X 240 ตารางเมตร = ดิน 480 คิว โดยต้องเผื่อค่าบดอัดดินที่จะยุบตัวลงไปด้วยประมาณ 20-30%
ปริมาณดินที่ต้องการใช้ (คิว) x 30% = 480 x 30% = 480 + 144 = ต้องการใช้ดินสำหรับถมที่ดินประมาณ 624 คิว
เมื่อได้ตัวเลขออกมาแล้วจากนั้นให้ลองนำเอาตัวเลขที่ได้ตรงนี้ไปเปรียบเทียบกับราคาที่ผู้รับเหมาแจ้งมา ระหว่างการคิดราคาเป็นคันรถ (ขึ้นอยู่กับว่ารถบรรทุกดินได้กี่คิว) กับราคาที่คิดเป็นคิว (ดินถมทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 280-350 บาทต่อคิว) ว่าการคิดราคาแบบไหนจะถูกกว่ากัน
สรุปส่งท้าย
เมื่อรู้วิถีการถมดินที่ดินในเบื้องต้นแล้ว เมื่อถึงขั้นตอนการสร้างบ้านก็จะไม่ทำให้เกิดปัญหาภายหลัง แถมยังช่วยป้องกันดินทรุด ทำให้ประหยัดงบในการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านในอนาคตด้วย ดังนั้น PropertyScout แนะนำว่าก่อนจะสร้างบ้าน นอกจากการศึกษาโครงสร้างตัวบ้านและกฎหมายอาคารแล้ว เรื่องของที่ดินก็เป็นส่วนสำคัญมากที่ไม่ควรมองข้ามเพราะเป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับการสร้างบ้าน
PropertyScout แหล่งรวมอสังหา ฯ ที่ดีที่สุดในไทย
หาทรัพย์ที่ชอบ ในราคาที่ใช่ ง่าย ๆ แค่ปลายนิ้ว