โฉนดที่ดินหาย ชำรุด แก้ปัญหาได้ไม่ยาก!
เชื่อว่าปัญหาโฉนดที่ดินหายหรือชำรุด เป็นปัญหาที่ไม่มีใครอยากให้เกิด เพราะถือว่าเป็นเอกสารทางราชการที่สำคัญมาก ๆ อย่างไรก็ตามเรื่องไม่คาดฝันสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะเป็นการถูกขโมย ลืมว่าเอาไปเก็บไว้ที่ไหน เปียกน้ำแล้วฉีกขาด หรือโดนไฟไหม้ หากว่าเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นมา เราควรทำอย่างไร? มีขั้นตอนการขอใหม่ที่ยุ่งยากหรือเปล่า? จะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง? ในบทความนี้ PropertyScout จะแนะนำขั้นตอนการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้กับทุกคนเองครับ
ขั้นตอนแรก : แจ้งความกับเจ้าพนักงานท้องถิ่น
เมื่อรู้ตัวว่าโฉนดที่ดินหาย หรือชำรุด อันดับแรกที่ต้องทำคือไปแจ้งความกับเจ้าพนักงานท้องถิ่น เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานยืนยันว่าเรา (ผู้ถือครองที่ดิน) ไม่ได้นำโฉนดที่ดินไปขาย จำนอง หรือเปลี่ยนชื่อเป็นของผู้อื่นและต้องการจะมาขอออกโฉนดเป็นชื่อเดิม ซึ่งหากพบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นจริงในภายหลัง บันทึกประจำวันนี้จะถูกใช้เป็นหลักฐานนำไปสู่คดีทางอาญาที่มีโทษร้ายแรงได้
โดยการไปแจ้งความนี้ก็เพื่อเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ว่าการจะไปขอออกโฉนดใหม่ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำการทุจริตใด ๆ นั่นเอง
*ต้องมีพยานรับรองการชำรุด / สูญหาย 2 คน
สำหรับหลักฐานที่สามารถรับรองว่าโฉนดที่ดินหายจริงถือเป็นเรื่องสำคัญมาก บางครั้งเพียงแค่บันทึกประจำวันอาจไม่เพียงพอสำหรับใช้เป็นหลักฐานในการออกโฉนดที่ดินใหม่ได้ ดังนั้นเพื่อความชัวร์สำนักงานที่ดินจึงได้กำหนดให้เจาของที่ดินต้องมีพยานรับรอง 2 คน โดยพยานของเราอาจจะเป็นคนสนิท คนในครอบครัว หรือเพื่อนบ้านที่รู้จักกันดีก็ได้ และพยานทั้ง 2 คนก็จะต้องนำบัตรประชาชนตัวจริงไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่สำนักงานที่ดิน รวมถึงกรอกเอกสารรับรอง พร้อมลงลายมือชื่อต่อหน้าเจ้าพนักงาน เพื่อรองรับว่าเราซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินได้ทำโฉนดชำรุดหรือสูญหายจริง และจำเป็นต้องขอออกโฉนดฉบับใหม่ ซึ่งหากเกิดปัญหาขึ้นมาในภายหลัง อย่างเช่น นำที่ดินไปจำนองแล้วมาขอออกโฉนดใหม่ พยานทั้ง 2 คนจะต้องเป็นพยานในชั้นศาลด้วยครับ
หลังจากที่ทำการแจ้งความลงบันทึกประจำวันเรียบร้อยและหาพยาน 2 คนมารับรองการทำโฉนดที่ดินชำรุดสูญหายได้แล้วเราก็สามารถนำใบบันทึกประจำวัน พร้อมพยาน 2 คนไปดำเนินการขอออกโฉนดใหม่ได้ที่สำนักงานที่ดินเลยครับ
ขั้นตอนที่สอง : ขอออกโฉนดใหม่
เตรียมหลักฐานและเอกสารต่าง ๆ
ก่อนจะทำเรื่องขอขอออกโฉนดใหม่ ก็จะต้องเตรียมหลักฐานและเอกสารต่าง ๆ ให้พร้อม โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 กรณีดังนี้ครับ
กรณีโฉนดที่ดินชำรุด แต่มีหลักฐานที่สามารถตรวจสอบได้
ในกรณีนี้หากมีหลักฐานตรวจสอบได้ เช่น มีตำแหน่งที่ดิน , เลขที่โฉนดที่ดิน , ชื่อและตราประจำตำแหน่งของผู้ว่าราชการจังหวัด , และ/หรือ ชื่อและตราประจำตำแหน่งของเจ้าพนักงานที่ดินตามลักษณะของแบบโฉนดที่ดิน โดยจะต้องมีหลักฐานประกอบ ดังนี้
- โฉนดที่ดิน
- บัตรประจำตัวผู้ขอโฉนดใหม่
- ทะเบียนบ้าน
- หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล (ถ้ามี)
กรณีโฉนดที่ดินชำรุด แต่ไม่มีหลักฐานที่สามารถตรวจสอบได้
ในกรณีที่โฉนดที่ดินชำรุด และ ไม่มีหลักฐานที่สามารถตรวจสอบได้ ให้เตรียมหลักฐาน เหมือนกับกรณีที่แล้ว แต่จะต้องดำเนินการตามนี้ครับ
- หาพยาน 2 คนพร้อมบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อให้เจ้าหน้าที่จะทำการสอบสวน
- กรณีสูญหาย เนื่องจากการกระทำความผิดทางอาญา ให้นำหลักฐานการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนไปประกอบคำขอด้วย
- ถ้าเป็นกรณีศาลสั่งหรือเจ้าพนักงานตามกฎหมายขอให้ออกใบแทนให้นำคำสั่งหรือคำพิพากษาอันถึงที่สุด หรือหนังสือร้องขอไปด้วยครับ
กรณีโฉนดที่ดินหาย หรือเจ้าของที่ดินเดิมเสียชีวิต
- ใบแจ้งความลงบันทึกประจำวัน
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขอออกโฉนดใหม่
- ทะเบียนบ้านของผู้แจ้ง หลักฐานการเปลี่ยนชื่อ สกุลของผู้แจ้ง (ถ้ามี)
- ใบมรณบัตรของเจ้าของที่ดินเดิม และให้ทายาทผู้รับมรดกนำเอกสารการรับมรดกที่ดินมาพร้อมยื่นทำรับโอนมรดกด้วยครับ
ติดต่อสำนักงานที่ดินขอออกโฉนดใหม่
หลังจากเตรียมหลักฐานต่าง ๆ เรียบร้อยแล้วก็สามารถไปติดต่อกับสำนักงานที่ดินในพื้นที่ของตัวเองได้เลยครับ โดยจะมีค่าธรรมเนียมอยู่ที่ประมาณ 75 บาท ซึ่งก็คือ ค่าคำขอ , ค่าติดประกาศ , ค่าโฉนดฉบับใหม่ (ใบแทนโฉนดที่ดิน) และสำหรับการขอออกโฉนดใหม่ก็จะมีอยู่ 12 ขั้นตอนดังนี้
- รับบัตรคิวจากประชาสัมพันธ์
- เจ้าหน้าที่รับคำขอและสอบถามข้อมูลผู้ขอโฉนดใหม่
- ตรวจสอบหลักฐาน ตรวจหนังสือมอบอำนาจ และพิจารณาสั่งการ
- ลงบัญชีรับทำการ
- ตรวจอายัดโฉนดที่ดินที่สูญหายหรือชำรุด
- เขียนใบสั่ง ใบเสร็จและรับเงินค่าธรรมเนียมคำขอ
- พิมพ์ประกาศ ในกรณีที่โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์สูญหาย
- เจ้าของที่ดินรับประกาศและนำเจ้าหน้าที่ไปปิดประกาศ
- ประกาศแจกที่ดินให้ปิดในที่เปิดเผย ณ สำนักงานที่ดินท้องที่ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ หรือที่ว่าการกิ่งอำเภอท้องที่ ที่ทำการแขวงหรือที่ทำการกำนันท้องที่และในบริเวณที่ดินนั้นแห่งละหนึ่งฉบับ ในเขตเทศบาลให้ปิดไว้ ณ สำนักงานเทศบาลอีกหนึ่งฉบับ
- ประกาศครบกำหนด 30 วัน ไม่มีผู้โต้แย้งคัดค้าน เบิกแบบพิมพ์ดำเนินการสร้างใบแทน
- เสนอเจ้าพนักงานที่ดินพิจารณาลงนามในใบแทน และแจ้งเจ้าของที่ดินมารับใบแทน
- มอบโฉนดที่ดินฉบับใหม่ (ใบแทนโฉนดที่ดิน) ให้กับเจ้าของที่ดิน เป็นอันเสร็จสิ้น
สำหรับโฉนดที่ดินใหม่นั้นก็จะไม่เหมือนกับฉบับเก่า แต่จะเรียกว่า 'ใบแทนโฉนดที่ดิน' นะครับ ซึ่งก็จะมีตัวอักษรสีแดงประทับบนเอกสารคำว่า 'ใบแทน' เป็นการระบุให้รู้ว่าเอกสารฉบับนี้สามารถสามารถใช้แทนโฉนดที่ดินฉบับเดิมที่เป็นของจริงได้ทุกกรณี อย่างเช่น เมื่อการทำนิติกรรมหรือเราต้องการซื้อขายที่ดินก็สามารถใช้ใบแทนโฉนดที่ดินฉบับนี้ได้เลยครับ
สรุปส่งท้าย
สำหรับคนที่โฉนดที่ดินหาย หรือชำรุด ก็ไม่ต้องเครียดหรือกังวลจนเกินไปนะครับ ในบทความนี้ PropertyScout ก็ได้แนะนำขั้นตอนการดำเนินการต่าง ๆ ไปให้หมดแล้ว อย่างไรก็ตามเอกสารโฉนดที่ดินนั้นถือว่าเป็นเอกสารที่มีความสำคัญมาก และจะเห็นได้ว่าการขอเอกสารใหม่นั้นก็จะมีขั้นตอนที่เยอะพอสมควร ดังนั้นขอแนะนำให้เก็บรักษาไว้ให้ดี ในที่ที่ปลอดภัยนะครับ
อ่านบทความ รีวิวโครงการ อัปเดตข่าวเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ได้ที่ PropertyScout Blog
มีคำถาม ข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรือต้องการ เช่า ซื้อ ขาย สามารถคลิกตามด้านล่าง ทีมงานของเราพร้อมให้บริการ!
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง คลิก