ประกันสินเชื่อบ้าน MRTA คืออะไร คุ้มครองอะไรบ้าง และมีประโยชน์กับผู้ซื้อบ้านอย่างไร?
ประกันสินเชื่อบ้าน MRTA ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการขอสินเชื่อบ้าน เป็นการทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อพร้อมกับการกู้ซื้อบ้าน ซึ่งผู้กู้สามารถเลือกว่าจะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่หากตัดสินใจทำประกัน MRTA แล้วจะเป็นประโยชน์อย่างไร? ถ้าผู้กู้ทำประกัน MRTA แล้วต้องการไป รีไฟแนนซ์บ้าน กับธนาคารอื่น จะต้องทำอะไรกับกรมธรรม์ที่ยังผูกอยู่กับธนาคารเดิมบ้าง? ไปหาคำตอบพร้อมกันกับ PropertyScout ได้ในบทความนี้เลย
ประกัน MRTA คืออะไร?
ประกัน MRTA หรือ 'Mortgage Reducing Term Assurance' ซึ่งในภาษาไทยมักจะเรียกว่า 'ประกันชีวิตแบบคุ้มครองสินเชื่อ' หรือประกันสินเชื่อ โดยประกัน MRTA คือ ประกันชีวิตประเภทหนึ่งที่ออกแบบมาเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงให้กับผู้กู้ในช่วงระยะเวลาที่ต้องผ่อนบ้าน หากมีเหตุที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ผู้กู้ก็สามารถอุ่นใจได้ตลอดว่าจะไม่ทิ้งภาระการผ่อนบ้านให้กับครอบครัว เพราะตามหลักแล้วหากเกิดเหตุที่ผู้กู้ไม่สามารถผ่อนต่อได้ ภาระก็จะตกไปสู่คนในครอบครัว
ประกัน MRTA มีกี่แบบ?
โดยทั่วไป ธนาคารสามารถเสนอประกัน MRTA คู่กับสินเชื่อบ้านได้หลากหลายรูปแบบตามความเหมาะสมและกำลังทรัพย์ของผู้กู้ เช่น การคุ้มครองด้วยวงเงินลดลงทุกปีตามยอดหนี้สินคงเหลือหรือคุ้มครองด้วยวงเงินคงที่ตลอดสัญญากู้ และผู้กู้สามารถเลือกจำนวนปีที่คุ้มครองให้น้อยกว่าจำนวนปีในสัญญาได้หากคิดจะปิดบัญชีผ่อนบ้านก่อนกำหนด
ประโยชน์ของประกัน MRTA คืออะไร?
ป้องกันความเสี่ยง
ป้องกันความเสี่ยง ไม่เป็นภาระกับคนในครอบครัว หากมีเหตุที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ผู้กู้ก็จะอุ่นใจที่ตนเองไม่ได้ทิ้งภาระการผ่อนบ้านไว้ให้กับคนในครอบครัว เพราะสถาบันทางการเงินจะได้รับการชำระเงินกู้ต่อจากบริษัทที่รับทำประกันแทนจนครบสัญญา
กู้พร้อมสินเชื่อบ้าน ผ่อนชำระพร้อมค่างวด
ค่าเบี้ยประกันสามารถกู้พร้อมสินเชื่อบ้าน ผ่อนชำระพร้อมค่างวดได้ หากผู้กู้จะขอกู้ค่าเบี้ยประกันภัยด้วยจะได้รับการอนุมัติวงเงินกู้เพิ่มเติมไปจ่ายค่าเบี้ยประกัน โดยให้ผ่อนค่าเบี้ยประกันรวมไปกับค่างวด ซึ่งผู้กู้สามารถเลือกทำประกันตามความเหมาะสมของตนเอง ไม่จำเป็นต้องทำประกันเต็มวงเงินหรือคุ้มครองตลอดระยะเวลากู้
ใช้ลดหย่อนภาษี
ค่าเบี้ยประกัน MRTA ใช้ลดหย่อนภาษีได้ นอกจากดอกเบี้ยบ้านที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้แล้ว การทำประกัน MRTA ก็สามารถนำค่าเบี้ยประกันไปหักลดหย่อนภาษีได้เช่นเดียวกัน โดยผู้กู้จะต้องทำประกันครอบคลุมวงเงินหรือระยะเวลาเอาประกันตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ซึ่งสามารถหักเงินค่าประกันชีวิตจากภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี
อัตราดอกเบี้ยถูกกว่าไม่ทำ MRTA
หากผู้กู้เลือกทำประกัน MRTA จะได้รับอัตราดอกเบี้ยบ้านที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยปกติ โดยมีส่วนต่างอยู่ระหว่าง 0.25%-0.50% เพราะเมื่อมีการทำประกันก็ทำให้มีความเสี่ยงน้อยลง
แน่นอนเลยว่าประกันสินเชื่อบ้าน MRTA จะมีประโยชน์มากก็ต่อเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันต่อชีวิตของผู้กู้ ซึ่งเงินประกันอาจทำให้ผู้กู้ ครอบครัว หรือทายาทของผู้กู้ไม่ต้องผ่อนบ้านหลังนั้นอีกเลย แต่ด้วยเบี้ยประกันที่สูงมากเมื่อเทียบกับประกันประเภทอื่น ๆ จึงเป็นเรื่องที่น่าลังเลใจในการตัดสินใจซื้อด้วยเช่นกัน
แต่เจ้าหน้าที่สินเชื่อของทางธนาคารก็มักโฆษณาในเชิงที่ว่าถ้าทำประกัน MRTA แล้วจะช่วยให้ขอสินเชื่อบ้านได้ง่ายขึ้น หรือในบางครั้งก็อาจจูงใจผู้กู้ด้วย อัตราดอกเบี้ยบ้าน ที่ถูกกว่าถ้ากู้พร้อมกับการทำประกัน MRTA สิ่งนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะ MRTA คือประกันที่สมัครใจทำหรือไม่ก็ได้ และในความเป็นจริงก็อาจจะไม่ได้ช่วยประหยัดดอกเบี้ยอย่างที่โฆษณาไว้ PropertyScout แนะนำให้พิจารณาในรายละเอียดเพิ่มเติมของทางธนาคาร อย่างเช่น มีการกู้เพิ่มเพื่อจ่ายประกัน MRTA หรือไม่
เมื่อต้องรีไฟแนนซ์ ทำอย่างไรกับประกัน MRTA? ต้องทำใหม่หรือไม่?
หนึ่งข้อสงสัยที่ผู้กู้สงสัยกันเป็นจำนวนมากก็คือ หลังจากผู้กู้ยินยอมทำประกัน MRTA กับธนาคารผู้ให้กู้ไปแล้วก็คือ ไม่รู้ว่าต้องจัดการกับประกัน MRTA อย่างไรเมื่อถึงเวลาต้องรีไฟแนนซ์เปลี่ยนธนาคารใหม่ ซึ่งผู้รับผลประโยชน์ที่ระบุในกรมธรรม์ยังคงเป็นธนาคารเดิมอยู่ แต่ปัญหานี้ก็มีทางออกอยู่ 2 แบบที่จะช่วยให้ผู้กู้จัดการกับ MRTA ของตนเองได้อย่างเหมาะสมดังนี้
วิธีแก้ไขปัญหาแบบที่ 1 : เปลี่ยนชื่อผู้รับผลประโยชน์ วิธีนี้เหมาะสำหรับ กรมธรรม์ MRTA ที่ยังมีทุนประกันครอบคลุมวงเงินทั้งหมดหลังรีไฟแนนซ์ หรือผู้ที่ไม่ต้องการเสียเงินทำประกันเพิ่มอีกแต่ก็ยังต้องการให้มีประกันเดิมเอาไว้ให้อุ่นใจ เพราะอย่างน้อยก็ยังช่วยบรรเทาปัญหาได้เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน แม้ทุนประกันอาจไม่เต็มยอดหนี้ก็ตาม โดยผู้กู้สามารถแจ้งความประสงค์เปลี่ยนชื่อผู้รับผลประโยชน์ในประกัน MRTA ได้ โดยในกรณีนี้ผู้กู้จะยังคงได้รับความคุ้มครองอย่างต่อเนื่องเหมือนเดิมแต่เปลี่ยนชื่อผู้รับเงินประกันจากธนาคารเก่าเป็นธนาคารใหม่ อย่างไรก็ตาม ทุนประกันของกรมธรรม์ที่เปลี่ยนชื่ออาจน้อยกว่าวงเงินกู้บ้านหลังรีไฟแนนซ์ ซึ่งจะเป็นปัญหากับผู้ที่ขอวงเงินกู้กับไฟแนนซ์ใหม่เกินยอดหนี้เก่าเพื่อต่อเติมบ้านหรือใช้จ่ายส่วนตัว หรือหากทุนประกันเป็นแบบวงเงินลดลงทุกปีและวงเงินที่มีอยู่ ณ ขณะนั้นน้อยกว่ายอดเงินกู้กับธนาคารใหม่ กรมธรรม์ MRTA ก็จะไม่ครอบคลุมถึงส่วนเกินนี้ |
วิธีแก้ไขปัญหาแบบที่ 2 : เวนคืนกรรมธรรม์เก่า วิธีนี้เหมาะสำหรับ กรมธรรม์ MRTA ที่มีเงินเวนคืนมากพอสำหรับการนำไปทำประกันกับธนาคารที่รีไฟแนนซ์ใหม่ หรือผู้ที่ไม่ต้องการทำประกันแล้วและจะนำเงินก้อนไปใช้ประโยชน์อื่น เช่น นำเงินไปจ่ายธนาคารเก่าเพื่อลดยอดเงินกู้กับธนาคารใหม่ ซึ่งทำให้เสียดอกเบี้ยน้อยลง หรือใช้เพื่อตกแต่งต่อเติมบ้าน เป็นต้น ผู้กู้สามารถแจ้งความประสงค์ขอเวนคืนประกัน MRTA ที่ยังไม่สิ้นสุดความคุ้มครองเพื่อรับเงินส่วนต่างคืนได้ แต่จำนวนเงินจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ผ่านการคุ้มครองไปแล้ว และเงินที่ได้จากการเวนคืนประกันนั้นอาจน้อยกว่าที่จ่ายไปตามระยะเวลาที่คุ้มครองไปแล้วและตามเงื่อนไขที่ผู้ให้ประกันกำหนด โดยเงินที่ได้อาจเป็นเงินก้อนโตที่สามารถนำมาทำประกัน MRTA กับธนาคารใหม่ หรือนำมาใช้ลดหนี้กู้บ้านให้น้อยลง หรือนำเงินไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ตามความจำเป็นก็ได้ |
สรุปส่งท้าย : ประกัน MRTA มีความจำเป็นไหม เหมาะกับใครบ้าง?
ความสำคัญของประกัน MRTA นั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความต้องการของแต่ละคน หากว่าเป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องทำงานหาเงินมาผ่อนบ้านและดูแลครอบครัว เราขอแนะนำว่าควรทำติดไว้ เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเรา จะดีกว่าถ้าเราไม่ทิ้งภาระเอาไว้ให้คนข้างหลัง แต่สำหรับใครที่อยู่ตัวคนเดียว ไม่มีภาระหรือครอบครัวการทำประกัน MRTA ก็อาจจะไม่จำเป็น หากเกิดอะไรขึ้นกับผู้กู้ เพราะบ้านก็จะตกไปเป็นของธนาคารต่อไป
ทั้งนี้ PropertyScout ขอให้ผู้ที่กำลังจะเวนคืนรีไฟแนนซ์ชั่งน้ำหนักระหว่างการเวนคืนประกัน MRTA และการเปลี่ยนชื่อผู้รับผลประโยชน์ ว่าวิธีไหนจะเหมาะสมกับผู้กู้มากที่สุด แต่ไม่ว่าจะใช้กรมธรรม์เดิม เวนคืนเงินเพื่อซื้อประกันใหม่ หรือเวนคืนเงินเพื่อเก็บไว้ใช้อย่างอื่น ผู้กู้ก็สามารถเลือกจัดการกับประกัน MRTA ของตนเองได้อย่างอิสระ
อยากลงทุนในอสังหา ฯ แบบมั่นใจ อยากได้ข้อมูลพร้อมคำปรึกษาแบบเอกซ์คลูซีฟ หรือต้องการ เช่า ซื้อ ขาย ติดต่อ PropertyScout คลิกเลย!