กู้ซื้อบ้าน ผ่านฉลุย ง่ายๆ ฉบับฟรีแลนซ์

Author
by
At
September 14, 2022
กู้ซื้อบ้าน ผ่านฉลุย ง่ายๆ ฉบับฟรีแลนซ์ กู้ซื้อบ้าน ผ่านฉลุย ง่ายๆ ฉบับฟรีแลนซ์

เป็นเรื่องปกติมากที่ใครๆก็อยากจะมีบ้าน เป็นของตัวเองใช่มั้ยคะ ไม่ว่าจะทำอาชีพไหนสายงานไหน และด้วยความเป็นอิสระทางอาชีพนี้เอง ทำให้รายได้ที่ได้รับในแต่ละเดือนก็มีความอิสระเช่นกัน จนเมื่อวันหนึ่งปัญหาอาจเกิดขึ้นเมื่อ "ฟรีแลนซ์ซื้อบ้าน"

เนื่องจากอาชีพ "ฟรีแลนซ์" ทางธนาคารจะมองว่าเป็นอาชีพที่มีรายไม่แน่นอน ไม่มั่นคง ไม่เหมือนกับอาชีพ พนักงานประจำที่มีสลิปเงินเดือน และมีฐานเงินเดือนอย่างชัดเจน นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระกู้ซื้อบ้านไม่ผ่าน แต่อย่าเพิ่งกังวลใจไปค่ะ เพราะถึงแม้จะทำงานแบบอาชีพอิสระก็ยังสามารถกู้ซื้อบ้านให้ผ่านได้ โดยปฏิบัติตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ค่ะ

แสดงให้รู้ว่า ทำงานอะไร

สิ่งแรกที่ฟรีแลนซ์ซื้อบ้านต้องบอกธนาคารให้ทราบก่อนก็คือ อาชีพอิสระที่ทำอยู่นั้นคืออะไร โดยเอกสารที่จะแสดงได้ว่าเราทำงานอะไรนั้น ได้แก่

– บัตรประจำตัววิชาชีพ เช่น ใบอนุญาตขายประกัน ผู้ตรวจสอบบัญชี

– ใบประกอบวิชาชีพเพิ่ม สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระพิเศษเฉพาะทาง เช่น แพทย์ เภสัชกร นักบิน ฯลฯ

ทั้งนี้ หากใครที่ไม่มีบัตรประจำตัววิชาชีพหรือใบประกอบวิชาชีพ อาจใช้หนังสือสัญญาว่าจ้าง หรือให้ทางบริษัทที่จ้างเราทำงานออกหนังสือรับรองการจ้างงานให้ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยื่นกู้ซื้อบ้านกับธนาคาร

เอกสารยื่นกู้ครบถ้วน

ในการพิจารณาอนุมัติวงเงินกู้จะต้องนำรายได้เปรียบเทียบกับภาระหนี้ผ่อนทั้งหมดที่มีว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของธนาคารหรือไม่ สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระจึงจำเป็นต้องมีเอกสารที่แสดงให้รู้ว่ามีรายได้เท่าไร เพื่อให้ธนาคารนำไปพิจารณาอนุมัติวงเงินกู้ ซึ่งเอกสารแสดงรายได้ที่สำคัญของผู้ประกอบอาชีพอิสระ ได้แก่

– หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย
หรือที่เรียกกันว่า 50 ทวิ เปรียบเสมือนใบเสร็จที่ได้รับจากบริษัทที่เราทำงานให้ ซึ่งใน 50 ทวิ จะมีรายละเอียดที่แสดงว่าได้รับเงินจากบริษัทไหน เป็นจำนวนเงินเท่าไร ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเท่าไร และเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทไหน สำหรับการยื่นกู้เงินกับธนาคารควรมีเอกสารในช่วง 6 เดือนย้อนหลังเป็นอย่างน้อย

ขอบคุณภาพจาก กรมสรรพากร

– หลักฐานการเสียภาษี
โดยทุกสิ้นปีผู้ประกอบอาชีพอิสระก็มีหน้าที่ ที่จะต้องยื่นเสียภาษีเงินได้พึงประเมินตามข้อกำหนดของกรมสรรพากรเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ภงด. 90 ซึ่งหลักฐานการเสียภาษีจะเป็นเอกสารหนึ่งที่แสดงได้ว่า ทั้งปีมีรายได้มาจากการทำงานอะไร เป็นจำนวนเงินเท่าไร และธนาคารอาจนำเงินได้ทั้งปีมาหารเฉลี่ยคิดเป็นรายได้ต่อเดือนให้กับเรา

ตัวอย่างใบเสร็จรับเงินที่จะได้รับจากกรมสรรพากร หลังจากยื่นแบบภาษีแล้ว

– รายการเดินบัญชีย้อนหลัง (Statement)
ในการจ่ายเงินของบริษัทที่จ้างเราทำงานให้อาจใช้วิธีการโอนเงินเข้าบัญชี ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ามีรายได้เข้ามาเดือนละเท่าไร แต่หากได้รับเป็นเงินสดแนะนำให้นำเงินเข้าบัญชีเสียก่อนค่อยถอนออกมาใช้จ่าย โดยยอดเงินที่ได้รับแต่ละครั้งก็จะตรงกับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) นั่นเอง

ไม่มีหนี้สิน ไม่ติดเครดิตบูโร

ข้อนี้ค่อนข้างสำคัญ เนื่องจากเจ้าหน้าที่สินเชื่อธนาคารจะขอให้ผู้กู้เซ็นยินยอมให้มีการตรวจสอบประวัติทางธุรกรรม โดยผู้ดำเนินการเก็บข้อมูลคือบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือที่เรียกติดปากว่า “เครดิตบูโร” คนไทยที่ทำธุรกรรมการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเปิดบัญชีออม ผ่อนจ่ายบัตรเครดิต ผ่อนรถ ผ่อนสินค้า กดบัตรเงินสด หรือรายการทำธุรกรรมอื่นๆ จะถูกบันทึกประวัติไว้ในฐานข้อมูลนี้ทั้งหมดเลย และสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้แก่กลุ่มธนาคารใช้พิจารณาประกอบการให้สินเชื่อ ยิ่งตอนเราจะกู้ซื้อบ้าน ข้อมูลประวัติการทำธุรกรรมก็ควรอยู่ในเกรดดี ไม่ติด Blacklist ค่ะ

การกู้ร่วม โอกาสในการกู้ผ่าน

อีกวิธีสำหรับฟรีแลนซ์ที่มีรายได้ไม่เยอะมาก ติดเครดิตบูโร หรือติดภาระเงื่อนไขบางอย่างที่มีแนวโน้มว่าเสี่ยงที่จะกู้ไม่ผ่าน หรือได้วงเงินกู้น้อย กรณีที่อยากเพิ่มความเป็นไปได้ในการกู้ผ่านให้มากขึ้น ทางธนาคารมักจะแนะนำเลือกวิธีการกู้ร่วมค่ะ หากผู้กู้มีญาติหรือคนในครอบครัวที่เป็นสายเลือดเดียวกัน  รวมถึงคู่สมรส ซึ่งจะจดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียนก็ได้ แต่มีเงื่อนไขว่าผู้กู้ร่วมจะต้องมีเอกสารทางการเงินครบ มีรายได้ที่แน่นอนและตรวจสอบได้ เช่น ทำงานประจำ ทำธุรกิจส่วนตัว หรือจะเป็นฟรีแลนซ์เหมือนกันก็ได้ แต่ทั้งนี้หากผู้กู้ร่วมทำงานประจำ หรือเป็นเจ้าของธุรกิจที่มีการจดทะเบียน มีการแสดงรายได้ที่ชัดเจนและเสียภาษีสม่ำเสมอ จะได้รับการพิจารณามากกว่าค่ะ

สำหรับการกู้ร่วม เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยก็จะมีมากกว่า 1 คน เวลาทำธุรกรรมเกี่ยวกับอสังหาฯนั้น จะไม่สามารถติดสินใจได้ฝ่ายเดียว จะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมด้วยเสมอ

หากมีคำถาม หรือข้อสงสัยอื่นๆเพิ่มเติม เกี่ยวกับการฝากซื้อฝากขาย หรือซื้อขายเช่าอสังหาริมทรัพย์ สามารถติดต่อสอบถามทีม PropertyScout โดย คลิกที่นี่ ทางทีมงานยินดีช่วยเหลือและตอบทุกข้อสงสัยค่ะ