‘บ้านทรุด’ ปัญหาหนักใจของคนมีบ้าน ป้องกันได้อย่างไร?
'บ้านทรุด' ถือเป็นปัญหาหนักใจของคนมีบ้าน เมื่ออยู่อาศัยไปนาน ๆ แน่นอนว่าบ้านต้องมีส่วนที่สึกหรอไปตามกาลเวลาครับ และปัญหาที่มักพบบ่อยที่สุดของบ้านที่มีระยะเวลายาวนาน หลัก ๆ ที่เจอกันคงหนีไม่พ้นบ้านทรุดครับ ในบทความนี้ PropertyScout จะมาแชร์วิธีป้องกันบ้านทรุดให้กับทุกคนกัน
บ้านทรุดเกิดจากอะไร?
'บ้านทรุด' คือการที่พื้นดินบริเวณรอบ ๆ บ้านเกิดการทรุดตัวตามระยะเวลาจนเกิดเป็นโพรงใต้คานคอดินหรือการที่รากฐานของตัวบ้านทรุดตัวจากหลายสาเหตุด้วยกัน อย่างเช่น น้ำหนักของตัวอาคาร , เสาเข็มรับน้ำหนักได้ไม่ดีพอ , การแตกหักของเสาเข็ม , การเคลื่อนตัวหรือการทรุดของดิน , ระดับน้ำใต้พื้นดิน เป็นต้น
สาเหตุดังกล่าวทำให้ตัวบ้านเกิดรอยแตกร้าว และในกรณีส่วนต่อเติมของบ้านที่ฝากอยู่ตัวบ้านการทรุดตัวจะทำให้ผนังแยกออกมาจากบ้านหลัก หรือบางหลังที่มีการฝากส่วนต่อเติมเข้ากับโครงสร้างบ้านหลัง อาจเกิดการรั้งตัวบ้านทำให้โครงสร้างของบ้านหลักเกิดความเสียหาย และเป็นอันตรายต่อผู้อยู่อาศัยได้ครับ
สังเกตยังไงว่าบ้านเริ่มทรุด?
- รอยร้าวบนตัวบ้าน
รอยร้าวในบ้านมีทั้งแบบอันตรายและแบบไม่อันตรายครับ หากเป็นรอยร้าวแตกลายงาของผิวปูนฉาบและสี ก็ยังพอวางใจได้ แต่ถ้ามีรอยร้าวขนาดใหญ่บนผนังหรือเสา หรือรอยร้าวในลักษณะบ้านทรุดไม่เท่ากัน จนผนังแยกตัวออกจากกันในแนวทแยงมุม แบบนี้เป็นสัญญาณอันตรายที่กำลังบ่งบอกว่าโครงสร้างของบ้านมีปัญหาและบ้านกำลังจะทรุดตัวลงครับ
- พบเจอโพรงที่พื้นดิน
หากเจอโพรงที่ใต้ดิน หรือโพรงใต้บ้านก็เป็นอีกสัญญาณที่บ่งบอกว่าพื้นดินรอบบ้านกำลังทรุดตัวครับ แต่จะกระทบกับตัวบ้านมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความมั่นคงของเสาเข็มนั่นเอง ปัญหาลักษณะนี้มักจะเป็นปัญหาของพื้นปูนที่ไม่มีเสาเข็มนั่นเอง
วิธีป้องกันบ้านทรุด มีอะไรบ้าง?
ระหว่างเลือกที่ดิน
- เช็คความเป็นมาของที่ดิน
คนซื้อบ้านหลายคนอาจจะไม่ได้สนใจว่าที่ดินแปลงนั้น ๆ ที่กำลังมีการสร้างโครงการ 'เคยเป็นที่อะไรมาก่อน' แต่เราก็ควรที่จะรู้เรื่องความเป็นมาของที่ดินไว้ครับ อาจจะลองไปถามกับทางเซลล์โครงการว่าที่ดินแปลงนี้เป็นอะไรมาก่อน อาจจะเคยเป็นโรงงาน บ่อตกปลา ที่นา หรืออื่นๆ ซึ่งการที่เรารู้ความเป็นมาของที่ดินนั้น ๆ ก็จะทำให้เราพอประเมินได้ว่าเมื่ออยู่ไปแล้วบ้านมีโอกาสทรุดตัวหรือไม่ หากเคยเป็นที่นา บ่อตกปลา หรือแหล่งน้ำต่าง ๆ ก็มีโอกาสที่บ้านจะทรุดได้ครับ
- ที่ดินถูกไปนานแค่ไหน?
อีกหนึ่งคำถามที่ต้องหาคำตอบให้ได้ก่อนตัดสินใจซื้อบ้านคือ ถมที่ตรงนี้นานหรือยัง? อย่างที่บอกไปว่าที่ดินบางแปลงอาจจะเคยเป็นที่นา บ่อตกปลา หรือแหล่งน้ำต่าง ๆ ทางโครงการอาจไปซื้อที่มาราคาไม่แพง หรือรีบอยากสร้างบ้านขาย ก็เลยเร่งกระบวนการถมที่เพื่อสร้างโครงการ เมื่อเป็นแบบนี้แล้วก็มีโอกาสสูงที่ปัญหาบ้านทรุดหรือบ้านร้าวจะตามมาอย่างแน่นอนครับ
ดังนั้นคนจะซื้อบ้านอย่างเราก็ต้องไปสืบหาข้อมูลมาให้ดีก่อนจะตัดสินใจซื้อครับ หากถามเซลล์หรือถามเจ้าหน้าที่โครงการแล้วไม่ได้คำตอบจริง ๆ แนะนำให้ถามกับคนในพื้นที่ละแวกนั้นเลยครับ อย่างเช่น พ่อค้าแม่ค้า คนในชุมชน หรือวินมอเตอร์ไซต์ พวกเขาเหล่านั้นจะรู้ดีว่าที่ดินแปลงนั้น ๆ มีความเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง
สำหรับระยะเวลาที่เหมาะสมของการถมที่ดินเพื่อก่อสร้างบ้านหรือโครงการจัดสรร ควรอยู่ที่ประมาณประมาณ 5 ปีขึ้นไป เพื่อให้ดินอัดแน่น ลดอัตราการทรุดตัว แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพดินในแต่ละพื้นที่ด้วยนะครับ
- ลงเสาเข็มบ้านจุดไหนบ้าง
เชื่อว่าหลาย ๆ คนโดยเฉพาะมือใหม่ที่กำลังจะตัดสินใจซื้อบ้านครั้งแรก อาจจะลืมประเด็นนี้ไปครับ ซึ่งปกติแล้วบ้านทุกหลังจะลงเสาเข็มตัวบ้านให้ แต่ไม่ใช่ทุกหลังที่จะลงเสาเข็มในที่จอดรถ หรือหลังบ้านให้ด้วย ดังนั้นคนซื้อบ้านต้องสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมให้ชัวร์ก่อนซื้อบ้านครับ
คนซื้อบ้านส่วนมากมักจะต่อเติมบ้าน ไม่มากก็น้อยครับ ซึ่งการต่อเติมอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้บ้านทรุด เพราะโครงสร้างต้องรับน้ำหนักเกินมาตรฐาน สำหรับบ้านที่ลงเสาเข็มทั่วทั้งหลัง ทั้งหลังบ้านและหน้าบ้าน มีโอกาสทรุดน้อยกว่าบ้านที่ไม่ได้ลงเสาเข็มทั่วบ้านครับ ดังนั้นอย่าลืมตรวจสอบข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อบ้านนะครับ
สิ่งที่ต้องทำหลังซื้อที่ดิน
- ดีดบ้านเพื่อปรับฐานราก
ในกรณีที่พื้นดินทรุดตัวหนักหรือฐานรากเสียหายจนต้องเกินซ่อมแซม วิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาบ้านทรุด ได้แบบไม่ต้องทุบทิ้ง คือ การดีดบ้าน โดยปกติแล้วบ้านจะถูกตัดออกจากฐานรากเดิม แล้วยกขึ้นจนลอยตัวเพื่อรื้อฐานรากใหม่ ก่อนจะประกบตัวบ้านให้ติดกับฐานรากใหม่ ซึ่งวิธีนี้ต้องดำเนินการโดยบริษัทผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นจึงจะปลอดภัยครับ
- ทำแผงป้องกันดินไหล
ถ้าโพรงใต้บ้านมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีดินไหลลงไป ปัญหานี้แก้ไขได้โดยการที่เราสามารถอุดปิดด้วยแผ่นพื้นคอนกรีต แผ่นพื้นสำเร็จ แผ่นโฟม หรือแผ่น Metal Sheet ผิวเรียบ โดยวิธีการปรับแก้เริ่มขุดดินโดยรอบโพรงให้ลึกกว่าดินใต้ตัวบ้าน จากนั้นนำแผ่นวัสดุมาเสียบในดินให้แน่น (ลึกประมาณ 50-80 เซนติเมตร) อาจก่ออิฐปิดทับอีกชั้น เพื่อกันดินจากด้านนอกไหลเข้าไปในโพรงครับ
- เติมดินและทราย
วิธีนี้ใช้ได้ดีกับโพรงใหญ่ๆ ที่เพิ่งเริ่มทรุดตัว โดยมักจะปิดโพรงด้วยการเติมดินหรือทราย โดยขุดรอบๆ รอยแยกให้เห็นแนวโพรง แล้วอัดดินหรือฉีดน้ำไล่ทรายเข้าไป เสร็จแล้วถมดินรอบบ้านให้สูงขึ้นจนเลยโพรงใต้บ้าน แต่การอัดดินต้องระวังเรื่องการกระทบระบบท่อต่างๆ ใต้อาคารและการเพิ่มน้ำหนักให้โครงสร้างบ้านด้วยครับ
- การซ่อมรอยต่อระหว่างผนัง
ในกรณีที่ไม่พบโพรงใต้ดิน แต่ตัวบ้านเริ่มมีรอยแยกระหว่างผนังบ้าน วิธีส่วนใหญ่ที่สามารถซ่อมแซมได้ชั่วคราวคือการนำเอาปูนทรายไปอุดบริเวณรอยร้าว ซึ่งถ้าเป็นการแก้ไขในระยะยาว แนะนำให้ตัดรอยต่อของผนังทั้งแนวให้แยกขาดออกจากกันทั้งด้านในและด้านนอก เพื่อป้องกันการดึงโครงสร้างหลักให้ทรุดตัว หลังจากนั้นให้อุดรอยต่อด้วยวัสดุที่มีความยืดหยุ่นสูงแทน
สรุปส่งท้าย
ทั้งหมดที่ได้กล่าวไปในบทความนี้เป็นเพียงแค่วิธีเริ่มต้นที่จะสามารถป้องกันเรื่องบ้านทรุดได้ครับ แต่อย่างไรก็ตาม PropertyScout แนะนำให้ติดต่อช่างผู้ชำนาญงานจะดีที่สุดครับ และหากเจอปัญหาควรรีบทำโดยเร็วที่สุด ก่อนปัญหาการทรุดตัวจะบานปลายจนเกินแก้ไข เพราะการซ่อมบ้านทรุดเฉพาะจุดที่มีปัญหา มีราคาและค่าแรงถูกกว่าการรื้อฐานบ้านใหม่ทั้งหลังอย่างแน่นอนครับ
PropertyScout แหล่งรวมอสังหา ฯ ที่ดีที่สุดในประเทศไทย
หาทรัพย์ที่ชอบ ในราคาที่ใช่ ง่าย ๆ แค่ปลายนิ้ว
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง คลิก