‘รางน้ำฝน’ เลือกให้ดี ติดตั้งให้ถูก ระบายน้ำได้ดียิ่งขึ้น!
ในยามที่เกิดฝนฟ้าคะนอง หลังคาหรือดาดฟ้าบ้านก็จะต้องรับหน้าที่ไปแบบเต็ม ๆ ทำให้ 'รางน้ำฝน' กลายเป็นอีกส่วนสำคัญที่ต้องทำงานหนักไม่แพ้กันทีเดียว หากว่าเลือกใช้รางน้ำฝนที่มีคุณภาพ และติดตั้งอย่างถูกวิธี ก็จะช่วยป้อมกันไม่ให้พื้นที่ภายในรั้วบ้านของเราเสียหาย จากน้ำฝนที่ไหลลงมาจากหลังคาโดยตรง อย่างเช่น หญ้าและต้นไม้ที่อยู่ในสนามเน่าตาย ผนังบ้านเลอะเทอะ หรือน้ำรั่วซึมเข้ามาภายในบ้าน เป็นต้น
ในบทความนี้ PropertyScout จะพาทุกคนไปดูกันว่ารางน้ำฝนมีกี่ประเภท ติดตั้งรางน้ำฝนให้ถูกวิธี ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพทำได้อย่างไรบ้าง? และเมื่อติดตั้งไปแล้วมีวิธีดูแลอย่างไรเพื่อยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานขึ้น
ประโยชน์ของการติดตั้งรางน้ำฝน มีอะไรบ้าง?
'รางน้ำฝน' เป็นอุปกรณ์รางน้ำที่ติดอยู่รอบชายคา มีหน้าที่หลักในการช่วยรองรับน้ำฝนจากหลังคาให้ไหลไปยังท่อระบายน้ำ หรือจุดที่แต่ละบ้านกำหนดไว้ หรือจะนำมาเก็บไว้ในตุ่มเพื่อไว้ใช้สอย ช่วยประหยัดน้ำประปาได้อีกทาง พูดง่าย ๆ ก็คือรางน้ำฝนมีส่วนช่วยให้น้ำฝนไหลรวมจากรางน้ำและไหลลงสู่ด้านล่างอย่างเป็นระเบียบนั่นเองครับ ซึ่งมีประโยชน์กับบ้านของเราอีกหลายอย่าง ดังนี้
- ป้องกันสวนหรือต้นไม้ในบ้านจากน้ำขัง
หากภายในบริเวณบ้านมีการปลูกสนามหญ้า หรือต้นไม้สวยงาม หากไม่มีรางน้ำฝนช่วยป้องกันน้ำที่ไหลจากหลังคา จะทำให้น้ำไหลลงสู่พื้นหญ้าและสวนต้นไม้โดยตรง อาจทำให้ต้นไม้เสียหายหรือตายได้ และยังทำให้ดินกลายเป็นหลุมน้ำขังอีกด้วย
- ป้องกันผนังและเฟอร์นิเจอร์นอกบ้านเสียหาย
หากน้ำฝนไหลลงมาจากหลังคาโดยตรง จะกระแทกโดนพื้นทำให้เศษดินกระเด็นมาโดนผนัง หรือเฟอร์นิเจอร์นอกบ้านเปรอะเปื้อนได้ หากมีรางน้ำฝนก็จะแก้ปัญหาจุดนี้ได้
- ป้องกันปัญหากับเพื่อนบ้าน
น้ำฝนจากหลังคาอาจกระเด็นข้ามไปรบกวนเพื่อนบ้านได้ หากไม่มีรางน้ำฝน ทำให้เกิดปัญหากับเพื่อนบ้านภายหลังนั่นเอง แต่การติดตั้งรางน้ำฝนก็ต้องระวังไม่ให้ล้ำเขตไปยังพื้นที่เพื่อนบ้านด้วย
รางน้ำฝนมีกี่ประเภท?
รางน้ำฝนอลูมิเนียม
รางน้ำฝนชนิดอลูมิเนียม เป็นชนิดที่ผลิตเป็นชิ้นเดียวมีรอยต่อน้อย ปลอดภัยจากการรั่วซึม นอกจากนั้นอลูมิเนียมก็ยังเป็นวัสดุที่ตอบโจทย์การทำรางน้ำฝน เพราะทนต่อการกัดกร่อน ไม่ค่อยเกิดสนิม และที่สำคัญมีน้ำหนักเบา จึงขนย้ายไปติดตั้งได้สะดวก แถมยังมีสีสันให้เลือกหลายแบบมากกว่ารางน้ำฝนโลหะประเภทอื่น ๆ
ข้อดี: น้ำหนักเบาแต่แข็งแรงทนทาน ติดตั้งได้สะดวก ปลอดภัยจากปัญหารั่วซึม
ข้อเสีย: ราคาสูง
รางน้ำฝนสแตนเลส
สแตนเลสเป็นวัสดุที่ขึ้นชื่อเรื่องความแข็งแรง แถมยังไม่เป็นสนิมแม้โดนน้ำและความชื้นเป็นเวลานาน จึงกลายเป็นวัสดุชนิดที่เหมาะกับการนำมาผลิตเป็นรางน้ำฝน หากเลือกใช้รางน้ำฝนชนิดนี้ ควรเลือกสแตนเลสเกรดมาตรฐาน 304 ซึ่งมีคุณสมบัติทนทาน ทนต่อทั้งกรดและด่าง เพื่อให้ใช้งานได้อย่างยาวนาน คุ้มค่าแก่การลงทุน
ข้อดี: แข็งแรงทนทานมาก ปลอดภัยจากสนิม หากเลือกสแตนเลสเกรดมาตรฐานอย่าง 304 ก็จะใช้งานได้ยาวนาน
ข้อเสีย: อาจเกิดปัญหารั่วซึมบริเวณรอยต่อหากช่างเชื่อมไม่ได้คุณภาพ
รางน้ำฝนสังกะสี
สำหรับใครที่อยากประหยัดงบประมาณในกระเป๋า รางน้ำชนิดสังกะสีถือเป็นรางน้ำที่ตอบโจทย์เพราะมีราคาถูก หาซื้อได้ง่าย โดยส่วนใหญ่ช่างจะใช้วิธีนำแผ่นสังกะสีมาเชื่อมให้เป็นรางน้ำ แต่ด้วยการที่ไม่ได้เป็นรางน้ำที่ผลิตขึ้นแบบสำเร็จ บางครั้งอาจจะทำให้มีปัญหาเรื่องความสวยงาม และปัญหารั่วซึมตามมาได้ ดังนั้นควรหาช่างที่เก่งเรื่องงานเชื่อม
ข้อดี: ราคาถูกกว่าวัสดุประเภทอื่น หาซื้อได้ทั่วไป เหมาะกับผู้ที่ต้องการประหยัดงบประมาณ
ข้อเสีย: รูปแบบไม่ค่อยสวยงามเท่าไหร่ และมีอายุการใช้งานที่สั้นกว่า เสี่ยงต่อการเกิดสนิม ปัญหารั่วซึมต่าง ๆ
รางน้ำฝนเหล็กเคลือบกัลวาไนซ์
รางน้ำเหล็กเคลือบกัลวาไนซ์ เป็นรางน้ำที่ผลิตขึ้นแบบสำเร็จรูปมาจากโรงงาน ช่วยให้มั่นใจได้ในเรื่องขนาดและรูปทรงที่มีมาตรฐาน และเป็นเหล็กเคลือบทำให้แข็งแรงทนทานมาก และยังทนทานต่อการกัดกร่อน หรือรอยขีดข่วนที่เกิดจากสิ่งแปลกปลอมที่มาพร้อมน้ำฝน อีกทั้งยังมีน้ำหนักเบาจึงติดตั้งได้อย่างสะดวก
ข้อดี: ขนาดและรูปทรงได้มาตรฐาน ติดตั้งได้สะดวก รอยต่อสามารถเชื่อมติดกันได้ ไม่ต้องกังวลเรื่องรั่วซึม
ข้อเสีย: ราคาค่อนข้างสูง หาซื้อได้ยาก
รางน้ำฝนพีวีซี
รางน้ำพีวีซี มีสีสันให้เลือกหลายแบบตอบโจทย์การแต่งบ้านได้ดี และเป็นพลาสติกคุณภาพสูง ที่ถูกพัฒนาให้แข็งแรงทนทานมากยิ่งขึ้น แถมยังไม่เป็นสนิม ทำให้เป็นรางน้ำชนิดที่เหมาะกับนำมาติดตั้งที่บ้าน โดยพีวีซีนั้นมีราคาไม่สูง มีระดับราคาให้เลือกตามเกรด ติดตั้งง่าย อายุการใช้งานก็ยาวนานครับ
ข้อดี: ราคาไม่สูง ติดตั้งง่าย มีสีสันให้เลือกหลายแบบ
ข้อเสีย: คุณภาพขึ้นอยู่กับระดับราคาที่เลือกใช้ หากเลือกแบบที่มีราคาถูกมาก ๆ อาจจะเป็นพีวีซีเกรดต่ำ ใช้งานไปสักระยะสามารถกรอบแตกได้
รางน้ำฝนไฟเบอร์กลาส
อีกหนึ่งวัสดุรางน้ำฝนที่เข้ากับบ้านได้หลายสไตล์หนีไม่พ้นรางน้ำไฟเบอร์กลาส เพราะว่าเป็นวัสดุสังเคราะห์อีกประเภทที่นิยมใช้ทำรางน้ำ เพราะทนทานสูง ไม่เป็นสนิม มีจุดเด่นสำคัญที่ไร้รอยต่อ สามารถสั่งทำเป็นชิ้นเดียวได้ โดยเลือกตามความยาวที่ต้องการ นอกจากนั้นยังมีให้เลือกหลายสี และมีอายุการใช้งานยาวนานระดับ 10 ปีเลยทีเดียว
ข้อดี: แข็งแรง ทนทาน ใช้งานได้อย่างยาวนาน และไม่มีรอยต่อ ช่วยป้องกันปัญหารั่วซึม
ข้อเสีย: ราคาค่อนข้างสูง ต้องใช้ช่างเฉพาะทางมาติดตั้ง
ปัจจัยในการเลือกประเภทรางน้ำฝนให้เหมาะกับบ้าน
หากต้องการเลือกรางน้ำฝนเพื่อนำมาใช้งานที่บ้าน จะต้องพิจารณาจากหลาย ๆ อย่าง เพื่อให้เหมาะสมกับบ้าน และไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้าน รวมถึงสมาชิกให้มากที่สุด โดยมีหลักการพิจารณาง่าย ๆ ดังนี้
- ขนาดพื้นที่หลังคา
หากหลังคามีขนาดใหญ่ ควรเลือกขนาดรางน้ำให้เหมาะสม โดยปัจจุบันขนาดรางน้ำมีให้เลือกทั้งขนาด 4, 5 และ 6 นิ้ว หากหลังคาขนาดใหญ่ควรเลือกขนาด 5 นิ้วขึ้นไป และหากหลังคามีความยาวมาก ควรเพิ่มรูระบายน้ำหลาย ๆ จุด เพื่อให้สามารถระบายน้ำฝนได้ทัน
- การติดตั้ง
โดยปกติรางน้ำฝนจะติดตั้งกับเชิงชายหรือไม้ปีกนกโดยการใช้ตะปูหรือน็อต หรือรางน้ำบางประเภท เช่น รางน้ำฝนสังกะสีจะใช้การแขวนกับจันทัน การติดตั้งรางน้ำหากเป็นการติดตั้งบริเวณหลังคาโรงจอดรถ หรือหลังคา หากอุปกรณ์ครบก็สามารถติดตั้งเองได้ แต่หากเป็นบ้านเดี่ยว หรือทาวน์โฮม 2 ชั้น ควรใช้บริการช่างจะดีกว่า เพราะบางวัสดุ เช่น รางน้ำฝนไฟเบอร์กลาสต้องใช้ช่างเฉพาะทางมาติดตั้ง
- งบประมาณ
เป็นปัจจัยที่หลายคนใช้พิจารณาเป็นอันดับแรก ซึ่งรวมถึงค่ารางน้ำฝน และค่าติดตั้ง ลองสำรวจราคาจากร้านที่รับติดตั้งรางน้ำ ทั้งค่าวัสดุและค่าติดตั้งดูว่าแบบไหนถึงเหมาะกับงบประมาณมากที่สุด
- คุ้มค่า
หากให้ความสำคัญกับความคุ้มค่า ควรพิจารณาจากวัสดุของรางน้ำฝนเป็นอันดับแรก โดยปัจจุบันมีให้เลือกหลายประเภท และหลายขนาด หากมองหาความคุ้มค่าก็ควรเลือกรางน้ำอะลูมิเนียม ซึ่งมีอายุการใช้งานนานกว่ารางน้ำฝนประเภทอื่น
- ความสวยงาม
หากต้องการเลือกรางน้ำฝนที่เข้ากับสีสันของหลังคาหรือตัวบ้าน ควรเลือกรางน้ำฝนชนิดที่มีสีให้เลือก อย่างเช่น รางน้ำฝนไฟเบอร์กลาส หรือรางน้ำฝนอะลูมิเนียม แทนรางน้ำฝนสังกะสี
ได้รู้จักกับรางน้ำแต่ละประเภทกันไปมากขึ้นแล้ว แต่นอกจากรางน้ำที่ควรรู้จักแล้ว วิธีติดตั้งก็สำคัญไม่แพ้กัน ถึงแม้จะไม่ได้เป็นผู้ติดตั้งเอง แต่เราเป็นเจ้าของบ้านก็ควรทำความรู้จักกับวิธีติดตั้งรางน้ำเบื้องต้นกันไว้ก่อน เพราะเวลาจ้างช่างมาติดตั้ง หากเรามีความรู้ในขั้นต้นก็จะช่วยให้มองเห็นข้อผิดพลาดได้ง่ายขึ้น วิธีติดตั้งรางน้ำฝนเบื้องต้นมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ตามมาดูกัน
ขั้นตอนการติดตั้งรางน้ำฝน
- 1. สำรวจพื้นที่
ก่อนจะเริ่มติดตั้งรางน้ำฝน ต้องเริ่มด้วยการสำรวจพื้นที่ที่จะติดรางน้ำเสียก่อน โดยเฉพาะโครงสร้างหลังคาว่ารับน้ำหนักได้ดีหรือไม่ เพราะโครงสร้างจะต้องรับน้ำหนักทั้งตัวรางน้ำ ตะขอที่ใช้แขวนรางน้ำ และน้ำฝนที่จะไหลลงมา หากโครงสร้างไม่แข็งแรงพอ ก็อาจรับน้ำหนักทั้งหมดนี้ไม่ไหว จนเกิดความเสียหายตามมาได้ง่าย ๆ
- 2. วัดระดับความลาดเอียง
ขึ้นชื่อว่าเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ระบายน้ำฝน ความลาดเอียงจึงเป็นสิ่งที่ต้องคิดถึงก่อนติดตั้งรางน้ำฝนด้วย เพราะถ้าความลาดเอียงไม่เพียงพอ ก็จะทำให้น้ำไหลได้ไม่สะดวก ส่งผลให้ระบายน้ำได้ไม่เต็มที่ ควรสร้างแนวเส้นโดยใช้เชือกตีแนวก่อน เพื่อให้ได้ความลาดเอียงที่เหมาะสมมากที่สุด
- 3. ติดตั้งตะขอแขวน
หลังได้ระยะที่เหมาะสมแล้ว ก็ติดตะขอสำหรับติดรางน้ำฝน โดยเว้นระยะตามประเภทของรางน้ำฝนแต่ละประเภท ซึ่งจะมีความห่างไม่เท่ากัน แต่รางน้ำฝนแต่ละแบบจะระบุระยะห่างเอาไว้ในคู่มือของวัสดุนั้น ๆ แต่โดยทั่วไปมักจะเว้นระยะประมาณ 60-80 เซนติเมตร
- 4. ติดรางน้ำ
ติดตั้งรางน้ำฝนลงบนตะขอที่ติดตั้งไว้ หากเป็นรางน้ำโลหะควรเชื่อมให้ต่อกันไม่มีรอยต่อ แต่ถ้าเป็นวัสดุสังเคราะห์ใช้วัสดุอุดรอยต่อให้เรียบร้อย และเมื่อถึงบริเวณข้อต่อที่เชื่อมต่อกับท่อระบายน้ำลงสู่ด้านล่าง ก็อย่าลืมติดตัวยึดเพิ่มเติม เพื่อความมั่นคงแข็งแรง แม้ปริมาณน้ำเยอะแค่ไหนก็ไม่ต้องกลัวว่าจะเสียหาย จนต้องมานั่งซ่อมแซมกันในภายหลัง
- 5. ทดสอบประสิทธิภาพ
แม้จะติดตั้งรางน้ำฝนเสร็จเรียบร้อยแล้วก็อย่าเพิ่งรอให้ฝนตกก่อนแล้วค่อยดูว่าใช้งานได้ดีหรือไม่ แต่เราควรทดสอบประสิทธิภาพเองก่อน โดยฉีดน้ำลงบนหลังคาหรือบนรางน้ำ แล้วปล่อยให้น้ำไหลลงไปตามรางน้ำ ถ้าน้ำไหลได้ปกติก็ถือว่าเรียบร้อย แต่ถ้าเห็นจุดรั่วซึมหรือน้ำไหลช้าเกินไป ก็ควรแก้ไขซ่อมแซมให้เรียบร้อย
ข้อควรระวังในการติดตั้งรางน้ำฝน
- รางน้ำฝนยื่นเข้าไปในเขตบ้านคนอื่น
อย่างแรกคือให้ระวังเรื่องการติดตั้งรางน้ำฝนแล้วยื่นเข้าไปในเขตบ้านข้าง ๆ ส่งผลให้แทนที่น้ำจะไหลลงในบริเวณบ้านเรา แต่น้ำกลับไหลหรือกระเซ็นลงไปบ้านข้าง ๆ นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังทำให้ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านแย่ลงตามไปด้วย ดังนั้นควรสำรวจระยะห่างของบริเวณบ้านให้ดีก่อนจะติดรางน้ำกันที่หลังคาบ้าน
- ขนาดรางน้ำไม่พอดีกับปริมาณน้ำฝน
อย่าลืมศึกษาปริมาณน้ำฝนในบริเวณที่อยู่อาศัย โดยดูจากช่วงที่ฝนตกหนักมากที่สุด เพื่อให้เลือกรางน้ำที่กว้างและลึกเพียงพอต่อการรับน้ำ โดยทั่วไปรางน้ำฝนมักจะมีความกว้างประมาณ 4-6 นิ้ว ลึก 3 นิ้ว แต่ถ้าอาศัยอยู่ในบริเวณที่ฝนตกหนักมาก ก็ควรเลือกให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อการรองรับน้ำ ซึ่งจะป้องกันน้ำกระเซ็นไปยังบ้านข้าง ๆ ได้อีกด้วย
วิธีการบำรุงรักษารางน้ำฝนให้คงประสิทธิภาพในการใช้งาน
สำหรับวิธีการบำรุงรักษารางน้ำฝนให้ยังคงสภาพการใช้งานที่ดีอยู่นั้นก็สามารถทำได้ไม่ยาก โดยวิธีการดังนี้
- หมั่นตรวจสอบการทำงานของรางน้ำอย่างสม่ำเสมอ
เมื่อมีฝนตก หรืออาจทดลองฉีดน้ำบนหลังคา แล้วสังเกตว่ามีการรั่วหรือซึมที่ส่วนไหนของรางน้ำฝนหรือไม่ เพื่อดำเนินซ่อมแซมก่อนช่วงที่ฝนตกหนัก สังเกตตะขอแขวนรางว่ายังคงมั่นอยู่หรือไม่ เพื่อดำเนินซ่อมแซมก่อนช่วงที่ฝนตกหนัก สังเกตตะขอแขวนรางว่ายังคงมั่นอยู่หรือไม่ หากน้ำฝนปริมาณมากจะได้ไม่มีปัญหารางน้ำหล่นมาพังเสียหาย
- ทำความสะอาดรางน้ำฝนเป็นประจำ
ปัญหาหนึ่งที่มักพบกับรางน้ำฝนคือ หลังจากห่างหายจากหน้าฝนมาสักระยะเจ้าของบ้าน หรือผู้อยู่อาศัยมักหลงลืมการทำความสะอาดรางน้ำ ทำให้มีเศษใบไม้หรือเศษต่าง ๆ ตกค้างอยู่ในรางน้ำ ซึ่งส่งผลให้เกิดการอุดตันนั่นเอง
สรุปส่งท้าย
รางน้ำฝนถือเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทำให้บ้านมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยยิ่งขึ้น และช่วยป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่จะตามมาจากฝนตก ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายของหลังคา ผนังบ้าน การรั่วซึม ต้นไม้ สนามหญ้า หรือปัญหากับเพื่อนบ้านด้วย ดังนั้นก็ถือเป็นอุปกรณ์ที่คุ้มค่าที่จะติดตั้งไว้ใช้งาน แต่เมื่อติดตั้งรางน้ำฝนเรียบร้อยแล้ว ก็อย่าลืมหมั่นทำความสะอาดเศษใบไม้ เศษขยะที่มาพร้อมกับฝนอยู่เสมอ เพื่อให้รางน้ำทำหน้าที่ระบายน้ำได้อย่างเต็มที่
อ่านบทความ รีวิวโครงการ อัปเดตข่าวเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ได้ที่ PropertyScout Blog
มีคำถาม ข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรือต้องการ เช่า ซื้อ ขาย
คลิกตามด้านล่างได้เลย
อ่านบทความอื่นที่เกี่ยวข้อง คลิก