‘ถังเก็บน้ำ’ เลือกอย่างไรให้เหมาะกับบ้านของตัวเอง
เคยได้พูดถึงเรื่องการเลือก 'ปั๊มน้ำ' กันไปแล้ว คราวนี้มาต่อกันในเรื่องของการเลือก 'ถังเก็บน้ำ' หรือ 'แทงค์น้ำ' กันบ้างครับ ซึ่งถังเก็บน้ำนั้นถือเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์สำคัญในบ้านทุกหลัง เพราะคนเราใช้น้ำเฉลี่ยคนละ 200 ลิตรต่อวันกันเลยทีเดียว ทั้งสำหรับดื่มน้ำ นำมาประกอบอาหาร หรือการชำระล้างร่างกายหรือทำความสะอาดสิ่งต่าง ๆ ล้วนต้องใช้น้ำทั้ง ทำให้ถังเก็บน้ำกลายเป็นอุปกรณ์สำคัญประจำบ้านที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหากเกิดกรณีฉุกเฉินอย่างระบบจ่ายน้ำหรือน้ำประปาขัดข้องขึ้นมา ก็จะทำให้เรามีน้ำสำรองไว้ใช้ครับ ในบทความนี้ PropertyScout ก็จะพาทุกคนไปดูหลักการเลือกถังเก็บน้ำ เลือกอย่างไรให้เหมาะกับบ้านของตัวเอง เดี๋ยวไปดูกันครับ
คุณสมบัติของถังเก็บน้ำที่ดี มีอะไรบ้าง?
ต้องมีความคงทนแข็งแรง
ความแข็งแรงของตัวถังเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของถังเก็บน้ำที่จำเป็นต้องพิจารณาเป็นอันดับต้น ๆ เพื่อให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานครับ สามารถตรวจสอบได้โดยการวัดน้ำหนักถังเปล่า เพื่อดูว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ โดยค่าเฉลี่ยแล้วถังเก็บน้ำขนาด 1,000 ลิตร ควรมีน้ำหนักถังเปล่าประมาณ 30 กิโลกรัม รวมถึงเมื่อใส่น้ำไปแล้วจะต้องตรวจสอบความคงทน โดยตัวถังต้องไม่เสียรูปทรงครับ
นอกจากนั้น ในปัจจุบันถังเก็บน้ำมักมีการรับประกันอายุการใช้งานของสินค้าทั้งตัวถังและฝาถัง ซึ่งเราควรให้ความสำคัญกับระยะเวลาการรับประกันและรายละเอียดของสิ่งที่รับประกัน อย่างเช่น การบวม แตกกรอบ และการซีดของถังเก็บน้ำ โดยถังน้ำคุณภาพสูงส่วนมากมักจะให้ระยะเวลาประกันที่ยาวนาน และสามารถเรียกร้องขอเปลี่ยนใหม่หรือซ่อมแซมภายในระยะเวลาประกันได้ครับ
ต้องทำให้น้ำที่กักเก็บอยู่ภายในถังเป็นน้ำที่มีคุณภาพดี
นอกจากความแข็งแรงทนทานแล้ว เรายังต้องพิจารณาคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่มีผลต่อคุณภาพของน้ำภายในถังด้วย เพราะว่าเป็นน้ำที่เราต้องนำมาใช้ในชีวิตประจำวันครับ ซึ่งในปัจจุบันถังเก็บน้ำได้ถูกพัฒนาให้มีคุณสมบัติที่แตกต่างหลากหลาย อย่างเช่น บางรุ่นได้มีการใช้วัสดุที่มีส่วนผสมสารป้องกันรังสี UV เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพจากการโดนแสงแดด ช่วยยืดอายุถังเก็บน้ำที่อยู่กลางแจ้งได้ ส่วนถังบางรุ่นก็มีการเคลือบ Nano Silver ภายในเพื่อช่วยป้องกัน ยับยั้ง และทำลายจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนมากับน้ำครับ
หลักการเลือกถังเก็บน้ำเบื้องต้น
- เลือกถังเก็บน้ำที่ผลิตจากวัสดุคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ปราศจากการปนเปื้อนของสารตะกั่ว ปรอทและโลหะหนัก
- ควรเลือกถังเก็บน้ำแบบทึบแสงที่สามารถป้องกันตะไคร่น้ำ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารและโรคผิวหนัง
- เลือกถังเก็บน้ำที่ผลิตจากวัสดุที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค หรือ Food Grade
- ควรเลือกถังเก็บน้ำที่ใช้เทคโนโลยี Compounding หรือการใช้ความร้อนและแรงดันบีบอัดสีให้เป็นเนื้อเดียวกันกับเม็ดพลาสติก ทำให้สีไม่หลุดร่อนปนเปื้อนกับน้ำ
*เป็นเพียงคำแนะนำแบบเบื้องต้น สำหรับข้อมูลเชิงลึกควรสอบถามให้แน่ชัดจากทางผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายถังเก็บน้ำครับ
เลือกความจุของถังเก็บน้ำให้เหมาะสม
เมื่อทราบกันแล้วว่าคุณสมบัติของถังเก็บน้ำที่ดีควรเป็นอย่างไร ต่อไปเรามาดูวิธีเลือกความจุกันครับ สำหรับการเลือกซื้อถังเก็บน้ำกันควรเลือกขนาดที่เหมาะสมกับการใช้งาน โดยอิงจากปริมาณการใช้น้ำของสมาชิกในบ้าน โดยเฉลี่ยแล้วก็ประมาณคนละ 200 ลิตรต่อวัน
ให้นำปริมาณน้ำที่ใช้ต่อคนไปคูณกับจำนวนสมาชิกในบ้าน และจำนวนวันที่ต้องการสำรองน้ำให้เพียงพอ ก็จะได้ปริมาณการใช้น้ำทั้งหมดครับ
ตัวอย่างการคำนวณ
ครอบครัวมีจำนวนสมาชิก 5 คน จึงต้องซื้อถังเก็บน้ำที่มีปริมาณความจุคิดเป็น 200 x 5 = 1,000 ลิตร
หากต้องการสำรองน้ำประมาณ 2 วัน ควรซื้อถังเก็บน้ำ 1,000 x 2 = 2,000 ลิตร
อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำของแต่ละคนล้วนไม่เท่ากัน เพราะมีกิจกรรมที่แตกต่างกันไป โดยอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่า 200 ลิตรต่อวันก็เป็นได้ครับ โดยการเลือกขนาดความจุของถังเก็บน้ำตามจำนวนสมาชิกในครอบครัว ให้มีปริมาณน้ำสำรองเพียงพอสำหรับใช้งานได้ใน 1 วัน สามารถทำได้ดังนี้เลยครับ
- จำนวนผู้ใช้น้ำ 4 คน เลือกถังเก็บน้ำความจุ 800 ลิตร
- จำนวนผู้ใช้น้ำ 5 คน เลือกถังเก็บน้ำความจุ 1,000 ลิตร
- จำนวนผู้ใช้น้ำ 6 คน เลือกถังเก็บน้ำความจุ 1,200 ลิตร
- จำนวนผู้ใช้น้ำ 7-8 คน เลือกถังเก็บน้ำความจุ 1,600 ลิตร
- จำนวนผู้ใช้น้ำ 9-10 คน เลือกถังเก็บน้ำความจุ 2,000 ลิตร
ถังเก็บน้ำ 'ใต้ดิน' กับ 'บนดิน' ควรเลือกแบบไหน?
เป็นอีกคำถามที่หลายคนเกิดความสงสัยและไม่สามารถสินใจได้ว่าจะเลือกถังน้ำแบบ 'ใต้ดิน' หรือแบบ 'บนดิน' ดีกว่ากัน PropertyScout ก็มีคำแนะนำมาฝากกันครับ
ถังเก็บน้ำใต้ดิน เหมาะสำหรับบ้านที่มีพื้นที่จำกัดหรือต้องการความเป็นระเบียบเรียบร้อย เพราะสามารถช่วยประหยัดพื้นที่ และทำให้บ้านดูสวยงามเรียบร้อยกว่าครับ อย่างไรก็ตามถังเก็บน้ำใต้ดินก็มีขั้นตอนการติดตั้งยุ่งยากกว่า เนื่องจากต้องฝังฐานรากเพื่อลงเข็มให้แข็งแรง และเช่นเดียวกันการบำรุงรักษาและค่าซ่อมแซมก็จะต้องสูงกว่าถังแบบบนดินอยู่แล้ว รวมถึงสังเกตความผิดปกติได้ยากกว่าด้วยครับ
ในส่วนของถังเก็บน้ำบนดินนั้นก็จะต้องใช้พื้นที่ในการติดตั้ง และทำให้พื้นที่บ้านดูมีการจัดวางที่ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยเท่ากับบ้านที่ใช้ถังน้ำใต้ดิน แต่ก็มีข้อดีในเรื่องของการดูแลรักษาที่ง่ายกว่า สามารถมองเห็นความผิดปกติได้ชัดเจน รวมไปถึงสามารถซ่อมแซมและทำความสะอาดได้ง่ายกว่าด้วยครับ
สรุปส่งท้าย
PropertyScout หวังว่าทุกคนจะได้ประโยชน์จากบทความนี้ไปปรับใช้ไม่มากก็น้อยนะครับ หากได้ถังเก็บน้ำที่โดนใจ ตอบโจทย์การใช้งานแล้ว อยากขอฝากอีกทิปส์เรื่องถังเก็บน้ำให้กับทุกคนไว้ว่า อย่าลืมทำความสะอาดถังเก็บน้ำทุก 6 เดือน และเมื่อใช้งานไปแล้วก็หมั่นตรวจสอบถังเก็บน้ำอย่างสม่ำเสมอนะครับ เพื่อเป็นการตรวจสอบอุปกรณ์และรอยรั่วซึมต่าง ๆ ไปด้วยในตัวครับ
PropertyScout แหล่งรวมอสังหา ฯ ที่ดีที่สุดในประเทศไทย
หาทรัพย์ที่ชอบ ในราคาที่ใช่ ง่าย ๆ แค่ปลายนิ้ว
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง คลิก