รวมสัตว์อันตรายก่อกวนบ้านที่มาพร้อมกับ ‘หน้าฝน’ พร้อมวิธีป้องกันและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
หน้าฝนมาถึงแล้ว ซึ่งก็ได้นำพาความชุ่มชื้นมาให้ผู้อยู่อาศัยหลาย ๆ คนได้ชื่นใจกัน อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าเมื่อฝนตกแล้วเกิดน้ำท่วมขัง ก็จะทำให้มี สัตว์ชนิดต่าง ๆ หลุดเข้ามาให้บ้านของเราได้ ซึ่งบางชนิดก็เป็น สัตว์ร้าย ที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยอย่างเรา ๆ เสี่ยงต่ออันตราย บทความนี้ PropertyScout ก็จะพาทุกคนไป ทำความรู้จักกับสัตว์ชนิดต่างๆ ที่มากับหน้าฝน มีตัวอะไรบ้างที่เราควรรู้จักและศึกษาข้อมูลเอาไว้ เพื่อเป็นการ ป้องกันตัวเองและสมาชิกในบ้าน จากการถูก กัดต่อย หรือถูกทำให้ รำคาญกายและใจ พร้อมวิธีป้องกันและปฐมพยาบาลเบื้องต้น
สัตว์อันตรายก่อกวนบ้านที่มากับหน้าฝน มีอะไรบ้าง?
สำหรับสัตว์รบกวนที่มากับหน้าฝนก็จะมีอยู่หลายประเภทด้วยกัน มีทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ไม่มีพิษแต่มาพร้อมกับเชื้อโรคอันตราย ตลอดจนสัตว์เลื้อยคลานและแมลง/แมงชนิดต่าง ๆ ที่มีพิษ หากถูกกัดต่อยเข้าแล้วก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ หากผู้ถูกกัดมีอาการแพ้ก็จะต้องรีบหามส่งโรงพยาบาลกันเลยทีเดียว
งู
งูเป็นสัตว์มีพิษร้ายแรงอันดับต้น ๆ ที่ต้องระวังกันให้ดี เพราะในฤดูฝนแบบนี้งูมักจะหนีน้ำมาอาศัยบ้านคนอยู่ ไม่ก็มักจะเจองูขดตัวอยู่ในรองเท้า ตู้ไปรษณีย์ เป็นต้น บางทีก็อาจโผล่มาจากชักโครกก็เป็นได้
โดยจากข้อมูลของ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ระบุว่า งูพิษที่พบมากที่สุดในไทยคือ งูพิษที่มีผลต่อระบบประสาท ซึ่งก็จะมี งูเห่า , งูเห่าพ่นพิษสยาม , งูจงอาง , งูสามเหลี่ยม , โดยพิษงูจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอัมพาต โดยเริ่มจากกล้ามเนื้อมัดเล็กไปจนถึงมัดใหญ่ อาการหลังโดนงูกัดเริ่มต้นจึงจะหนังตาตก กลืนน้ำลายลำบาก พูดอ้อแอ้ ไปจนถึงหยุดหายใจ หัวใจล้มเหลวและเสียชีวิต
นอกจากนั้นยังมีงูมีพิษอีกประเภทหนึ่งที่พบได้บ่อยก็คืองูมีพิษต่อระบบเลือด เช่น งูแมวเซา , งูกะปะ , และงูเขียวหางไหม้ หากว่าโดนงูแมวเซาและงูกะปะกัดจะมีอาการปวดบวมรอบแผล หรือพบตุ่มน้ำเลือดและมีเลือดออกจากแผล ส่วนพิษงูเขียวหางไหม้จะทำให้เกิดอาการบวมลุกลาม เพราะพิษทำให้เลือดในกายไม่แข็งตัว จะพบเลือดออกไม่หยุดในอวัยวะภายใน อย่างช่องท้อง ไรฟัน สมอง หรืออาจทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันจนถึงแก่ชีวิตได้
การปฐมพยาบาลเมื่อถูกงูกัด
- พยายามอย่าขยับอวัยวะที่ถูกงูกัดเพราะการเคลื่อนไหวจะเร่งให้พิษกระจายไปตามร่างกายได้เร็วขึ้น จากนั้นให้ใช้ผ้าพันแผลชนิดยืดหยุ่นพันตั้งแต่เหนือรอยแผลที่โดยกัด ไปจนถึงเหนือข้อต่อของแขนหรือขา และต้องคลายผ้าทุก ๆ 15-20 นาที เพื่อป้องกันส่วนปลายขาดเลือด
- ล้างแผลบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาดหรือยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ หรือทิงเจอร์ไอโอดีน
- พยายามให้บริเวณที่ถูกงูกัดเคลื่อนไหวน้อยที่สุด สามารถทำการดามโดยใช้ไม้กระดานหรือกระดาษแข็งๆ และปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ
- ห้ามกรีดหรือดูดบริเวณที่ถูกกัด และไม่ควรใช้สมุนไพรพอก เพราะจะทำให้แผลสกปรกเกิดการติดเชื้อ และอาจเป็นบาดทะยักในภายหลังได้
- ดีสุดคือรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยที่ใกล้ที่สุด และนำซากงูที่กัดไปด้วย (ถ้ามี) หรือจดจำลักษณะงูที่กัด เพื่อความถูกต้องในการรักษา แต่ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาตามหางู แต่หากยังไม่สามารถพาผู็ป่วยไปโรงพยาบาลได้โดยทันที ให้ทำตามขั้นตอนในข้ออื่น ๆ ที่ได้กล่าวไปข้างต้น แล้วรีบหาทางติดต่อเรียกเจ้าหน้าทีฉุกเฉินให้ได้เร็วที่สุด
สำหรับงูนั้นก็จะมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ทั้งมีพิษและไม่มีพิษ หากถูกงูพิษกัดจะมีรอยเขี้ยว 1-2 แผลเสมอ เขี้ยวมีลักษณะเป็นรูกลวงคล้ายเข็มฉีดยา และมีเลือดออกซึม ๆ แต่ถ้าถูกงูกัดแล้วไม่พบรอยเขี้ยว เป็นแต่รอยถลอกหรือรอยถากเท่านั้น แสดงว่านั่นไม่ใช่งูพิษ
ทางทีดี หากโดนงูพิษกัดให้รีบโทร. แจ้งสายด่วน 1669 และให้ทำการปฐมพยาบาลตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
วิธีป้องกันไม่ให้งูเข้าบ้าน
- ปิดรูหรือช่องที่เป็นทางเข้าสำหรับงู เช่น ช่องโหว่ของหน้าต่างและประตูต่าง ๆ ให้มิดชิดและไม่มีช่องว่างให้งูเลื้อยเข้ามา
- ตรวจสอบและซ่อมแซมท่อน้ำตามจุดต่าง ๆ ที่รั่วหรือชำรุดแตกหัก เพราะงูมักชอบหาแหล่งน้ำเป็นที่อยู่อาศัย
- ไม่เก็บของเก่าที่มีช่องว่างให้งูซ่อนตัว อย่างเช่น กล่องเก็บของเก่าต่าง ๆ หากไม่ได้ใช้งานแล้วควรนำไปทิ้ง
- จัดเก็บอาหารสัตว์เลี้ยงให้อยู่ในที่ปลอดภัย เพื่อไม่ให้งูเข้าไปหากินได้
- ดูแลสภาพแวดล้อมรอบบ้านให้เรียบร้อย ตัดหญ้ารกสูง ไม่กองขยะหรือของเก่าเหลือใช้ต่าง ๆ อยู่รอบบ้าน
- ไม่ปลูกพืชในสวนที่มีลักษณะรก เพราะเอื้ออำนวยให้งูมาใช้เป็นที่อยู่อาศัย
คางคก
คางคกเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่มีพิษเป็นเมือกสีขาว ที่เรียกกันอย่างคุ้นหูกันว่า 'ยางคางคก' โดยต่อมพิษของคางคกจะอยู่ที่เส้นสันหลัง และเครื่องในบางส่วน ซึ่งหากเราโดนพิษคางคกสัมผัสผิว จะเกิดอาการระคายเคืองแต่ไม่มากพอจะส่งผลต่อระบบอื่น ๆ อีกได้
การปฐมพยาบาลเมื่อถูกพิษคางคก
- ในกรณีโดนพิษคางคกที่ผิวหนัง ให้รีบล้างทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำและสบู่ให้หมดจด
- หากผู้ป่วยเผลอกลืนพิษคางคกเข้าไปโดยอุบัติเหตุ ให้รีบนำตัวผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยด่วน
วิธีป้องกันไม่ให้คางคกเข้าบ้าน
แม้คางคกจะดีต่อระบบนิเวศในสวน คือ เป็นตัวช่วยกำจัดสัตว์ชนิดอื่น ๆ ได้ เช่น หอยทาก และแมลงต่าง ๆ แต่หากว่าไม่อยากให้มีคางคกเข้ามาภายในบ้าน ให้นำผงคลอรีนโรยรอบ ๆ บ้าน โดยเน้นบริเวณพื้นที่อับชื้นมากเป็นพิเศษ กลิ่นฉุนของคลอรีนจะทำให้คางคกไม่เข้าใกล้บริเวณนั้น
หนู
หนูเป็นสัตว์อีกชนิดที่ในหน้าฝนก็มักจะหนีน้ำขึ้นมาแอบตามบ้านเรือน ถึงแม้จะไม่มีพิษอันตรายแต่ก็เป็นสัตว์ที่มีเชื้อโรคเต็มไปหมด และเป็นพาหะนำโรคฉี่หนูที่มักจะระบาดในหน้าฝนด้วย นอกจากนั้นยังเป็นสัตว์ที่เพิ่มประชากรได้เร็วมาก ดังนั้นหากในบ้านมีหนูก็ควรต้องรีบป้องกันโดยด่วนก่อนที่คนในบ้านจะเจ็บป่วยกันเพราะหนู
วิธีป้องกันไม่ให้หนูเข้าบ้าน
- ปิดรูหรือช่องที่เป็นทางเข้าสำหรับหนู เช่น ช่องระหว่างขอบหน้าต่างและประตู
- ซ่อมแซมที่ชำรุดที่อาจเป็นทางเข้าสำหรับหนู เช่น รอยรั่วในระบบท่อน้ำทิ้งหรือรอยแตกตามผนัง และบนฝ้าเพดาน
- ไม่เก็บของเก่าที่ไม่ใช้แล้ว ซึ่งจะเป็นที่สำหรับให้หนูซ่อนตัวได้ เช่น กล่องเก็บของเก่าต่าง ๆ
- รักษาความสะอาดบ้านให้ดี ไม่ปล่อยให้มีอาหารหรือเศษอาหารตกค้าง ซึ่งเป็นการล่อหนูให้เข้ามาในบ้าน
- ล้างจานและเครื่องครัวทุกครั้งหลังใช้งาน เพื่อลดกลิ่นอาหารที่อาจดึงดูดหนูเข้ามา
- หากเป็นไปได้ ให้หลีกเลี่ยงการปลูกพืชผักหรือไม้ผลต่าง ๆ ในบริเวณรอบบ้านดเพราะเป็นเหมือนการเตรียมแหล่งอาหารให้กับหนู
- ใช้กล่องดักหนูหรือกับดักหนูในบริเวณที่มักพบเจออยู่บ่อยครั้ง เช่น ใต้อ่างล้างจานหรือหลังตู้เย็น
กิ้งกือ
ด้วยหน้าฝนที่เปียกแฉะกันทุกพื้นที่ คงไม่แปลกถ้าสัตว์ร้อยขาชวนขนหัวลุกอย่างกิ้งกือจะมาขออาศัยในมุมรก ๆ ชื้น ๆ ภายในบ้าน จึงต้องคอยตรวจสอบและจัดการไม่ให้มีกองสิ่งของหรือซอกหลืบที่กิ้งกือจะเข้าไปอยู่ได้ และเห็นกิ้งกือม้วนตัวกลม ๆ แข็งทื่อแบบนี้ กิ้งกือก็มีพิษเช่นกัน โดยกิ้งกือบางชนิดสามารถปล่อยพิษที่เป็นของเหลวออกจากบริเวณรอยต่อของข้อปล้องได้ หรือบางชนิดอาจปล่อยก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์ออกมาเพื่อป้องกันตัว ซึ่งจริง ๆ แล้วสารพิษดังกล่าวไม่ค่อยส่งผลกับร่างกายมนุษย์เราเท่าไร เว้นแต่ว่าคนที่มีผิวบอบบางแพ้ง่าย อาจเกิดอาการแสบ คัน หรือเห็นเป็นรอยแดง ๆ ตามผิวหนังที่สัมผัสกิ้งกือ แต่ทั้งนี้ก็ไม่เป็นอันตรายร้ายแรง
การปฐมพยาบาลเมื่อถูกพิษกิ้งกือ
- เมื่อโดนพิษกิ้งกือให้รีบทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่โดนพิษด้วยน้ำสะอาด และฟอกสบู่หลาย ๆ รอบ ซึ่งการทำความสะอาดอาจไม่ทำให้รอยแดง ๆ จางหาย แต่อย่างน้อยก็ช่วยลดพิษกิ้งกือ แบคทีเรีย และเชื้อโรคที่มาพร้อมกับกิ้งกือได้
- หากบางคนมีอาการแพ้ ก็ให้กินยาแก้แพ้ หากปวดก็กินยาแก้ปวด แล้วแผลจากกิ้งกือจะหายในที่สุด แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรือแพ้ค่อนข้างรุนแรง ให้รีบไปพบแพทย์
วิธีป้องกันไม่ให้กิ้งกือเข้าบ้าน
- คอยตรวจสอบและจัดการไม่ให้มีกองสิ่งของหรือซอกหลืบที่กิ้งกือจะเข้าไปอยู่ได้
- หากมีต้นไม้ใหญ่ชนิดที่ผลัดใบอยู่เรื่อย ๆ ควรกวาดเศษใบไม้ทิ้ง เพื่อกำจัดแหล่งอาหารอันโอชะของกิ้งกือ เพื่อจะได้ไปหาอาหารกินที่อื่น
- ใช้ลูกเหม็นช่วย โดยเพียงแค่โรยลูกเหม็นไว้ในบริเวณที่กิ้งกือชอบโผล่มา เท่านี้กิ้งกือจะหลบหน้าหายไปจากบ้านเราเอง
ตะขาบ
ในหน้าฝนที่สภาพภูมิอากาศชื้น ๆ อย่างนี้ เราก็จะเห็นตะขาบชุกชุมมากขึ้น ซึ่งพิษของตะขาบนั้นก็อันตรายใช่ย่อย โดยบนตัวตะขาบนั้นจะมีพิษอยู่ที่เขี้ยว 1 คู่ โดยอยู่ที่ปล้องแรกของลำตัว เมื่อโดนตะขาบกัดจึงจะเห็นเป็นรอยเขี้ยวมีจุดเลือด 2 จุด ลักษณะแผลเหมือนจะเป็นรอยไหม้ ซึ่งหลังจากกัดไปแล้ว พิษของตะขาบจะแพร่กระจายทำให้เกิดอาการบวมแดง ปวด แสบร้อน ในบางคนอาจจะถึงกับอาเจียน ปวดหัว มึนงง จนกระทั่งเป็นอัมพาตในบริเวณแผลที่ถูกตะขาบกัด หรืออาจได้รับเชื้อแบคทีเรียจากเขี้ยวของตะขาบแทรกซ้อนไปในแผลด้วย แต่ทั้งนี้พิษของตะขาบก็ไม่รุนแรงถึงกับทำให้เสียชีวิตได้ หากรีบทำการรักษาไม่ปล่อยไว้จนอาการลุกลาม
การปฐมพยาบาลเมื่อถูกพิษตะขาบ
- การดูแลเบื้องต้นเมื่อถูกตะขาบกัด ให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่นาน 30 วินาที แล้วใช้ผ้าห่อน้ำแข็งประคบ เพื่อช่วยลดอาการปวดบวม
- รับประทานยาแก้ปวดเมื่อรู้สึกปวด แต่หากมีอาการแพ้พิษตะขาบมาก ให้รีบนำตัวผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
วิธีป้องกันไม่ให้ตะขาบเข้าบ้าน
- ตะขาบอาศัยอยู่ตามที่ชื้น เมื่อเจอแหล่งความชื้นแล้ว ก็จะใช้เป็นจุดวางไข่และขยายพันธุ์อย่างน่าสยดสยอง เผลอเพียงแปบเดียว ก็จะกระจายไปอยู่ตามจุดต่าง ๆ ในบ้านอย่างรวดเร็ว จึงควรเช็กพื้นที่อับชื้นในบ้าน และทำให้แสงแดดส่องถึง รวมไปถึงทำความสะอาดมุมในบ้าน เพื่อกำจัดจุดที่อาจเป็นที่อยู่อาศัยของตะขาบได้
- ตะขาบมักจะเข้าบ้านผ่านทางท่อ ทั้งท่อห้องน้ำ หรือท่อน้ำในห้องครัว ซึ่งการปิดด้วยสบู่ก้อนจะช่วยได้ เพราะความด่างในสบู่จะทำให้ตะขาบกลัวอันตราย รวมไปถึงความลื่นจากสบู่ จะทำให้ตะขาบไต่ขึ้นมาไม่ได้ด้วย
แมงป่อง
พิษร้ายของแมงป่องซึ่งจะอยู่ที่ปลายหาง ทำให้ปวดแสบปวดร้อนทรมาน หรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เพียงแค่โดนต่อยเพียงครั้งเดียว โดยในตอนแรกที่โดนต่อยจะรู้สึกปวดแปล๊บแบบฉับพลัน หลังจากนั้นใน 30 นาทีต่อมาจะรู้สึกปวดมาก มีอาการบวมแดงและแสบร้อนที่แผล ปวดหัว อาเจียน มีไข้สูง หัวใจเต้นเร็ว ซึ่งหากไม่รีบรักษาอาจมีอาการชัก และน้ำคั่งปอดตามมาได้ และอาจเสียชีวิตจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ระบบหายใจล้มเหลว
การปฐมพยาบาลเมื่อถูกพิษแมงป่อง
- เมื่อถูกแมงป่องต่อยให้ล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ จากนั้นประคบแผลด้วยผ้าห่อน้ำแข็ง เพื่อบรรเทาอาการปวดและให้เส้นเลือดหดตัว ซึ่งจะช่วยให้พิษกระจายตัวได้ช้าลง จากนั้นรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์
วิธีป้องกันไม่ให้แมงป่องเข้าบ้าน
- ทำความสะอาดสวนในบ้านให้โล่ง โปร่ง ทุกซอกทุกมุม โดยพยายามอย่าให้มีซอกหลืบ เช่น ใต้กระถาง พื้นใต้หิน ให้แมงป่องเข้าไปหลบซ่อนตัว
- ปิดทุกทางเข้า-ออก โดยเฉพาะร่องใต้ประตู หรือกำแพงที่มีรูโหว่ก็ควรซ่อมแซมให้มิดชิด และพยายามอย่าเปิดประตูทิ้งไว้
- ท่อน้ำก็ควรปิดด้วยฝาตะแกรงให้เรียบร้อย
- วางน้ำมันหอมระเหยกลิ่นลาเวนเดอร์หรือกลิ่นซิตรัสในจุดเสี่ยง เช่น รอบ ๆ บ้าน ประตูที่เชื่อมออกไปยังสวน หรือจุดที่มีความอับชื้นค่อนข้างสูงอย่างห้องน้ำ ในครัว บริเวณซักล้าง เพราะแมงป่องจะไม่เข้าใกล้กลิ่นดังกล่าว
แมลงก้นกระดก
แมลงก้นกระดกหรือในชื่อ ด้วงก้นกระดก ด้วงปีกสั้น ด้วงก้นงอน และแมลงเฟรชชี่ จะพบได้มากบริเวณใกล้แหล่งน้ำ นาข้าว หรือตามพงหญ้า โดยเฉพาะในหน้าฝนจะมีการแพร่พันธุ์ของแมลงชนิดนี้ในต่างจังหวัด หรือบนตึกสูง ๆ ก็พบได้บ้างเช่นกัน
ทั้งนี้ แมลงก้นกระดกก็ไม่ใช่สัตว์ปีกที่น่าคบหาเท่าไร เพราะมีพิษแสบร้อนมาก เนื่องจากของเหลวในร่างกายของแมลงก้นกระดกจะมีสาร พีเดอริน (Paederin) เป็นส่วนประกอบ ซึ่งสารพิษชนิดนี้สามารถทำลายผิวหนังและเซลล์เนื้อเยื่อ เมื่อเราสัมผัสโดน แมลงก้นกระดกก็จะปล่อยของเหลวออกมา ทำให้ปวดร้อน คัน ปวดแสบ ผิวไหม้ มีผื่นแดง ตุ่มน้ำ เป็นหนองขึ้นตามบริเวณผิวหนังที่โดนสัมผัส
การปฐมพยาบาลเมื่อถูกพิษแมลงก้นกระดก
- เบื้องต้นเมื่อโดนพิษจากแมลงก้นกระดก ให้รีบล้างด้วยสบู่และน้ำสะอาด หรือใช้น้ำเกลือสำหรับล้างแผลล้างทันที
- หากเกิดตุ่มน้ำและรอยแดงขึ้นแล้วสามารถทายาเพื่อรักษารอยแดงซึ่งจะหายไปเองประมาณ 2-3 วัน แต่หากมีอาการรุนแรงเนื่องจากแพ้พิษให้รีบพบแพทย์ แพทย์จะใช้ยาประเภทสเตียรอยด์ในการรักษา ส่วนรอยดำที่เกิดขึ้นจะค่อยๆ จางและหายไปเอง ไม่เป็นแผลเป็น
วิธีป้องกันไม่ให้แมลงก้นกระดกเข้าบ้าน
- ติดมุ้งลวดหน้าต่างและประตู
- ปิดประตู หน้าต่างให้สนิทก่อนฟ้ามืด เพื่อป้องกันแมลงก้นกระดกบินตามแสงไฟเข้ามาในบ้าน
- เปลี่ยนหลอดไฟเป็นสีเหลืองแทนสีขาว
- หากพบแมลงชนิดนี้ชุกชุมบริเวณที่พักอาศัย ให้ตรวจหาและกำจัดแหล่งน้ำที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์
- เมื่อพบเห็นหรือถูกแมลงชนิดนี้เกาะที่ร่างกาย ห้ามตีหรือขยี้ด้วยมือเปล่า ให้ใช้ผ้าหรือกระดาษเขี่ยแมลงนี้ออกไปและรีบล้างผิวหนังบริเวณที่สัมผัสกับแมลงด้วยน้ำและสบู่ให้เร็วที่สุด
- ปลูกดอกไพรีทรัมแซมกับต้นไม้ในสวนและผักสวนครัว กลิ่นจากดอกไม้ชนิดนี้มีคุณสมบัติออกฤทธิ์ทำลายระบบประสาทของแมลง ทำให้สลบและตายในที่สุด
- ฉีดสเปรย์กำจัดแมลงสูตรไร้สารเคมีบริเวณหลอดไฟและพื้นที่รอบเตียงนอน
- ล่อแมลงไม่ให้บินเข้ามาบ้านด้วยการติดไฟล่อแมลง โดยให้ติดไว้ในพื้นที่ที่ห่างจากตัวบ้าน
- กำจัดแหล่งที่อยู่ของแมลงก้นกระดกด้วยการตัดหญ้ารอบบ้านให้สั้นอยู่เสมอ
- เศษอาหารและเศษผักให้ใส่ถุงดำมัดปากให้แน่น นำไปทิ้งถังขยะนอกบ้าน เนื่องจากเศษอาหารเหล่านี้เป็นแหล่งอาหารของแมลงก้นกระดกเช่นกัน
แมลงสาบ
ในหน้าฝนที่สภาพภูมิอากาศชื้น ๆ แมลงสาบมักหาที่แห้งอยู่อาศัย และเข้ามายังบ้านคน ซึ่งแมลงสาบยังเป็นพาหะนำเชื้อโรคมาสู่คนได้หลายโรค เช่น กาฬโรค บิด ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ ฯลฯ นอกจากนี้ในตัวแมลงสาบยังมีพยาธิหลายชนิดที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์เช่น พยาธิไส้เดือนกลม พยาธิปากขอ พยาธิตัวตืดแคะ เป็นต้น
วิธีป้องกันไม่ให้แมลงสาบเข้าบ้าน
- ตรวจสอบและปิดช่องทางที่แมลงสาบสามารถใช้เป็นทางเข้าได้ เช่นช่องว่างของประตู , หน้าต่าง , ช่องโหว่บริวณพื้นกับผนังบ้าน โดยใช้ซิลิโคนหรือวัสดุปิดรอยรั่ว
- รักษาระเบียงบ้านและบริเวณรอบบ้านให้ดี ไม่ควรปล่อยให้มีขยะสกปรก
- กำจัดวัชพืชรอบบ้าน เพราะสามารถเป็นที่หลบอาศัยแมลงสาบได้
- มีแสงไฟภายนอกบ้านในจำนวนที่เหมาะสม เพราะแมลงสาบถูกดึงดูดด้วยแสงไฟ ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้แมลงสาบเข้าสู่บ้าน ให้ใช้ไฟเลี้ยงในบริเวณภายนอกบ้านให้เหมาะสม เช่น ใช้ไฟตามผนังนอกบ้านและในบริเวณสวน
- ใช้สารเคมีช่วย แต่ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสมและปฏิบัติตามคำแนะนำเกี่ยวกับความปลอดภัย
ยุง
เมื่อถึงหน้าฝน ทำให้มีน้ำขังตามแหล่งต่าง ๆ และเป็นแหล่งกำเนิดยุงมากมายหลายสายพันธุ์ นอกจากยุงจะกัดจนเป็นตุ่มคันแล้ว ยังนำโรคติดต่ออื่น ๆ มาให้เราอีกด้วย โดยเฉพาะ ยุงลาย ที่เป็นพาหะนำ โรคไข้เลือดออก นั่นเอง ดังนั้นในช่วงหน้าฝนอย่างนี้เราก็ควรป้องกันยุงไม่ให้ออกอาละวาดในพื้นที่บ้านจนทำให้เสี่ยงโรค
วิธีลดอาการบวมจากการถูกยุงกัด
- หากถูกยุงกัดควรทำความสะอาดผิวหนังในจุดที่ถูกกัดด้วยน้ำและสบู่ แล้วซับให้แห้ง จากนั้นประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการบวมโดยประคบตรงที่ถูกกัดประมาณ 10 นาที หรือหากไม่สะดวกประคบเย็น ก็สามารถทายารักษาแมลงสัตว์กัดต่อยแทนกันได้
- ใช้ยาแก้แพ้ สำหรับผู้ที่แพ้ยุงที่มีอาการไม่รุนแรง ยาแก้แพ้จะช่วยยับยั้งการหลั่งสาร ฮิสตามีน (Histamines) ซึ่งจะหลั่งออกมามากขึ้นเมื่อร่างกายสัมผัสกับสารที่แพ้ ในกรณีนี้คือสารบางอย่างจากน้ำลายของยุงที่เข้าสู่ร่างกายผ่านการกัดทำให้เกิดอาการแพ้ สามารถช่วยบรรเทาอาการผื่นแดงคันและอาการบวมเล็กน้อยได้เท่านั้น หากมีอาการรุนแรงมากขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- ห้ามเกาบริเวณรอยที่ถูกยุงกัด เพราะเป็นการกระตุ้นให้อาการคันและการอักเสบบนผิวหนังเป็นมากขึ้น และยังทำให้ผิวบริเวณที่ถูกยุงกัดเกิดรอยแผลขนาดเล็กขึ้นด้วย
วิธีป้องกันไม่ให้ยุงเข้าบ้าน
- ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงทั้งภายในและภายนอกบ้าน
- เลือกประตูหน้าต่างที่มีมุ้งลวด ป้องกันยุง
- ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท โดยเฉพาะเวลาช่วงเย็น-พลบค่ำ
- จุดยากันยุง น้ำมันหอมระเหย และทาโลชั่นป้องกันยุง
- จัดบ้านให้สว่างและปลอดโปร่ง ลดพื้นที่มืดยุงชุกชุม
- ใช้เครื่องดักยุงช่วย
สรุปส่งท้าย
หวังว่าข้อมูลข้างต้นในบทความนี้จะช่วยให้ทุกคนดูแลตัวเองและครอบครัวให้ห่างไกลอันตรายที่อาจมาพร้อมสัตว์เหล่านี้ได้ และสำหรับในหน้าฝนนี้ก็เป็นช่วงเวลาสุดโปรดของ สัตว์อันตรายต่าง ๆ ซึ่งบางชนิดก็เป็น สัตว์มีพิษ ที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ดังนั้นขอแนะนำให้ทุกคน ระมัดระวังให้ดี อย่าลืมทำความสะอาดรอบ ๆ และภายในบ้านให้สะอาดโปร่งตา จะได้ไม่เป็นที่ซ่อนตัวของสัตว์มีพิษร้ายที่อาจทำร้ายตัวเองหรือสมาชิกในครอบครัวโดยไม่ตั้งใจ ด้วยความห่วงใยจากทีมงาน PropertyScout
อ่านบทความ รีวิวโครงการ อัปเดตข่าวเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ได้ที่ PropertyScout Blog
หรือต้องการ เช่า ซื้อ ขาย คลิกตามด้านล่างได้เลย