รวม 7 รูปแบบฝ้าเพดานที่ดี พร้อมทิปส์ในการตรวจรับงานฝ้าเพดาน!

Author
by
At
June 1, 2023
รวม 7 รูปแบบฝ้าเพดานที่ดี พร้อมทิปส์ในการตรวจรับงานฝ้าเพดาน! รวม 7 รูปแบบฝ้าเพดานที่ดี พร้อมทิปส์ในการตรวจรับงานฝ้าเพดาน!
รวม 7 รูปแบบฝ้าเพดานที่ดี พร้อมทิปส์ในการตรวจรับงานฝ้าเพดาน!
7 รูปแบบฝ้าเพดานทิปส์ตรวจรับงานฝ้าเพดานสรุปส่งท้าย

ฝ้าเพดานเป็นส่วนประกอบของบ้านที่มีความสำคัญในหลายด้าน ทั้งช่วยเพิ่มความสวยงามและมีประโยชน์ในเรื่องการปกปิดงานระบบ สายไฟ ท่อประปา หรือโครงหลังคา ลดความร้อนที่เข้าสู่บ้าน ไปจนถึงช่วยดูดซับและลดเสียงรบกวนด้วย แต่ตัววัสดุฝ้าเองก็มีหลายประเภทแบ่งตามประเภทการติดตั้ง และแบ่งตามวัสดุที่ใช้ติดตั้ง ในบทความนี้ PropertyScout จะพาทุกคนไปดูการติดตั้งฝ้าเพดาน ว่ามีกี่แบบ เลือกแบบไหนดี และการตรวจสอบงานฝ้าต้องดูอะไรบ้าง?

รวม 7 รูปแบบฝ้าเพดานที่ดี พร้อมทิปส์ในการตรวจรับงานฝ้าเพดาน!

7 รูปแบบฝ้าเพดาน

ฝ้าเพดานฉาบเรียบ

beautiful-white-corner-of-ceiling-light-2022-11-16-15-50-37-utc
ฝ้าเพดานฉาบเรียบ

ฝ้าเพดานแบบแรกนี้นิยมใช้กันมาก เพราะเข้ากันได้กับบ้านทุกสไตล์ ไม่ว่าจะเป็นแบบคลาสสิก โมเดิร์น วินเทจ ร่วมสมัยหรือแบบอื่น ๆ เพราะสามารถปรับให้เข้ากันได้

ลักษณะโดดเด่นก็คือ เป็นฝ้าที่เรียบต่อเนื่องกันทั้งห้อง โดยทำการติดตั้งแผ่นฝ้าเพดานบ้านเข้ากับโครงอลูมิเนียมที่อยู่ติดกับโครงหลังคา ฝ้าประเภทนี้มักติดตั้งแบบถาวร ซึ่งวัสดุแผ่นส่วนใหญ่ที่นิยมใช้จะเป็นยิปซั่มและไฟเบอร์ซีเมนต์ ที่มีคุณสมบัติน้ำหนักเบา ติดตั้งง่าย ติดตั้งสะดวก เมื่อทำการติดแผ่นฝ้าแล้วตัวช่างจะฉาบปิดรอยต่อด้วยปูน และทาสีอีกรอบเพื่อเก็บงาน หลังจากเสร็จทุกขั้นตอนแล้วจะเห็นว่าแผ่นฝ้าเรียบเนียนเป็นผืนเดียวกันหมด ไม่เห็นรอยต่อ ทำให้เรียกฝ้าประเภทนี้ว่า ฝ้าฉาบเรียบ นั่นเอง


ฝ้าเพดานแขวน (T-bar)

the-ceiling-1
ฝ้า T-bar

ฝ้าเพดานแขวน หรือ T-bar เป็นประเภทฝ้าเพดานที่นิยมใช้ค่อนข้างมากเช่นเดียวกับแบบด้านบน เนื่องจากติดตั้งสะดวก ราคาถูกเมื่อเทียบกับฝ้าแบบอื่น ๆ อีกทั้งยังดูแลรักษาง่าย เมื่อเกิดปัญหาก็สามารถเปิดฝ้าขึ้นไปดูแล ซ่อมแซมงานระบบได้ ที่สำคัญหากมีส่วนใดส่วนหนึ่งชำรุดก็เปลี่ยนเฉพาะจุดได้ ไม่ต้องรื้อออกทำใหม่ทั้งหมด ซึ่งฝ้าเพดานแบบนี้จะมีโครงเป็นรูปตัว T คว่ำ ติดตั้งต่อกันเป็นช่องสี่เหลี่ยมเท่า ๆ กัน ส่วนใหญ่มักมีขนาด 60x60 ซม. หรือ 60x120 ซม. เมื่อติดตั้งโครงแล้วก็ติดตั้งแผ่นฝ้าปิดได้เลย


ฝ้าหลุม

elite-dining-area-with-glass-ceiling-2022-03-03-00-11-54-utc
ฝ้าหลุม

อีกหนึ่งฝ้าเพดานที่ช่วยสร้างความแปลกใหม่ให้บ้านได้ เพราะเมื่อทำแล้วบ้านจะออกมาดูหรูหราโมเดิร์น ดูดีแบบมีมิติ และมีสไตล์มากขึ้น เรียกว่าดึงดูดสายตามาก ๆ อีกทั้งยังทำให้รู้สึกระยะพื้นถึงฝ้าสูงมากขึ้นด้วย เพราะมีการเล่นระดับฝ้านั่นเอง ส่วนใหญ่ฝ้าแบบนี้มักเห็นในงานรีสอร์ท ห้องประชุม และห้องสำนักงาน เป็นต้น ตามปกติแล้วหากเลือกใช้ฝ้าชนิดนี้ มักจะมีการใช้คิ้วบัวตกแต่งเพิ่ม หรือทำฝ้าให้เป็นหลุมแล้วซ่อนไฟ ซ่อนงานระบบหรือเครื่องปรับอากาศไว้ตรงจุดที่ต่างระดับกัน หรือหากเป็นอาคารชั้นเดียวสามารถทำฝ้าหลุมเพื่อติดตั้งกระจกเพิ่มช่องรับแสงก็ได้


ฝ้าเพดานซ่อนระบบไฟ

interior-of-bathroom-with-ceiling-window-3d-render-2021-08-26-18-15-28-utc
ฝ้าเพดานซ่อนระบบไฟ

ฝ้าเพดานซ่อนระบบไฟจะคล้าย ๆ กับฝ้าหลุม แต่มีการเว้นพื้นที่ฝ้าเพื่อวางแนวไฟให้สะท้อนจากฝ้ากระทบบริเวณพื้นที่ที่ต้องการใช้งานเพิ่ม ทำให้เกิดความ contrast กันของเงาและแสงไฟ (Shade & Lighting) สร้างบรรยากาศในห้องให้นุ่มนวล สบายตา เพิ่มความหรูหรา และดูมีเอกลักษณ์มากขึ้น ใครชอบบรรยากาศแบบนี้เลือกทำได้เลย หรือทำแล้วเพิ่มไฟเพดานและแชนเดอร์เลียสวย ๆ อีกสักหน่อย รับรองว่าบ้านจะยิ่งดูลงตัว หรูหรา ดุงดูดสายตาเข้าไปอีก


ฝ้าอะคูสติก

ฝ้าอะคูสติกเป็นฝ้าที่มีการดูดซับเสียง ป้องกันเสียงสะท้อนได้ดีมากกว่าฝ้าชนิดอื่น ใครไม่ชอบเสียงดังหรือกันเสียงรบกวนจากภายนอกได้ดี แนะนำให้เลือกฝ้าประเภทนี้เลย เพราะส่วนใหญ่พบในโรงภาพยนตร์ ห้องประชุมสัมนา ห้องจัดแสดง หรือห้องซ้อมดนตรี แต่หากนำมาติดตั้งที่บ้านก็ช่วยให้บ้านเงียบสงบ สบายหู สบายใจมากขึ้น ในปัจจุบันมีฝ้าอะคูสติกให้เลือกใช้หลายแบบ เช่น Acoustic Board, M board และฟองน้ำ เป็นต้น


ฝ้าระแนง

cozy-dining-room-with-wooden-beams-on-ceiling-2021-10-21-02-44-38-utc
ฝ้าระแนง

ฝ้าระแนงนิยมใช้เพื่อการตกแต่ง เพิ่มความสวยงาม หรือใช้สำหรับพรางงานระบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นซ่อนท่อหรือสายไฟ เป็นต้น ทั้งยังช่วยให้เกิดความโปร่งในการอากาศถ่ายเทอากาศให้ไหลเวียนดีขึ้น แถมสะดวกและซ่อมแซมง่ายอีกด้วย เพราะเวลาติดตั้งจะติดตั้งให้ชิดกันหรือเว้นระยะห่างกันเล็กน้อย โดยฝ้าระแนงให้ความรู้สึกทันสมัย โล่งโปร่ง สบายตา มีดีไซน์ แต่ยังคงความเป็นธรรมชาติไว้ มันจึงให้ความรู้สึกอบอุ่นในเวลาเดียวกัน ซึ่งฝ้าประเภทนี้จะใช้ในอาคารสาธารณะเป็นส่วนใหญ่ อย่างเช่น งานล็อบบี้ บริเวณโถงโรงแรม ห้างสรรพสินค้า หรือสถานีรถไฟ เป็นต้น


ฝ้าติดตั้งพิเศษ

bright-villa-with-wood-ceiling-2021-08-26-15-43-36-utc
ฝ้าติดตั้งพิเศษ

ฝ้าประเภทนี้มีความพิเศษกว่าฝ้าที่กล่าวมาทั้งหมด เพราะถูกออกแบบมาเพื่อความสวยงามโดยเฉพาะ ซึ่งในแต่ละสเปซ แต่ละอาคาร มักมีการออกแบบฝ้าแตกต่างกันไป โดยเน้นสร้างความโดดเด่นและดึงดูดความสนใจให้กับพื้นที่นั้น ๆ มักพบบ่อยได้ในงานโรงแรม ห้างสรรพสินค้า และรีเทลช็อป เป็นต้น อีกทั้งฝ้าชนิดนี้มักมีการผสมวัสดุที่แตกต่างกัน เช่น ใช้กระจก อะคริลิก ไม้ ผ้า หรือแม้แต่ผ้าใบ ล้วนขึ้นอยู่กับการออกแบบ แต่ทั้งหมดต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการติดตั้งด้วย เนื่องจากมีความซับซ้อนมากกว่าฝ้าประเภทอื่น สำหรับใครต้องการติดตั้งฝ้าประเภทนี้ในบ้าน ก็จะต้องมีงบประมาณเยอะหน่อย หรือเรียกง่าย ๆ คือต้องกระเป๋าสตางค์หนาระดับนึง


ทิปส์ตรวจรับงานฝ้าเพดาน

a-japanese-female-worker-inspects-a-house-s-equipm-2023-03-13-19-06-30-utc
การตรวจรับงานฝ้าเพดาน
  • ระดับความเรียบเสมอกันของฝ้าเพดาน

เบื้องต้นสำหรับการตรวจรับงานฝ้าเพดาน ให้ทำการตรวจสอบด้วยสายตาว่าสภาพท้องฝ้ามีลักษณะเป็นแอ่ง หรือเอียงไม่ได้ระดับหรือไม่ โดยใช้ตลับเมตรทำการวัดระดับความสูงจากพื้นถึงฝ้า (Floor to Ceiling) ของแต่ละจุด โดยทั่วไปความสูงฝ้าที่ใช้กันประมาณ 1-2 เซนติเมตรถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากพบว่าความสูงจากพื้นถึงฝ้ามีความต่างกันมาก เช่น ต่างกัน 5 เซนติเมตร แสดงว่าระดับฝ้ามีปัญหา ต้องให้ทางโครงการทำการแก้ไขให้เรียบร้อย


  • ระดับความสูงฝ้า

โดยทั่วไป หากรู้สึกว่าระดับฝ้าต่ำผิดปกติ หรือรู้สึกอีดอัด ลองทำการวัดความสูงฝ้าจากพื้นถึงฝ้า (Ceiling to Floor) โดยทั่วไปความสูงจากพื้นถึงฝ้าสำหรับบ้านพักอาศัยไม่ควรน้อยกว่า 2.60 เมตร ถ้ายิ่งสูงก็จะยิ่งรู้สึกโปร่ง 


  • รอยต่อระหว่างแผ่นและรอยต่อติดผนัง

ปกติฝ้าจะมีขนาดกว้าง 1.2 เมตร ยาว 2.4 เมตร ดังนั้นเวลาติดตั้งจะทำการยึดฝ้าเข้ากับโครงฝ้าด้วยสกรูเกลียวปล่อย และบริเวณรอยต่อฝ้าและขอบฝ้าที่ชนผนังแต่ละแผ่นจะมีเทปผ้าปิดและทำการฉาบให้เรียบเพื่อไม่ให้เห็นรอยต่อ การตรวจสอบให้ดูด้วยสายตาว่าฝ้าทั้งผืนเรียบสนิทดีหรือไม่ หากฝ้านูนเป็นสันตามรอยต่อหรือแตกไม่เรียบให้แจ้งทางโครงการเพื่อทำการแก้ไขฉาบแต่งผิวใหม่ให้เรียบ

แต่หากเป็นฝ้าทีบาร์ (ฝ้าที่มีโครงลักษณะตัวที แล้วนำแผ่นฝ้าไปวางบนโดยไม่ต้องฉาบเก็บรอยต่อ) ให้ทำการตรวจสอบแนวทีบาร์ว่าตรงหรือไม่ ไม่ตกท้องช้า การวางฝ้าแนบสนิท ไม่กระดก หรือมีร่องตามขอบฝ้า


  • ตรวจสอบว่ามีช่องเซอร์วิสใต้หลังคาหรือไม่

สำหรับกรณีบ้านพักอาศัยทั่วไปควรจะมีช่องเซอร์วิสบริเวณฝ้าสำหรับขึ้นไปใต้หลังคา เพื่อทำการซ่อมหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อยู่ใต้หลังคา เช่น งานระบบไฟฟ้า, น้ำรั่วจากหลังคา เป็นต้น

โดยทั่วไปช่องเซอร์วิสจะมีขนาดเหมาะสมสำหรับคนขึ้นไปได้ เช่น ขนาด 0.60x0.60 เมตร การตรวจสอบให้ตรวจสอบสภาพความเรียบร้อย บริเวณที่เปิดต้องมีขอบรองรับแข็งแรง ขอบฝาไม่บิ่นหรือแตกเสียหาย


  • ชนิดฝ้าเหมาะสมกับการใช้งานหรือไม่

ในกรณีพื้นที่ใช้งานทั่วไป เช่น ห้องนอน ห้องพักผ่อน ห้องรับแขก สามารถใช้ฝ้าทั่วไปได้ แต่ถ้าเป็นห้องน้ำ ฝ้าภายนอก โรงจอดรถ หรือฝ้าชายคาควรเป็นฝ้าประเภททนชื้น โดยเนื้อวัสดุมีการผสมสารป้องกันการดูดซึมความชื้น การตรวจสอบสามารถดูได้จากที่ตัวผลิตภัณฑ์จะมีระบุข้อความชัดเจนว่า 'แผ่นยิปซัมทนความชื้น' หรือมีลักษณะด้านหลังและขอบฝ้าเป็นสีเขียว

ส่วนใหญ่พื้นที่ที่ตรวจสอบหรือเข้าถึงได้จะเป็นบริเวณใต้หลังคา โดยการปีนขึ้นใต้หลังคาจากช่องเซอร์วิส แล้วดูตำแหน่งฝ้าที่เป็นห้องน้ำและชายคาว่ามีลักษณะเป็นฝ้าทนชื้นหรือไม่ และหากพบว่าบริเวณดังกล่าวไม่ได้เป็นฝ้าทนชื้นควรแจ้งโครงการให้ทำการเปลี่ยนใหม่เป็นฝ้าทนชื้นแทน


  • ตรวจสอบความเรียบร้อยทั่วไป

สิ่งสุดท้ายที่ต้องตรวจสอบคือความเรียบร้อยทั่วไป เช่น งานสี ทาสีเรียบร้อย ไม่ด่าง หรือเป็นเม็ด รวมถึงตำแหน่งรูเจาะต่าง ๆ เช่น โคมไฟ ต้องไม่มีช่องห่างตามขอบรอบโคมไฟ ขอบระหว่างผนังและฝ้าแนบสนิทไม่มีช่องห่าง เป็นต้น


สรุปส่งท้าย

เป็นอย่างไรกันบ้างกับ 7 รูปแบบฝ้าเพดาน และ ทิปส์สำหรับการตรวจสอบงานฝ้า ที่ PropertyScout ได้นำมาฝากกัน ซึ่งก็มีหลายแบบที่ทุกคนเคยเห็น แต่อาจเรียกไม่ถูก หรือบางคนก็อาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าแบบนี้ก็มีด้วย หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคน ครั้งหน้าหากต้องการสร้างบ้านหรือรีโนเวทบ้าน ก็สามารถเลือกให้ตรงกับความต้องการ และรู้แล้วว่าเวลาตรวจรับบ้าน หรือรับงานจากช่าง ต้องดูที่จุดไหนบ้าง


อ่านบทความ รีวิวโครงการ อัปเดตข่าวเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ได้ที่ PropertyScout Blog

มีคำถาม ข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรือต้องการ เช่า ซื้อ ขาย

คลิกตามด้านล่างได้เลย