อัปเดตมาตรการรัฐ ปี 2566 ซื้อบ้านได้ประโยชน์อะไรบ้าง?

Author
by
At
March 17, 2023
อัปเดตมาตรการรัฐ ปี 2566 ซื้อบ้านได้ประโยชน์อะไรบ้าง? อัปเดตมาตรการรัฐ ปี 2566 ซื้อบ้านได้ประโยชน์อะไรบ้าง?

มาตรการรัฐสำหรับปี 2566 นี้ ได้มีหลายมาตรการที่ช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศ ซึ่งก็เป็นการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการมีที่อยู่อาศัย และเข้าถึงการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ได้ง่ายยิ่งขึ้น ทั้งการซื้อและการเช่าก็จะทำได้ง่ายขึ้น และในภาวะที่เศรษฐกิจยังคงชะลอตัวแบบนี้ PropertyScout ก็เลยอยากชวนทุกคนมาอัปเดตมาตรการรัฐกัน เพื่อจะได้รู้ว่าแต่ละมาตรการมีประโยชน์อะไรบ้าง และมาตรการไหนที่เหมาะกับแต่ละคน

อัปเดตมาตรการรัฐ-ปี-2566-ซื้อ-เช่าบ้าน-ได้ประโยชน์อะไรบ้าง

มาตรการบ้านล้านหลัง เฟส 3 วงเงินให้กู้ 1.5 ล้าน ดอกเบี้ย 3% คงที่ 5 ปี

มาตรการบ้านล้านหลัง-เฟส-3-วงเงินให้กู้-1.5-ล้าน-ดอกเบี้ย-3-คงที่-5-ปี
มาตรการบ้านล้านหลัง เฟส 3

รายละเอียดสินเชื่อ

สำหรับโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 3 มีวงเงินโครงการ 20,000 ล้านบาท โดย ธอส. สนับสนุนสินเชื่อให้แก่ประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยมีรายละเอียด ได้แก่

  • ดอกเบี้ยคงที่ 3% ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรก (เงินงวดคงที่นานถึง 60 งวดแรก) วงเงินกู้ 1 ล้านบาท ผ่อนเริ่มต้นเดือนละ 4,100 บาท วงเงินกู้ 1.5 ล้านบาท ผ่อนเริ่มต้นเดือนละ 6,200 บาท
  • ให้กู้บ้าน ราคาซื้อ-ขาย/ค่าก่อสร้างและวงเงินกู้สูงสุดต่อรายต่อหลักประกันไม่เกิน 1,500,000 บาทต่อรายต่อหลักประกัน ทั้งประเภทบ้าน หรือคอนโดมิเนียม ทั้งที่เป็นที่อยู่อาศัยใหม่ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ หรือบ้านมือสอง หรือเพื่อปลูกสร้าง และซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในการอยู่อาศัยพร้อมซื้อบ้านหรือคอนโด
  • มีระยะเวลากู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 40 ปี
  • ยื่นคำขอกู้กับ ธอส. ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568
  • หรือจนกว่า ธอส. ให้สินเชื่อเต็มตามกรอบวงเงินโครงการ

อัตราดอกเบี้ย

จำนวนปีอัตราดอกเบี้ย
ปีที่ 1-53.00%
ปีที่ 6-7MRR-2% ต่อปี
ปีที่ 8-ตลอดอายุสัญญา (กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป)MRR-0.75% ต่อปี
ปีที่ 8-ตลอดอายุสัญญา (กรณีลูกค้าสวัสดิการ)MRR-1% ต่อปี
ปีที่ 8-ตลอดอายุสัญญา (กรณีกู้เพื่อซื้ออุปกรณ์ฯ)MRR (ปัจจุบันอยู่ที่ 6.40% ต่อปี)

การผ่อนปรนเงื่อนไขสมัครโครงการบ้านล้านหลัง เฟส 3

ธอส. ได้ผ่อนปรนเงื่อนไขสำหรับผู้ที่เข้าร่วมโครงการบ้านล้านหลัง เฟสที่ 3 เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสให้ได้รับวงเงินสินเชื่อที่เหมาะสม รวมไปถึงกลุ่มลูกค้าที่ประกอบอาชีพประจำหรืออาชีพอิสระ สามารถนำหลักฐานการชำระค่าเช่าบ้าน หรือผ่อนชำระเงินดาวน์บ้านไม่น้อยกว่า 12 เดือนมาแสดงให้กับธนาคารเพื่อประกอบการพิจารณาสินเชื่อเพิ่มเติมได้

สำหรับผู้ที่ไม่สามารถแสดงหลักฐานที่มาของรายได้ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ 'Financial Literacy' และออมอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 9 เดือน โดยจะต้องออมไม่น้อยกว่าเงินงวดผ่อนชำระ เพื่อใช้เป็นหลักฐานการพิจารณาสินเชื่อกับธนาคารได้ต่อไป


วิธีสมัครโครงการบ้านล้านหลัง เฟส 3

ตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการบ้านล้านหลังรับรหัสเพื่อเข้าร่วมโครงการได้พร้อมกันทั่วประเทศ ผ่านทางแอพพลิเคชั่น GHB ALL GEN หรือ GHB ALL

ผู้สมัครจะต้องได้รับรหัส 10 หลัก (รหัสตัวอักษร 3 หลัก และรหัสตัวเลข 7 หลัก) จากทาง GHB Buddy ใน Line Application เพื่อนำมาประกอบการยื่นขอสินเชื่อ และสามารถทำนิติกรรมได้ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2568 หรือก่อนกำหนดระยะเวลาดังกล่าวในกรณีที่ ธอส. ให้สินเชื่อเต็มตามกรอบวงเงินของโครงการ


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ธนาคาร ธอส.

หรือติดต่อ Call Center 0-2645-9000


อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับความหมายของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แต่ละประเภท คลิก


มาตรการรัฐลดค่าโอน-จดจำนอง

มาตรการรัฐลดค่าโอน-จดจำนอง
ลดค่าโอน-จดจำนอง

การลดลดค่าโอน-จดจำนอง เป็นอีกหนึ่งมาตรการรัฐด้านอสังหา ฯ 2566 ที่มีผลต่อผู้ซื้อบ้านอย่างมาก โดยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติต่อมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัยปี 2566 โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • ลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์จาก 2% เหลือ 1% ของราคาประเมินหรือราคาขาย และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% เหลือ 0.01% จากยอดเงินกู้
  • สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัยเฉพาะประเภท บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ และห้องชุด (ทั้งมือหนึ่งและมือสอง) เฉพาะที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท ต่อสัญญา

มาตรการธนาคารแห่งประเทศไทย 'LTV' ให้กู้เพิ่มได้ 10%

มาตรการธนาคารแห่งประเทศไทย-LTV-ให้กู้เพิ่มได้-10
'LTV' กู้เพิ่มได้ 10%

เป็นมาตรการจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยได้มีการได้ปรับมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan-to-Value) หรือที่เรียกกันว่า 'LTV' เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเป็นเจ้าของบ้านหลังแรกได้ง่ายขึ้น และช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการเข้าอยู่อาศัย โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • สำหรับการกู้ซื้อบ้านหลังแรกที่ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท แม้ว่ายังคงเพดาน LTV 100% สำหรับสินเชื่อบ้าน แต่ผู้กู้สามารถกู้เพิ่มได้อีก 10% ของมูลค่าหลักประกัน สำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการเข้าอยู่อาศัยจริง เช่น การตกแต่งบ้านหรือซ่อมแซมต่อเติม ซึ่งหนี้ส่วนนี้เมื่อกลายเป็นหนี้ที่มีบ้านเป็นหลักประกันจะมีดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าการกู้แบบไม่มีหลักประกัน
    • ตัวอย่างแรก - ซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบที่มีราคาซื้อขาย 1 ล้านบาท เดิมผู้กู้จะมีโอกาสได้รับวงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 950,000 บาท แต่ด้วยมาตรการใหม่จะทำให้ได้รับวงเงินสินเชื่อสูงสุด 1,100,000 บาท
    • ตัวอย่างที่สอง - ซื้อที่อยู่อาศัยแนวสูงที่มีราคาซื้อขาย 1 ล้านบาท เดิมผู้กู้จะมีโอกาสได้รับวงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 900,000 บาท แต่เกณฑ์ใหม่จะทำให้ได้รับวงเงินสินเชื่อสูงสุดได้ถึง 1,100,000 บาท
  • กำหนดให้วางเงินดาวน์น้อยลง จากเดิมที่ต้องวาง 20% ลดลงเหลือ 10% (สำหรับการกู้ซื้อบ้านหลังแรกที่มีราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป)
  • ผู้ที่จำเป็นต้องมีบ้าน 2 หลังที่มีวินัยในการผ่อนชำระหนี้สัญญาที่ 1 มาแล้วพอสมควร ให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ขณะที่ยังคงส่งเสริมให้มีการออมก่อนกู้ โดยผ่อนเกณฑ์ให้การกู้ซื้อบ้านสัญญาที่ 2 ที่ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท ต้องมีเงินดาวน์ 10% หากผ่อนชำระสัญญาที่ 1 มาแล้วอย่างน้อย 2 ปี (จากเดิมกำหนด 3 ปี)

เกณฑ์การควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย

บ้านราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท

  • สัญญาที่ 1 - กู้ได้เต็มมูลค่าหลักประกัน
  • สัญญาที่ 2 - วางดาวน์ขั้นต่ำ 10% หากผ่อนสัญญาที่ 1 ≥ 2 ปี , 20% หากผ่อนสัญญาที่ 1 < 2 ปี (เดิมกำหนดระยะเวลา 3 ปี)
  • สัญญาที่ 3 ขึ้นไป - วางดาวน์ขั้นต่ำ 30%

บ้านราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป

  • สัญญาที่ 1 - วางดาวน์ขั้นต่ำ 10% (วางดาวน์ขั้นต่ำ 20%)
  • สัญญาที่ 2 - วางดาวน์ขั้นต่ำ 20%
  • สัญญาที่ 3 ขึ้นไป - วางดาวน์ขั้นต่ำ 30%

ปรับเกณฑ์มาตรการ LTV เอื้อคนซื้อบ้านกรณีกู้ร่วม

ปรับเกณฑ์มาตรการ-LTV-เอื้อคนซื้อบ้านกรณีกู้ร่วม
ปรับเกณฑ์มาตรการ LTV เอื้อคนซื้อบ้านกรณีกู้ร่วม

ถึงแม้ว่าการออกมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยนั้นเป็นการป้องกันการเกิดหนี้เสีย แต่ก็สร้างผลกระทบต่อผู้ซื้อบ้าน โดยเฉพาะผู้ที่กู้ร่วม ด้วยเหตุนี้รัฐจึงได้มีอีกหนึ่งมาตรการ โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้พิจารณาผ่อนปรนการนับสัญญากรณีกู้ร่วม เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบของผู้กู้ร่วมที่ไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ให้ได้รับสินได้เหมาะสมมากขึ้น

โดยถ้าผู้กู้ไม่มีชื่อเป็นกรรมสิทธิ์ จะได้รับการผ่อนปรน เหมือนกับการที่ยังไม่เป็นผู้กู้ในครั้งนั้น เนื่องจากไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่ออยู่อาศัย เพียงแค่ช่วยเหลือกันภายในครอบครัว โดยมีรายละเอียดและตัวอย่างดังนี้


เดิมทีการกู้ร่วมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยจะต้องเป็นการกู้ของทุกคน แต่สำหรับมาตรการใหม่หากผู้กู้ร่วมไม่มีกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย ให้ผ่อนปรนเสมือนว่ายังไม่เป็นผู้กู้ในครังนั้น

ตัวอย่างแรก

  • ครั้งที่ 1 - นาย Property กับ นาย Scout กู้ร่วมซื้อบ้าน แต่กรรมสิทธิ์เป็นของ นาย Property คนเดียว เท่ากับว่า ผ่อนปรนไม่นับ นาย Scout เป็นผู้กู้
  • ครั้งที่ 2 - ต่อมา นาย Scout ขอกู้ซื้อบ้านเป็นของตนเอง เท่ากับว่าเป็นสัญญาที่ 1 ของ นาย Scout

ตัวอย่างที่สอง

  • ครั้งที่ 1 - นาย Property กู้ซื้อบ้านคนเดียว เท่ากับว่า กรรมสิทธิ์เป็นของ นาย Property และ และสัญญาที่ 1 ก็เป็นของ นาย Property เช่นกัน
  • ครั้งที่ 2 - นาย Property กับ นาย Scout กู้ร่วมซื้อบ้าน แต่กรรมสิทธิ์เป็นของ นาย Scout คนเดียว (นาย Property ไม่มีกรรมสิทธิ) เท่ากับว่า เป็นสัญญาที่ 1 ของนาย Scout เท่านั้น (ผ่อนปรนไม่นับ นาย Property เป็นผู้กู้)

กรณีที่มีการกู้ร่วม นับสัญญาการกู้ร่วมได้อย่างไรบ้าง?

  • กรณีที่ 1 - ผู้กู้ P มีสัญญาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว 1 สัญญา และในครั้งนี้มาขอกู้ร่วมกับ ผู้กู้ S ซึ่ง ผู้กู้ S ยังไม่เคยกู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมาก่อน
  • กรณีที่ 2 - ผู้กู้ P และ S กู้ร่วมมาก่อน และในครั้งนี้ ผู้กู้ S มาขอกู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย

สำหรับหลักการนับสัญญาการกู้ร่วม ให้นับสัญญาตามผู้กู้ที่มีกรรมสิทธิ์บนที่อยู่อาศัยนั้นเป็นหลัก ตามกรณีตัวอย่างดังต่อไปนี้

  • ในกรณีที่ 1 - หากทั้ง P และ S มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยสำหรับการกู้ร่วม ให้นับสัญญาการกู้ร่วมดังกล่าวเป็นสัญญาที่ 2 ของ P (LTV 90% หรือ 80%) แต่หากกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยที่กู้ร่วมในครั้งนี้เป็นของ S แต่เพียงผู้เดียว จึงถือว่าสัญญาการกู้ร่วมในครั้งนี้ เป็นสัญญาแรกของ B และไม่นับเป็นสัญญาที่ 2 ของ P
  • ในกรณีที่ 2 - ในการกู้ร่วมครั้งแรก หาก A มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยแต่เพียงผู้เดียว จะนับสัญญาที่กู้ร่วมเป็นสัญญาแรกของ A โดยไม่นับเป็นสัญญาแรกของ B ดังนั้น ในการกู้เดี่ยวของ B ในครั้งนี้ จะนับเป็นสัญญาแรกของ B แต่หากในการกู้ร่วมครั้งแรก B มีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่อยู่อาศัยดังกล่าวด้วย ก็จะนับสัญญาการกู้เดี่ยวของ B ในครั้งนี้ เป็นสัญญาที่ 2

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องหลักเกณฑ์การกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย คลิก


สรุปส่งท้าย

หวังว่า มาตรการรัฐ 2566 จะเป็นประโยชน์กับทุก ๆ คน และทำให้ตัดสินใจซื้อบ้านกันได้ง่ายขึ้นนะครับ สำหรับใครที่มีข้อสงสัยก็สามารถคอมเม้นท์กันมาได้ที่ด้านล่าง หรือติดต่อ PropertyScout ได้เลย แล้วก็อย่าลืมติดตามบทความดี ๆ รีวิวโครงการใหม่ได้ที่หน้าเว็บไซต์ และช่องทางโซเชี่ยลมีเดียของเรานะครับ


เช่า ซื้อ ขาย อสังหา ฯ กับ PropertyScout ได้ง่าย ๆ คลิกเลย