เกร็ดความรู้คนใช้รถ ‘หัวชาร์จรถ EV มีกี่แบบ’ ก่อนติดตั้งระบบชาร์จในบ้าน ควรรู้อะไรบ้าง?
สวัสดีครับ กระแสการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในเมืองไทยกำลังมาแรงทีเดียว เนื่องจากราคาน้ำมันที่ค่อนข้างสูง และในตอนนี้สถานการณ์ค่าฝุ่น PM 2.5 ในไทยนับวันยิ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้หลายคนหันมาสนใจรถยนต์ EV กันมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย แล้วยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย แต่เชื่อว่าหลาย ๆ คนก็คงมีข้อสงสัยกันว่า รถยนต์ EV รุ่นที่กำลังมอง ๆ อยู่นั้นต้องใช้หัวชาร์จแบบไหนกันแน่? ถ้าจะติดตั้งระบบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าภายในบ้าน ควรรู้อะไรบ้าง? ค่าชาร์จไฟรถ EV แพงแค่ไหน? ในบทความนี้ PropertyScout อยากพาทุกคนไปไขข้อสงสัยกันครับ
รถยนต์ประเภทไหนบ้างที่ต้องชาร์จไฟ
รถยนต์ Plug-In Hybrid (PHEV)
รถยนต์ Plug-In Hybrid (PHEV) คือ รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วย 2 ระบบ มีทั้งเครื่องยนต์สันดาปที่ใช้น้ำมัน และมอเตอร์ไฟฟ้าเหมือนกับรถยนต์ Hybrid ทั่วไป แต่มีฟังชั่นที่พิเศษกว่า โดยการมีความจุแบตเตอรี่ระบบไฮบริดที่มากกว่า กล่าวให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ แบตลูกใหญ่กว่านั่นเอง นอกจากนั้นยังสามารถเสียบปลั๊กชาร์จไฟฟ้าได้ด้วย
โดยส่วนใหญ่แล้วรถยนต์แบบ Pluged-In Hybrid (PHEV) ที่มีขนาดแบตเตอรี่ 6-14 กิโลวัตต์จะสามารถวิ่งด้วยโหมดไฟฟ้าล้วน (EV Mode) ได้ระยะทางประมาณ 25-50 กิโลเมตรต่อการชาร์จแบตเต็ม 1 ครั้ง
รถยนต์ไฟฟ้าล้วน (EV)
รถยนต์ไฟฟ้าล้วน (EV) คือ รถยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อน 100% โดยไม่มีเครื่องยนต์สันดาปภายในรถ และจะมีแบตเตอรี่ Hybrid ลูกใหญ่กว่า ความจุไฟมากกว่าในรถยนต์ PHEV นอกจากนั้นยังมีข้อดีในเรื่องของ 'Zero Emission' หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ทำให้เป็นการช่วยลดการปล่อยสารพิษต่าง ๆ สู่ชั้นบรรยากาศโลก
สำหรับระยะทางการวิ่งของรถยนต์ EV ที่มีแบตเตอรี่ขนาด 40-90 กิโลวัตต์นั้น จะอยู่ที่ประมาณ 300-600 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง
สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับการติดตั้งระบบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าภายในบ้าน
สำหรับคนที่กำลังมอง ๆ หรือเล็งที่จะซื้อรถยนต์ EV มาใช้งาน สิ่งแรกที่ควรศึกษาและทำความเข้าใจก็คือ 'ระบบไฟฟ้าภายในบ้านของเรา' เพราะหากติดตั้งระบบชาร์จไฟรถ EV ภายในบ้านไปแบบผิด ๆ อาจจะทำให้ระบบไฟฟ้าภายในบ้านมีปัญหาขึ้นมาได้
PropertyScout ขอแนะนำขั้นตอนการติดตั้งระบบชาร์จไฟรถ EV ดังนี้ครับ
ตรวจสอบขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าของบ้านตัวเอง
- โดยปกติแล้วขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าในบ้านพักอาศัยทั่วไปจะใช้เป็น 15 (45) 1 เฟส (1P) หมายถึงมิเตอร์ขนาด 15 แอมป์ (A) และสามารถใช้ไฟได้มากถึง 45 (A) สำหรับใครที่ต้องการชาร์จรถยนต์ EV ภายในบ้าน ทางการไฟฟ้าแนะนำให้เปลี่ยนขนาดมิเตอร์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 30 (100) เพื่อป้องกันการใช้ไฟฟ้าที่มากเกินไปครับ
เปลี่ยนสายเมน และลูกเซอร์กิต (MCB)
- สายเมน หรือสายประธาน คือสายไฟที่เดินจากมิเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาที่แผงเมนสวิตช์ หรือตู้เมนไฟฟ้า (MDB) นั่นเอง สำหรับสาย Main ของบ้านพักอาศัยทั่วไปจะใช้ขนาด 16 ตร.มม. ซึ่งไม่เพียงพอต่อการติดตั้งระบบชาร์จไฟรถ EV ดังนั้นต้องปรับให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 25 ตร.มม. และต้องเปลี่ยนลูกเซอร์กิต (MCB) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ป้องกันร่วมกับตู้เมนไฟฟ้า (MDB) จากที่เคยรองรับได้สูงสุด 45 (A) เปลี่ยนเป็น 100 (A) กล่าวให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ขนาดของมิเตอร์ สายเมน และลูกเซอร์กิต ต้องสอดคล้องกันครับ
ตรวจสอบช่องว่างสำหรับติดตั้ง Circuit Breaker ภายในตู้ควบคุมไฟฟ้า (MDB)
- การชาร์จไฟรถยนต์ EV จะต้องแยกใช้งานกับเครื่องไฟฟ้าอื่น ๆ และจะต้องมีลูกเซอร์กิตส่วนตัวแยก 1 ลูก ในกรณีที่ตู้ควบคุมไฟฟ้าเดิมไม่มีช่องว่างเหลือแล้วก็จะต้องติดตั้งตู้ควบคุมย่อยเพิ่มอีก 1 ตู้ครับ
เครื่องตัดไฟรั่ว (RCD)
- RCD เป็นเครื่องตัดวงจรไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ โดยจะทำงานก็ต่อเมื่อกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านเข้า-ออกมีค่าไม่เท่ากัน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรและเกิดเพลิงไหม้ตามมาได้ หากสายชาร์จไฟรถยนต์มีระบบตัดไฟภายในตัวอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องติดตั้ง RCD เพิ่ม อย่างไรก็ตามระบบชาร์จไฟรถ EV ที่ดีควรมีระบบการตัดไฟแบบ RCD type A ที่มีระบบตรวจจับ DC Leakage Protection 6 mA หรือการป้องกันกระแสไฟตรงรั่วไหลด้วยครับ
เต้ารับแบบ EV Socket
- สำหรับการเสียบชาร์จรถยนต์ EV จะต้องใช้เต้ารับแบบ EV Socket 3 รู ที่มีสายต่อหลักดิน และต้องทนกระแสไฟฟ้าได้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 16 (A)
รูปทรงอาจจะปรับเปลี่ยนตามรูปแบบปลั๊กของรถยนต์แต่ละรุ่น*
รูปแบบของ 'หัวชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า' ในประเทศไทย
หัวชาร์จไฟฟ้ากระแสสลับ 'AC'
หัวชาร์จแบบ AC คือ การชาร์จไฟแบบกระแสสลับ หรือชาร์จกับไฟบ้านนั่นเอง สำหรับการชาร์จแบบ AC นั้นไฟจะวิ่งผ่าน On Board Charger ที่อยู่บนรถยนต์ EV เพื่อทำการแปลงกระแสไฟจากกระแสสลับไปเป็นกระแสตรงก่อน หลังจากนั้นถึงค่อยชาร์จเข้าแบตเตอรี่ EV การชาร์จแบบ AC นั้นใช้ระยะเวลานาน เหมาะกับการชาร์จเอาไว้ข้ามคืนครับ โดยส่วนใหญ่แล้วก็จะใช้ระยะเวลาในการชาร์จประมาณ 4-7 ชั่วโมง ในการชาร์จจาก 0-80%
ประเภทของหัวชาร์จ AC
- Type 1 : 1 phase 32 A / 250 V
- Type 2 : 1 phase 70 A / 250 V , 3 phase 63 A / 480 V
ข้อดี-ข้อเสียของการชาร์จแบบ AC
- ข้อดี : ค่าชาร์จไฟถูก , ชาร์จรถยนต์ Plug-In Hybrid และรถยนต์ EV ได้ทุกรุ่น , ติดตั้งได้ที่บ้านและรองรับกำลังการชาร์จได้สูงสุด 22 kW ขึ้นอยู่กับระบบไฟฟ้าบ้าน ตู้ชาร์จ และรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นที่ใช้งานอยู่ว่าสามารถรองรับกำลังการชาร์จได้แค่ไหน , ไม่ทำให้แบตเตอรี่ร้อนมากนัก ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องแบตรถยนต์เสื่อม , ใช้งานง่าย จอดรถเสร็จสามารถเสียบปลั๊กชาร์จได้เลย
- ข้อเสีย : ใช้เวลาชาร์จนาน คนที่เร่งรีบต้องวางแผนการเสียบชาร์จดี ๆ , หากเจ้าของรถพักอาศัยในโครงการคอนโด หรือไม่ได้พักอาศัยในบ้านส่วนตัว ก็ไม่สามารถติดตั้งตู้ชาร์จได้
หัวชาร์จไฟฟ้ากระแสตรง 'DC'
หัวชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบ DC แตกต่างจากแบบ AC ตรงที่เป็น 'การชาร์จแบบกระแสตรง' โดยกระแสไฟนั้นจะไม่ผ่าน Onboard Charger ในตัวรถ แต่จะชาร์จเข้าสู่แบตเตอรี่โดยตรง ทำให้ชาร์จได้เร็ว หรือที่เรียกกันว่าระบบ 'Fast-Charging' นั่นเอง ซึ่งหัวชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบ DC โดยส่วนใหญ่จะเป็นหัวชาร์จที่อยู่ตามสถานีชาร์จสาธารณะ สามารถชาร์จแบตจาก 0-80% ได้ภายในระยะเวลาเพียง 40 นาที - 1 ชั่วโมงเท่านั้น
DC Charging ใช้ได้กับรถยนต์ EV เท่านั้น*
ประเภทของหัวชาร์จ DC
- CHAdeMo : 200 A / 600 V
- CCS COMBO : 200 A / 600 V , 200 A / 1000 V
ข้อดี-ข้อเสียของการชาร์จแบบ DC
- ข้อดี : ชาร์จไฟได้เร็ว , ช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางได้ดีโดยเฉพาะการขับรถทางไกล อย่างเช่นการแวะปั๊มน้ำมันที่มีสถานี Fast-Charging เพื่อชาร์จรถ เข้าห้องน้ำ พักทานขนม ดื่มเครื่องดื่มสัก 15 นาทีแล้วก็สามารถเดินทางต่อได้เลย แถมปริมาณไฟที่ได้ชาร์จไปก็ยังเพียงพอต่อการเดินทางหลักร้อยกิโลเมตรได้อย่างสบาย ๆ
- ข้อเสีย : ค่าชาร์จไฟแพงกว่าแบบ AC โดยในประเทศไทยมีราคาสูงสุดถึงหน่วยละ 6.5-7.7 บาทกันเลยทีเดียว , สถานีชาร์จยังไม่คลอมคลุมทุกพื้น สำหรับการเดินทางไกลต้องวางแผนการแวะสถานีชาร์จให้ดี , ตู้ชาร์จแบบ DC มีราคาแพงมาก หากจะติดตั้งในบ้านต้องเตรียบงบประมาณหลักหลายแสนจนถึงหลักล้าน , มีความยุ่งยากซับซ้อนในการใช้งาน การจะชาร์จครั้งนึงต้องมีการเปิดแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนเพื่อเชื่อมต่อกับตู้ชาร์จ ซึ่งในปัจจุบันก็มีหลากหลายแบรนด์เอามาก ๆ และตู้ชาร์จแต่ละแบรนด์ก็มีแอพพลิเคชั่นของตัวเอง มีเงื่อนไขการใช้งานที่แตกต่างกันไป วิธีการชำระเงินก็ต่างกันด้วย ทำให้ผู้ใช้งานต้องเรียนรู้สักระยะครับ
ค้นหาสถานีชาร์จในประเทศได้ที่
วิธีคำนวณค่าไฟฟ้าในการชาร์จรถยนต์ และค่าใช้จ่ายในการใช้รถเดินทาง
หลังจากที่ทราบกันแล้วว่ารถยนต์ประเภทไหนที่ต้องชาร์จไฟ ตลอดจนสิ่งที่ต้องรู้ก่อนติดตั้งระบบชาร์จในบ้าน และรูปแบบของของหัวชาร์จที่มีในไทย คราวนี้เราไปดูกันต่อว่า ค่าไฟฟ้าในการชาร์จรถยนต์ EV นั้นมีการคำนวณกันอย่างไรบ้าง และค่าใช้จ่ายในการใช้รถเดินทางจะอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่
ตัวอย่างการคำนวณค่าไฟฟ้าในการชาร์จรถยนต์ EV :
รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นหนึ่งมีกำลังชาร์จสูงสุดที่ 7 กิโลวัตต์ / ความจุแบตเตอรี่ 60 กิโลวัตต์ / และมีระยะทางวิ่งสูงสุดอยู่ที่ 400 กิโลเมตรต่อการชาร์จแบตเต็ม 1 ครั้ง หมายความว่า ในการชาร์จ 1 ชั่วโมงตัวรถจะสามารถเก็บพลังงานไฟฟ้าได้ 7 กิโลวิตต์ ดังนั้นการชาร์จไฟให้เต็ม 60 กิโลวัตต์ ต้องใช้เวลาประมาณ 8.5-9 ชั่วโมง
สมมุติว่าค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 5 บาท ต่อ 1 หน่วย
- ชาร์จรถยนต์ 1 ชั่วโมง : 7 x 5 x 1 = 35 บาท
- ชาร์จรถยนต์ 2 ชั่วโมง : 7 x 5 x 2 = 70 บาท
- ชาร์จไฟ 8.5 ชม คิดค่าไฟฟ้า = 7 x 5 x 8.5 = 297.5 บาท
สรุปได้ว่า เราชาร์จแบตเตอรี่รถจนเต็มมีค่าใช้จ่ายประมาณ 297.5 บาท เดี๋ยวเราไปลองคำนวณดูว่า รถยนต์ EV ที่สามารถวิ่งได้ 400 กิโลเมตรต่อการชาร์จแบตเต็ม 1 ครั้ง จะมีค่าใช้จ่าย บาท ต่อ กิโลเมตร อยู่ที่เท่าไหร่
297.5 บาท ÷ 400 กิโลเมตร = 0.74 บาท
สำหรับค่าใช้จ่ายต่อกิโลเมตรที่ 0.74 บาท เมื่อเทียบกับรถยนต์เครื่องเบนซินซึ่งอยู่ที่ประมาณ 4-5 บาท ทำให้รถ EV นั้นถือว่าให้ความประหยัด และช่วยเซฟค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้หลายเท่าตัวครับ
อย่างไรก็ตามก่อน จะดังนั้น ก่อนที่เราจะซื้อรถยนต์ต้องศึกษารายละเอียดของตัวรถยนต์ด้วย ว่าแบตเตอรี่ของรถยนต์ขนาดเท่าไร? On-Board รับพลังงานไฟฟ้าได้สูงสุดเท่าไหร่? ซึ่งมีผลกับความเร็วในการชาร์จ และค่าไฟบ้าน โดยค่าไฟฟ้าแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน แนะนำให้ติดต่อการไฟฟ้าของพื้นที่ตัวเองนะคะ
สรุปส่งท้าย
สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถ EV นั้นก็ถือว่าเป็นนวัตกรรมด้านยานยนต์ที่ช่วยทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และช่วยลดการปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลกได้เป็นอย่างมากครับ อย่างไรก็ตามก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์ EV ก็อย่าลืมศึกษารายละเอียดของการติดตั้งระบบชาร์จไฟภายในบ้าน หากอยู่คอนโดก็สามารถสอบถามข้อมูลเรื่องสถานีชาร์จ, ประเภทของหัวชาร์จกับทางนิติบุคคล
เมื่อมีข้อมูลเหล่านั้นครบถ้วนแล้วก็ไปดูเรื่องรายละเอียดของรุ่นรถยนต์ที่สนใจ ว่ามีระยะทางวิ่งสูงสุดอยู่ที่กี่กิโลเมตร? แบตเตอรี่ขนาดเท่าไหร่? Onboard Charger ในรถรุ่นนั้นสามารถรองรับกำลังไฟได้เท่าไหร่? เพราะมีผลกับความเร็วในการชาร์จ และที่สำคัญคืออย่าลืมคำนวณค่าไฟฟ้าด้วยนะครับ
PropertyScout หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนที่กำลังมองหารถยนต์ EV มาใช้อยู่นะครับ สำหรับใครที่มีความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ข้อติชมต่าง ๆ สามารถ Comment กันมาได้ที่ด้านล่างเลยครับ
มองหาคอนโดพร้อม 'จุดชาร์จรถยนต์ EV' คลิกเลย
อสังหา ฯ คุณภาพดี ไม่ว่าจะบ้าน คอนโด หรือที่ดิน มีให้เลือกมากมายที่ PropertyScout กว่า 250,000 ที่ทั่วประเทศไทย คลิกเลย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง คลิก