รวมเทคนิคช่วยให้ผู้ประกอบการ SME กู้ซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น!
ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง หรือ 'SME' จำนวนไม่น้อย และต่างคนก็อยากมีบ้านเป็นของตัวเองทั้งนั้น และเนื่องจากเป็นผู้ประกอบการ SME ทำให้หลายคนคิดว่าจะต้องขอกู้ซื้อบ้านยากแน่นอน
ซึงในความเป็นจริงแล้ว 'ความไม่รู้' นี่แหละครับที่ทำให้กู้บ้านไม่ผ่าน อย่างเช่นในกรณีที่สถาบันการเงินต้องการข้อมูลบางอย่างแล้วผู้ประกอบการไม่สามารถให้ข้อมูลได้ตรงความต้องการ ก็อาจทำให้การกู้บ้านครั้งนั้นไม่ผ่านได้ครับ ดังนั้นผู้ประกอบการทุกรายควรเตรียมตัวให้พร้อม รวมไปถึงเอกสารต่าง ๆ เพื่อให้สถาบันการเงินเกิดความมั่นใจว่าเราสามารถจ่ายเงินค่าผ่อนได้ และนอกจากเรื่องเอกสารแล้ว ไม่ควรลืมมองในมุมมองของสถาบันการเงินด้วยครับ เพราะหากมีคนทำธุรกิจมากู้เงินเรา เราก็คงอยากรู้ว่าเงินที่เราให้ไปจะถูกนำไปใช้ทำอะไรต่อ? มีโอกาสที่จะจ่ายเงินคืนได้จริงไหม? ซึ่งก็จะต้องดูว่าธุรกิจที่ต้องการกู้มีศักยภาพหรือความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จะประสบความสำเร็จ เพื่อประเมินว่าจะสามารถชำระคืนได้จริงไหมภายในระยะเวลาที่ตกลงกันครับ เดี๋ยวในบทความนี้ PropertyScout จะพาผู้ประกอบการทุกคนไปดูเทคนิคที่จะช่วยให้กู้ซื้อบ้านได้ง่ายขึ้นครับ
ประเมินรายได้ของธุรกิจก่อนตัดสินใจกู้ซื้อบ้าน
SME แบบกิจการครัวเรือนไม่ได้จดทะเบียนการค้า
เช่น ร้านขายของชำขนาดย่อม ๆ ซึ่งเวลาคำนวณรายได้ก็จะคำนวณโดยเอา ยอดขายลบกับต้นทุน ทำให้ได้ผลกำไรขั้นต้นออกมาครับ ยกตัวอย่างเช่น
ยอดขาย 1,200,000 บาท - ต้นทุน 850,000 บาท = กำไรขั้นต้น 350,000 บาท
สำหรับกรณีที่ไม่ได้มีการจดทะเบียนการค้าเป็นกิจลักษณะ ทางเจ้าหน้าที่ธนาคารจะมีการขอสำรวจกิจการโดยการเข้าไปถ่ายรูป จากนั้นก็จะให้ผู้ประกอบการทำแบบฟอร์มสำรวจรายได้ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาการกู้สินเชื่อครับ
SME จดทะเบียนการค้า
เช่น ร้านขายเครื่องเขียน ร้านกาแฟ ซึ่งธุรกิจ SME ประเภทนี้จะต้องมีหุ้นส่วนและมีสัดส่วนการแบ่งหุ้นที่ชัดเจน เนื่องจากได้ทำการจดทะเบียนการค้าแล้ว นอกจากนั้นยังมีการทำรายรับ-รายจ่ายที่ชัดเจนเนื่องจากจะต้องยื่นให้กับสรรพากรอยู่แล้วครับ ตัวอย่างการคำนวณรายได้ เช่น
ผู้ถือหุ้น : นาย Property ถือหุ้น 60% และ นาย Scout ถือหุ้น 40%
ธุรกิจมียอดขาย 1,200,000 บาท - ต้นทุน 850,000 บาท = กำไรขั้นต้น 350,000 บาท
นาย Property จะได้ 210,000 บาท ส่วน นาย Scout จะได้ 140,000 บาท
นอกจากนั้นธุรกิจ SME จะต้องดำเนินกิจการมาไม่น้อยกว่า 2 ปี ครับ เพราะถ้าหากน้อยกว่านี้สถาบันการเงินจะพิจารณาปล่อยกู้ยากขึ้น และในช่วง 2-3 ปี แรกที่กิจการกำลังเติบโต ก็ไม่ควรแบ่งรายได้ซื้อทรัพย์สินส่วนตัวมากจนเกินไป แต่ควรที่จะเอาเงินมาต่อยอดธุรกิจ เพื่อที่จะได้สร้างความมั่นคงให้ธุรกิจมีความแข็งแรงยิ่งขึ้นครับ
ประเมินภาระหนี้สินที่มีอยู่ ก่อนกู้ซื้อบ้าน
สำหรับการดำเนินธุรกิจ SME ผู้ประกอบการหลาย ๆ รายก็จะมีการขอสินเชื่อเพื่อเอาไปดำเนินกิจการ ตัวอย่างเช่น การเสริมสภาพคล่องของกิจการ การซื้อเครื่องจักร และอื่น ๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็นข้อดีสำหรับเจ้าของกิจการที่อยากที่จะกู้ซื้อบ้าน เพราะสถาบันการเงินไม่ได้นำภาระหนี้สินในส่วนนี้มาคิดรวมด้วยครับ เนื่องจากภาระหนี้กิจการเป็นภาระหนี้ที่ค่อนข้างสูง และอย่างที่กล่าวในหัวข้อที่แล้วว่ารายได้ของ SME สถาบันการเงินได้ทำการรวมภาระหนี้ตรงนี้เข้าไปคำนวณด้วยแล้วนั่นเองครับ
นี่เป็นเป็นเหตุผลที่สถาบันการเงินไม่ได้นำมาคิดรวม เพราะหากมากไปกว่านี้ภาระหนี้การกู้ซื้อบ้าน คือ 'ภาระหนี้ส่วนบุคคล' ซึ่งต่างจากภาระหนี้ของกิจการในรูปแบบ 'นิติบุคคล' โดยสิ้นเชิง โดยที่ภาระหนี้ส่วนบุคคลหมายถึง ภาระหนี้ที่ทำให้ชีวิตเกิดความ Enjoy หรือเพื่อตอบสนองความต้องการส่วนตัว อย่างเช่น หนี้รถ บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล เป็นต้นครับ
สถาบันการเงินจะได้เกณฑ์การคำนวณจาก 3 ปัจจัยหลักที่ได้กล่าวไป ตัวอย่างการคำนวณ คือ สถาบันการเงินจะคำนวณแบบครึ่งหนึ่ง เช่น รายได้สุทธิอยู่ที่ 200,000 บาท ซึ่งภาระหนี้ก็ไม่ควรจะเกิน 100,000 บาท เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสามารถผ่อนไหว และสิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างก็คือ ยิ่งรายได้มากโอกาสที่ธนาคารจะให้กู้ก็มากตามไปด้วยครับ
ต้องมีวินัยในการผ่อนชำระหนี้ ก่อนตัดสินใจกู้ซื้อบ้าน
มาถึงตอนนี้แล้วผู้ประกอบการหลายคนก็คงสงสัยกันว่า ทำอย่างไรให้ธนาคารรู้จักเราพอสมควร? ว่าเราเป็นใคร ทำธุรกิจอะไร มีประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง? สิ่งนี้ ถือได้ว่าเป็นด่านแรกที่ธนาคารจะตรวจสอบว่า ผู้ประกอบการมีประวัติชำระหนี้ที่ดี หรือมีหนี้เสียหรือไม่ พฤติกรรมการชำระหนี้ที่ผ่านมาสามารถบ่งชี้ได้ว่าผู้กู้รายนี้เป็นลูกค้าชั้นดีไหม เคยมีประวัติติดยอดค้างชำระอะไรหรือเปล่า
ซึ่งในปัจจุบันการยื่นขอสินเชื่อธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อกู้ซื้อบ้าน หรือสินเชื่อส่วนบุคคล หรือซื้อรถ ทุกคนต้องแสดงตัวตนเรื่องประวัติการชำระหนี้จากการตรวจสอบประวัติเครดิตครับ หรือที่เรียกกันว่า 'เครดิตบูโร' นั่นเอง แต่ในกรณีที่ยังไม่มีประวัติการกู้สินเชื่อส่วนบุคคลก็อาจจะต้องเริ่มคิดที่จะสร้างประวัติทางการเงินขึ้นมาบ้าง เนื่องจากธนาคารจะได้รู้จักเรามากขึ้นผ่านการผ่อนชำระหนี้ และจะได้ง่ายต่อการพิจารณาการปล่อยกู้ซื้อบ้านให้กับเราครับ
กู้ร่วม
การกู้ร่วมที่เป็นการทำสัญญากู้สินเชื่อด้วยกันกับอีกคน เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้ความฝันการอยากมีบ้านเป็นจริงมากขึ้นครับ โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการ SME เพราะจะช่วยให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจได้ว่าผู้ประกอบการมีผู้กู้ร่วมที่มีศักยภาพที่จะผ่อนชำระได้ หากใช้วิธีกู้ร่วม ก็จะมีข้อดีคือ สามารถขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ได้วงเงินเพิ่มมากขึ้น และไม่ต้องแบกรับภาระหนี้เพียงคนเดียวครับ
ก่อนกู้ซื้อบ้าน ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง?
สำหรับเอกสารกู้ซื้อบ้านของเจ้าของธุรกิจ SME ถือได้ว่าเป็นส่วนที่สำคัญอย่างมากกับเจ้าของกิจการในรูปแบบ SME ครับ ถ้าหากเป็นกรณี SME ประเภทจดทะเบียนการค้า มีเอกสาร 'ภ.พ. 30' ก็จะยิ่งเป็นเรื่องง่ายครับ เนื่องจากในเอกสารจะบอกไว้อย่างละเอียดว่ามีรายรับรายจ่ายมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งมี Statement กับทางสถาบันการเงินแบบเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนด้วยครับ
แต่ถ้าหากเป็นธุรกิจ SME ประเภทที่ไม่ได้จดทะเบียนการค้าก็มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องโชว์ Statement ให้กับสถาบันการเงินดูครับ นอกจากนั้นก็จะต้องมีบิลค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกิจการ และรายรับจะต้องสอดคล้องไปกับรายจ่ายด้วยเช่นเดียวกันครับ
สำหรับเอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับการกู้ซื้อบ้านกับสถาบันการเงิน โดยส่วนมากก็จะมีดังนี้ครับ
เอกสารทั่วไป
- สำเนาบัตรประชาชน บัตรข้าราชการ หรือหนังสือเดินทาง
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาทะเบียนสมรส/ใบหย่า/ใบมรณะบัตร/ใบแจ้งความแยกกันอยู่
- สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ/นามสกุล (ถ้ามี)
เอกสารแสดงรายได้
กรณีประกอบอาชีพประจำ หรือผู้มีรายได้ประจำ
- หนังสือรับรองเงินเดือนหรือหนังสือรับรองเงินเดือนแบบใช้สวัสดิการของหน่วยงาน
- สลิปเงินเดือนย้อนหลัง 6 เดือน
- สมุดบัญชีเงินเดือนย้อนหลัง 6 เดือน
กรณีเจ้าของธุรกิจ
- สำเนาทะเบียนการค้าหรือหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท
- รายชื่อผู้ถือหุ้น
- รายการเดินบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 12 เดือน
- สำเนาบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี
- หลักฐานการเสียภาษี เช่น ภ.พ. 30 เป็นต้น
- รูปถ่ายกิจการ 4-5 ภาพพร้อมแผนที่ตั้งโดยสังเขป
กรณีประกอบอาชีพอิสระ
- รายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน
- ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เช่น แพทย์, ทนาย, สถาปนิก เป็นต้น
เอกสารหลักประกัน
- สำเนาโฉนดที่ดิน หรือสำเนาหนังสือแสดงกรรมสิทธิห้องชุด
- สำเนาสัญญาจะซื้อจะขาย หรือสัญญามัดจำ
- แผนที่แสดงทำเลที่ตั้งของที่ดินหลักประกัน
*บางสถาบันการเงินอาจมีรายละเอียดเรื่องการเตรียมเอกสารสำหรับขอกู้ซื้อบ้านที่แตกต่างไปจากที่กล่าวข้างต้น ดังนั้นควรศึกษารายละเอียด เงื่อนไขของสถาบันการเงินนั้น ๆ ให้ดีนะครับ
สรุปส่งท้าย
เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับเทคนิคช่วยให้ผู้ประกอบการ 'SME' กู้ซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น จะเห็นได้ว่าการเตรียมความพร้อมสำหรับการกู้ซื้อบ้านจากสถาบันการเงินถือเป็นเรื่องทั่วไปเลย เพียงแต่ในบางครั้งหลาย ๆ คนอาจจะละเลยไปบ้าง และไม่ได้วางแผนให้ดีไว้ก่อน แบบนี้แล้วเมื่อไหร่ก็ตามที่ถึงเวลาที่จะใช้เงินกู้ สถาบันการเงินก็จะมองว่าเราขาดความพร้อม ทำให้ผู้ประกอบการอย่างเราไม่ได้เงินตามที่ต้องการครับ ในทางกลับกันผู้ประกอบการ SME ที่ได้เตรียมความพร้อมไว้เป็นอย่างดีแล้ว มีการวางแผนการเงินที่ดี เวลายื่นหลักฐานต่าง ๆ ให้ธนาคารดำเนินการพิจารณาการขออนุมัติสินเชื่อกู้ซื้อบ้าน ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะได้รับเงินกู้ตามแบบที่ต้องการ PropertyScout หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการทุกคนนะครับ สำหรับใครที่มีความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ หรือ อยากแชร์ประสบการณ์การซื้อบ้าน สามารถคอมเม้นท์กันมาได้ตรงด้านล่างเลยนะครับ
อ่านบทความ รีวิวโครงการ อัปเดตข่าวเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ได้ที่ PropertyScout Blog
มีคำถาม ข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรือต้องการ เช่า ซื้อ ขาย
คลิกตามด้านล่างได้เลย
อ่านบทความอื่นที่เกี่ยวข้อง คลิก