กู้ร่วมด้วยกัน แต่ผู้กู้ร่วมลาโลกไปซะก่อน แบบนี้บ้านที่ผ่อนอยู่จะทำอย่างไร?

Author
by
At
July 17, 2023
กู้ร่วมด้วยกัน แต่ผู้กู้ร่วมลาโลกไปซะก่อน แบบนี้บ้านที่ผ่อนอยู่จะทำอย่างไร? กู้ร่วมด้วยกัน แต่ผู้กู้ร่วมลาโลกไปซะก่อน แบบนี้บ้านที่ผ่อนอยู่จะทำอย่างไร?

คงเป็นที่ทราบกันดีว่า ชีวิตคือความไม่แน่นอน บางเรื่องก็สามารถเกิดขึ้นได้อย่างไม่คาดคิดและอยู่นอกเหนือการควบคุม คนที่เราวางแผนจะใช้ชีวิตร่วมกันในอนาคตอาจจากไปก่อนเวลาอันควร ทำให้อนาคตที่วาดฝันไว้ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนไป อย่างไรก็ตามบางเรื่องที่เริ่มต้นแล้วก็ยังคงต้องดำเนินต่อไปแม้จะอยู่ตัวเพียงคนเดียวก็ตาม เช่น 'การกู้บ้าน' ซึ่งสินเชื่อบ้านนั้นเป็นสินเชื่อที่มีระยะเวลายาวนาน หาก กู้ร่วมกันแล้ว ผู้กู้ร่วมฝ่ายหนึ่งลาโลกไปซะก่อน จะส่งผลกระทบอย่างไร? และฝ่ายที่ยังอยู่จะต้องทำอย่างไรต่อ? บทความนี้ PropertyScout จะพาไปหาคำตอบ และขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคน

ผู้กู้ร่วมเสียชีวิต ส่งผลกระทบต่อการผ่อนบ้านอย่างไร?

ผู้กู้ร่วมเสียชีวิต-ส่งผลกระทบต่อการผ่อนบ้านอย่างไร
  • การเสียชีวิตของผู้กู้ร่วมนั้นในเบื้องต้นจะยังไม่กระทบต่อสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งยังอยู่ในระหว่างสัญญา โดยสัญญากู้เงินเพื่อที่อยู่อาศัยที่ทำกับธนาคารนั้นไม่ได้ระงับไปจากการเสียชีวิตของผู้กู้ร่วมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย กล่าวได้ว่าสถานะของผู้กู้ร่วมแต่ละฝ่ายยังคงอยู่ในสภาพเดิมเหมือนก่อนเสียชีวิต
  • การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของสินเชื่อบ้านจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ที่เกี่ยวข้องแจ้งให้ธนาคารทราบว่าผู้กู้ร่วมเสียชีวิต เมื่อนั้นธนาคารจะเรียกให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของผู้เสียชีวิตเข้ามาลงชื่อเพื่อแสดงเจตนาที่จะรับสภาพหนี้ ภายใน 1 ปี
  • ผลที่เกิดจากการแสดงเจตนายอมรับสภาพหนี้นั้นจะมีผลผูกพันกับทายาทของผู้กู้ร่วมซึ่งเสียชีวิต โดยทำให้ทายาทที่รับสภาพหนี้เข้ามาอยู่ในฐานะลูกหนี้ของธนาคารแทนที่ผู้กู้ร่วมที่เสียชีวิต ในส่วนนี้มีข้อจำกัดคือทายาทที่จะสามารถรับสภาพหนี้ได้นั้นจะต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว

ผู้กู้ร่วมเสียชีวิต ส่งผลกระทบต่อกรรมสิทธิ์ของบ้านหรือไม่?

สำหรับกรรมสิทธิ์ของบ้านนั้นก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น จากเดิมที่เป็นการกู้ร่วมกันทำให้กรรมสิทธิ์ในบ้านเป็นของผู้กู้ร่วมแต่ละฝ่ายคนละครึ่ง ดังนั้นเมื่อผู้กู้ร่วมฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตกรรมสิทธิ์ครึ่งหนึ่งจึงตกทอดไปสู่ทายาท ในขั้นตอนนี้จะต้องมีการไปดำเนินการที่สำนักงานที่ดิน ณ เขตซึ่งอสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ ทายาทและผู้จัดการมรดกจะแจ้งความจำนงค์เพื่อขอเปลี่ยนแปลงชื่อด้านหลังโฉนดจากผู้กู้ร่วมที่เสียชีวิตเปลี่ยนเป็นชื่อของตนเอง ซึ่งในการดำเนินการนี้จะมีค่าธรรมเนียมในการโอน 2% ของราคาประเมิน


ทางออกรูปแบบต่าง ๆ กรณีผู้กู้ร่วมเสียชีวิต

สำหรับทางออกหลังจากที่ผู้กู้ร่วมฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตไปแล้ว สามารถทำได้โดยวิธีต่าง ๆ ซึ่งควรศึกษาไว้ มีดังนี้

กรณีผู้กู้ร่วมที่เสียชีวิตทำประกัน MRTA ไว้

กรณีผู้กู้ร่วมที่เสียชีวิตทำประกัน-MRTA-ไว้

ประกัน MRTA หรือ Mortgage Reducing Term Assurance ประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ คือประกันที่ผู้กู้หรือผู้กู้ร่วมสามารถเลือกใช้บริการได้กับธนาคารที่ให้กู้ โดยประกัน MRTA นี้จะให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันในกรณีที่ผู้เอาประกันเสียชีวิตหรือพิการถาวร โดยประกัน MRTA จะผ่อนชำระหนี้บ้านแทนให้ตามวงเงินคุ้มครองที่ผู้เอาประกันได้ทำประกันเอาไว้ ดังนั้นในกรณีที่ผู้กู้ร่วมได้ทำประกัน MRTA เอาไว้ก็จะได้เงินจากประกันเพื่อชำระหนี้บ้านตามวงเงิน

ตัวอย่าง :

ถ้าวงเงินกู้บ้านเท่ากับ 2 ล้านบาท มีผู้กู้ร่วม 2 คน เท่ากับว่าผู้กู้ร่วมแต่ละฝ่ายรับผิดชอบหนี้คนละ 1 ล้านบาท

ถ้าหากผู้กู้ร่วมฝ่ายที่เสียชีวิตทำประกัน MRTA โดยมีวงเงินคุ้มครอง 6 แสนบาท เมื่อผู้กู้ร่วมเสียชีวิตก็จะได้รับเงิน 6 แสนบาทจากประกันมาชำระหนี้ในส่วนของผู้กู้ร่วม จึงเหลือยอดหนี้ค้างชำระส่วนของผู้กู้ร่วมอีก 4 แสนบาท ซึ่งเป็นยอดหนี้ซึ่งทายาทของผู้กู้ร่วมจะแสดงเจตนารับสภาพหนี้และชำระหนี้ต่อ

กรณีทายาทของผู้กู้ร่วมชำระสินเชื่อบ้านต่

กรณีทายาทของผู้กู้ร่วมชำระสินเชื่อบ้านต่อ

ในกรณีที่ทายาทของผู้กู้ร่วมแสดงเจตนารับสภาพหนี้ ยอดหนี้ที่ทายาทจะต้องร่วมกันชำระต่อกับผู้กู้ร่วมอีกฝ่ายก็คือครึ่งหนึ่งของยอดหนี้คงเหลือล่าสุด โดยทายาทที่จะรับชำระหนี้ต่อนั้นนอกจากจะต้องบรรลุนิติภาวะแล้ว ก็จะต้องผ่านการประเมินจากทางธนาคารว่ามีความสามารถในการชำระหนี้ได้ในฐานะผู้กู้ร่วม โดยพิจารณาจากรายได้และปริมาณหนี้ที่จะสามารถแบกรับไหว

กรณีสามารถผ่อนต่อได้เพียงคนเดียว

กรณีสามารถผ่อนต่อได้เพียงคนเดียว

กรณีที่มีความสามารถที่จะผ่อนชำระสินเชื่อในส่วนของตนเองและส่วนของผู้กู้ร่วมที่เสียชีวิตไปด้วย ตนเองก็สามารถผ่อนชำระต่อไปได้เลยไม่เป็นปัญหากับทางธนาคารแต่อย่างใด แต่ในกรณีนี้จะมีประเด็นว่ากรรมสิทธิ์ในบ้านครึ่งหนึ่งยังคงตกทอดสู่ทายาทของผู้กู้ร่วมฝ่ายที่เสียชีวิตอยู่ดี

กรณีต้องการหาผู้กู้ร่วมคนใหม่มาช่วยผ่อนต่อ

กรณีต้องการหาผู้กู้ร่วมคนใหม่มาช่วยผ่อนต่อ

ผู้กู้ร่วมสามารถหาผู้กู้ร่วมรายใหม่มาช่วยผ่อนสินเชื่อบ้านต่อได้ มีเงื่อนไขว่าผู้กู้ร่วมใหม่จะต้องมีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติกัน โดยสามารถแจ้งความต้องการเปลี่ยนผู้กู้ร่วมใหม่แก่ธนาคารได้ ซึ่งธนาคารจะมีการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ร่วมรายใหม่เสมือนการยื่นกู้ใหม่

โดยทั่วไปแล้วสัดส่วนของหนี้ที่ธนาคารยอมรับให้ผู้กู้แบกรับได้จะอยู่ในช่วง 40-60% ของรายได้ เช่น สำหรับธนาคารกสิกรไทย ถ้าผู้กู้มีรายได้ตั้งแต่ 30,000 ลงไป จะมีภาระหนี้ได้ 40% แต่ถ้าผู้กู้มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท จะมีภาระหนี้ได้ 50% และถ้ามีรายได้ตั้งแต่ 70,000 บาทเป็นต้นไปจะมีภาระหนี้ได้สูงสุด 60% เป็นต้น

กรณีไม่สามารถผ่อนชำระบ้านต่อด้วยตนเอง และไม่สามารถหาผู้กู้ร่วมได้

กรณีไม่สามารถผ่อนชำระบ้านต่อด้วยตนเอง-และไม่สามารถหาผู้กู้ร่วมได้

สำหรับกรณีนี้ในเบื้องต้นทางธนาคารจะให้เวลาผู้กู้ร่วมในการหาผู้กู้ร่วมรายใหม่ โดยมีมาตรการยืดหยุ่นระยะเวลาในการผ่อนชำระ เช่น สำหรับธนาคารกสิกรไทยมีการผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย 3 เดือน แต่ถ้ายังไม่สามารถหาผู้กู้ร่วมรายใหม่ได้ ก็จำเป็นที่จะต้องขายบ้านดังกล่าวออกไปแก่บุคคลภายนอก โดยจำเป็นต้องประสานกับผู้จัดการมรดกของผู้กู้ร่วมที่เสียชีวิตเพื่อยินยอมให้ดำเนินการขายบ้านร่วมกัน เพราะผู้กู้ร่วมเพียงฝ่ายเดียวไม่สามารถขายบ้านเองได้ และในกรณีสุดท้าย ถ้าไม่สามารถขายบ้านได้ และไม่สามารถชำระหนี้บ้านได้ธนาคารจะถือว่าผู้กู้ร่วมเดิมและทายาทของผู้กู้ร่วมฝ่ายที่เสียชีวิตผิดนัดชำระหนี้


สรุปส่งท้าย

และทั้งหมดนี้คือคำตอบของการที่เราทำการกู้ซื้อบ้านไว้ร่วมกันกับผู้กู้ร่วม แต่ดันเกิดเสียชีวิตก่อนที่จะผ่อนกับทางธนาคารหมด PropertyScout ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคน ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือเมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วให้รีบติดต่อธนาคาร มิเช่นนั้นสัญญาจะไม่เปลี่ยนแปลง จากนั้นทายาทหรือผู้จัดการมรดกของผู้เสียชีวิต (ที่ธนาคารประเมินแล้วว่าสามารถจ่ายหนี้ได้) จะต้องเข้ามารับช่วงต่อการผ่อนชำระ


ซื้อบ้าน ซื้อคอนโด ไม่ว่าจะกู้เองหรือกู้ร่วม หาโครงการคุณภาพได้ที่ PropertyScout

มีให้เลือกกว่า 270,000 ที่ทั่วไทย คลิกตามด้านล่างได้เลย