แจกทิปส์! เลือกมิเตอร์ไฟฟ้าให้เหมาะกับบ้าน พร้อมวิธีอ่านค่ามิเตอร์ไฟ อ่านอย่างไรให้ถูกต้อง

Author
by
At
July 17, 2023
แจกทิปส์! เลือกมิเตอร์ไฟฟ้าให้เหมาะกับบ้าน พร้อมวิธีอ่านค่ามิเตอร์ไฟ อ่านอย่างไรให้ถูกต้อง แจกทิปส์! เลือกมิเตอร์ไฟฟ้าให้เหมาะกับบ้าน พร้อมวิธีอ่านค่ามิเตอร์ไฟ อ่านอย่างไรให้ถูกต้อง

สำหรับ มิเตอร์ไฟฟ้า นั้นถือเป็น อุปกรณ์พื้นฐานที่ทุกบ้านต้องมี เพื่อใช้วัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าในแต่ละวัน ในคราวนี้ PropertyScout ก็อยากพาทุกคนไปดูข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับมิเตอร์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น มิเตอร์ไฟฟ้ามีกี่ขนาด รวมถึงวิธีการเลือกขนาดให้ถูกต้องตามจำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เพื่อการใช้งานที่มีประสิทธิภาพ พร้อมวิธีอ่านค่ามิเตอร์ไฟให้ถูกต้อง ไปดูกันเลย!


มิเตอร์ไฟฟ้า คืออะไร?

มิเตอร์ไฟฟ้า-คืออะไร

อย่างแรกมาทำความรู้จักกับมิเตอร์ไฟฟ้ากันก่อน มิเตอร์ไฟฟ้า คือ เครื่องมือวัดพลังงานไฟฟ้าต่อระยะเวลาที่ใช้งาน ซึ่งปกติจะติดตั้งเครื่องวัดมิเตอร์ไฟฟ้าในบริเวณพื้นที่ภายนอกบ้านหรือภายนอกอาคาร โดยจะมีหน่วยเป็นกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ไปดูกันต่อว่ามีอยู่ทั้งหมดกี่ประเภท


มิเตอร์ไฟฟ้ามีกี่ประเภท?

มิเตอร์ไฟฟ้ามีกี่ประเภท

มิเตอร์ไฟฟ้า มีหลายประเภทด้วยกันดังต่อไปนี้

  • มิเตอร์ไฟสำหรับบ้านอยู่อาศัย
  • มิเตอร์ไฟสำหรับกิจการขนาดเล็ก
  • มิเตอร์ไฟสำหรับกิจการขนาดกลาง
  • มิเตอร์ไฟสำหรับกิจการขนาดใหญ่
  • มิเตอร์ไฟสำหรับกิจการเฉพาะอย่าง
  • มิเตอร์ไฟสำหรับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
  • มิเตอร์ไฟสำหรับกิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร
  • มิเตอร์ไฟสำหรับผู้ใช้ไฟชั่วคราว

มิเตอร์ไฟฟ้าสำหรับบ้านที่พักอาศัยมีขนาดไหนบ้าง

มิเตอร์ไฟฟ้ามีอยู่ด้วยกันหลายประเภท และหลายขนาด แต่ในบทความนี้ เราจะมาว่ากันด้วยมิเตอร์ไฟฟ้าสำหรับบ้านพักอาศัย

สำหรับการดูขนาดของมิเตอร์ไฟฟ้านั้น สามารถสังเกตได้จากตัวเลขในช่องบนมิเตอร์ เช่น 5(15) A หมายความว่า เป็นมิเตอร์ไฟขนาด 5 แอมป์ สามารถใช้ไฟได้มากถึง 15 แอมป์ ขนาดของมิเตอร์ไฟฟ้า มีดังนี้


เปรียบเทียบขนาดมิเตอร์กับปริมาณการใช้ไฟฟ้า

  • มิเตอร์ 5(15) เฟส 1 สามารถใช้ไฟได้ไม่เกิน 15 แอมแปร์
  • มิเตอร์ 15(45) เฟส 1 สามารถใช้ไฟได้ 11-30 แอมแปร์
  • มิเตอร์ 30(100) เฟส 1 สามารถใช้ไฟได้ 31-75 แอมแปร์
  • มิเตอร์ 50(150) เฟส 1 สามารถใช้ไฟได้ 76-100 แอมแปร์
  • มิเตอร์ 15(45) เฟส 3 สามารถใช้ไฟได้ไม่เกิน 30 แอมแปร์
  • มิเตอร์ 30(100) เฟส 3 สามารถใช้ไฟได้ 31-75 แอมแปร์
  • มิเตอร์ 50(150) เฟส 3 สามารถใช้ไฟได้ 76-100 แอมแปร์
  • มิเตอร์ 200 เฟส 3 สามารถใช้ไฟได้ 101-200 แอมแปร์
  • มิเตอร์ 400 เฟส 3 สามารถใช้ไฟได้ 201-400 แอมแปร์

เลือกขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าให้เหมาะกับบ้าน ต้องทำอย่างไร?

เลือกขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าให้เหมาะกับบ้าน-ต้องทำอย่างไร

ขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าที่เหมาะสมในการใช้งานในบ้านเรือนทั่วไป จะต้องพิจารณาถึงจำนวนสมาชิกในบ้าน และจำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งปัจจุบัน และเผื่อในอนาคตมีเครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวนมากกว่าเดิม

เราสามารถคำนวณเบื้องต้นได้ด้วยตัวเองว่าบ้านของเราเหมาะกับขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าเท่าไหร่ โดยนำกำลังไฟฟ้าอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดนั้น (วัตต์) ซึ่งสามารถดูได้จากฉลากบนเครื่องใช้ไฟฟ้า มาหารด้วยความต่างศักย์ (โวลต์) และคูณด้วยจำนวนอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดนั้น และนำกระไฟฟ้าทั้งหมดมาบวกรวมกัน และคูณด้วย 1.25 (ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่อาจจะใช้มากขึ้นในอนาคต) ยกตัวอย่างเช่น


ตัวอย่าง

  • พัดลมตั้งพื้น 70 วัตต์ จำนวน 2 ตัว คิดเป็นกระแสไฟฟ้า (70 ÷ 220) x 2 = 0.64 แอมแปร์
  • หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ 36 วัตต์ จำนวน 6 หลอด คิดเป็นกระแสไฟฟ้า (36 ÷ 220) x 6 = 0.98 แอมแปร์
  • เครื่องปรับอากาศ 1,200 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง คิดเป็นกระแสไฟฟ้า 1,200 ÷ 220 = 5.45 แอมแปร์
  • หม้อหุงข้าว 450 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง คิดเป็นกระแสไฟฟ้า 450 ÷ 220 = 2.04 แอมแปร์
  • เตารีด 450 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง คิดเป็นกระแสไฟฟ้า 450 ÷ 220 = 2.04 แอมแปร์
  • โทรทัศน์ 40 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง คิดเป็นกระแสไฟฟ้า 40 ÷ 220 = 0.18 แอมแปร์
  • ตู้เย็น 70 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง คิดเป็นกระแสไฟฟ้า 70 ÷ 220 = 0.32 แอมแปร์

กระแสไฟฟ้าจากเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดรวมกันจะเท่ากับ 11.65 แอมป์ เมื่อนำมาคูณกับ 1.25 จะได้ประมาณ 14.56 แอมแปร์ ถือว่ายังสามารถใช้ขนาดเมิเตอร์ 5(15) ได้เนื่องจากยังไม่เกิน 15 แอมแปร์ และปกติเราจะไม่ได้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าพร้อม ๆ กันอยู่แล้ว แต่หากเผื่อในอนาคตจะมีการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่ม แนะนำว่าให้ติดมิเตอร์ขนาดที่ใหญ่ขึ้นจะเหมาะกว่า และเพื่อความปลอดภัย ซึ่งอาจจะเป็นมิเตอร์ขนาด 5(45) แอมแปร์ก็ได้

วิธีอ่านค่ามิเตอร์ไฟฟ้า

สำหรับวิธีอ่านค่าบนหน้าปัดมิเตอร์หลัก ๆ จะมีกรอบตัวเลขให้เห็นทั้งหมด 5 ตัว ที่บอกจำนวนหน่วยที่ได้ใช้งาน ซึ่งเวลาจะนับก็ต้องดูว่ามิเตอร์ของเรานั้นเป็นแบบไหน

หากช่องสุดท้ายมีจุดทศนิยม หรือมีกรอบสีที่ต่างจากพวก ก็ไม่ต้องอ่านตัวสุดท้าย สามารถอ่านแค่ 4 ตัวหน้าเท่านั้น แต่ถ้าช่องสุดท้ายไม่มีจุดทศนิยม ก็ให้อ่านทั้ง 5 ตัวเลย


กรณีอ่านมิเตอร์ผิดจะเกิดความต่างมากไหม?

ยกตัวอย่างในกรณีที่มีจุดทศนิยม สมมุติว่าจดมิเตอร์เดือนก่อนหน้าได้ 1234.5 แปลว่าจะจดจริง ๆ แค่ 4 ตัวหน้า คือ 1234 หน่วย

แต่ในเดือนต่อมา ผู้จดเป็นอีกคน และด้วยความไม่รู้ เห็นเลข 11985 ก็จดมาครบ 5 ตัวเลย ซึ่งพอมาหักลบ 11985 - 1234 = 10751 หน่วย ซึ่งเป็นความต่างที่ค่อนข้างสูงทีเดียว


NO. บนมิเตอร์ไฟฟ้าคืออะไร?

NO. คือตัวเลขที่ระบุไว้ เพื่อที่จะได้ดูว่าอันไหนคือมิเตอร์ของเรา รวมถึงแรงดันไฟฟ้า และเฟสของไฟที่ใช้


ใครบ้างที่สามารถขอใช้ไฟฟ้าได้?

สำหรับคนที่ซื้อที่ดินและปลูกบ้านเอง แล้วต้องการขอใช้ไฟฟ้า จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  • เจ้าของที่ดิน หรือเจ้าของสถานที่ใช้ไฟฟ้า
  • ผู้ขอใช้ไฟฟ้ามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่ใช้ไฟฟ้า
  • ผู้เช่า หรือผู้เช่าซื้อสถานที่ใช้ไฟฟ้า
  • ผู้ประกอบการในสถานที่ใช้ไฟฟ้า

ติดต่อเพื่อขอใช้ไฟได้ที่ไหน และมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง?

ติดต่อเพื่อขอใช้ไฟได้ที่ไหน-และมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

ผู้ขอใช้ไฟฟ้าสามารถติดต่อและยื่นคำร้องได้ที่สำนักงานการไฟฟ้าทุกแห่ง

  • หลังจากได้รับคำร้องขอใช้ไฟฟ้า พร้อมเอกสารประกอบครบถ้วนแล้ว เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าจะเข้าไปตรวจสอบการเดินสายไฟในอาคาร หากยังไม่เดินสายไฟฟ้าให้เดินสายให้เรียบร้อยแล้วแจ้งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ
  • เมื่อตรวจสอบการเดินสายไฟฟ้าแล้วพบว่ามีการเดินสายไฟที่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้ขอใช้ไฟฟ้าชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ แต่ถ้าการเดินสายไฟไม่ถูกต้อง ไม่ปลอดภัยก็จะแจ้งให้ดำเนินการแก้ไข และตรวจสอบอีกครั้ง โดยค่าธรรมเนียมนั้นการไฟฟ้าจะกำหนดไว้ตามประเภทและขนาดของมิเตอร์ที่ขอติดตั้ง
  • ผู้ขอใช้ไฟฟ้าชำระค่าธรรมเนียมและรับใบเสร็จไว้เป็นหลักฐาน

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่การไฟฟ้า คลิก

*กรณีพักอาศัยอยู่ต่างจังหวัดให้ติดต่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

สรุปส่งท้าย

มิเตอร์ไฟฟ้า มีหลายขนาด ซึ่งแต่ละบ้านจะต้อง เลือกให้เหมาะสมกับจำนวนสมาชิกภายในบ้าน รวมถึงจำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งปัจจุบันและทางที่ดีห้คิดเผื่อในอนาคตด้วย เพื่อให้สามารถใช้งานไฟฟ้าได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ และทางเราหวังว่าทุกคนจะสามารถอ่านหน้าปัดมิเตอร์ได้อย่างถูกต้องเพื่อประโยชน์ของตัวเอง!


มองหาโครงการอสังหาเปี่ยมคุณภาพได้ที่ PropertyScout

แพลตฟอร์มซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ในไทย คลิกเลย