หนี้ดี กับ หนี้เสีย แตกต่างกันอย่างไร? เรื่องที่ต้องรู้ก่อนลงทุนอสังหา ฯ

Author
by
At
กรกฎาคม 13, 2023
หนี้ดี-กับ-หนี้เสีย-แตกต่างกันอย่างไร-เรื่องที่ต้องรู้ก่อนลงทุนอสังหา หนี้ดี-กับ-หนี้เสีย-แตกต่างกันอย่างไร-เรื่องที่ต้องรู้ก่อนลงทุนอสังหา

หากต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมนั้น ในบางครั้งเราอาจจะต้องยอมสร้างหนี้สินขึ้นมา อย่างเช่นการกู้สินเชื่อบ้านเพื่อการอยู่อาศัย แต่การเป็นหนี้ก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนคิด เพราะว่าหนี้มีทั้ง หนี้ดี และ หนี้เสีย โดยหนี้ที่ดีสามารถจะช่วยส่งเสริมเครดิตในการขอยื่นกู้ครั้งถัดไปได้ แต่หากเกิดหลงระเริงใช้เงินเกินตัว ก็สามารถทำให้เกิดหนี้สินท่วมหัวได้เช่นกัน ในบทความนี้ PropertyScout จะพาไปดูกันว่าหนี้ดีคืออะไรและหนี้เสียคืออะไรกันแน่


หนี้ดี คืออะไร?

หนี้ดี กับ หนี้เสีย-หนี้ดี-คืออะไร

หนี้ดี คือ หนี้ที่เมื่อเป็นแล้วสามารถก่อให้เกิดรายรับในภายภาคหน้าได้ โดยการนำเงินส่วนที่เป็นหนี้ไปลงทุนหรือต่อยอดธุรกิจแล้วทำให้เกิดเงินหรือรายได้ตามมาในอนาคต

ตัวอย่างของหนี้ดี

  • หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น เงินกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพ เงินกู้ยืมเพื่อธุรกิจ เงินกู้ยืมเพื่อลงทุนหรืออสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ
  • หนี้ที่ก่อให้เกิดความรู้ เช่น การกู้เงินเพื่อเรียนต่อ ซึ่งสามารถนำความรู้มาต่อยอดในการทำงานหาเลี้ยงชีพให้อนาคตได้
  • หนี้ที่อยู่ในระบบ เช่น เงินกู้จากสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้เครดิตบูโร เพราะหากชำระหนี้เสร็จสิ้นครบทุกงวดก็จะมีเครดิตทางการเงินที่สามารถใช้ประกอบการขอยื่นกู้ได้อีก

นี้เสีย คืออะไร?

หนี้ดี กับ หนี้เสีย-หนี้เสีย-คืออะไร

หนี้เสีย คือ หนี้ที่เมื่อเป็นแล้วไม่สามารถก่อให้เกิดรายรับในภายภาคหน้าได้

ตัวอย่างของหนี้เสีย 

  • หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น เงินกู้เพื่อไปท่องเที่ยว เงินกู้เพื่อซื้อของฟุ่มเฟือย
  • หนี้ที่ไม่สามารถผ่อนชำระได้ครบตามที่กำหนด ก็จะส่งผลให้เกิดการฟ้องร้อง ยึดทรัพย์ เสียเครดิต ติดบัญชีดำของธนาคาร ทำให้ชื่อเสียงทางการเงินไม่ดี กู้ไม่ผ่านในครั้งต่อไป
  • หนี้ที่อยู่นอกระบบ เช่น เงินกู้จากสถาบันการเงินที่อยู่นอกเครดิตบูโร เพราะต่อให้จ่ายหนี้ครบก็ไม่มีประวัติการชำระหนี้ อีกทั้งยังมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงและหากไม่สามารถชำระหนี้ได้ตรงตามกำหนดอาจใช้วิธีการทวงที่รุนแรงอีกด้วย

คำแนะนำ วิธีแก้ไขหนี้ทำได้อย่างไร?

หนี้ดี กับ หนี้เสีย-คำแนะนำ-วิธีแก้ไขหนี้ทำได้อย่างไร

ได้รู้ไปแล้วว่าหนี้ดีคืออะไรและหนี้เสียคืออะไร ดังนั้นหากไม่อยากเกิดความกังวลใจว่าจะสามารถผ่อนชำระหนี้ได้หรือไม่ ควรมีการวางแผนทางการเงินล่วงหน้าอย่างรอบคอบ เพื่อช่วยให้สามารถเคลียร์หนี้ได้ตรงตามระยะเวลาที่กำหนด ทั้งยังไม่ก่อให้เกิดหนี้สินก้อนโตที่อาจเพิ่มขึ้นจากการไม่สามารถชำระหนี้ได้ตรงตามเวลาอีกด้วย ซึ่งการวางแผนการเงินนั้นมีวิธีการดังต่อไปนี้


กำหนดสัดส่วนค่าใช้จ่าย

เช่น ไม่ควรเป็นหนี้เกิน 40% ของรายได้ การกำหนดสัดส่วนของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนถือได้ว่าเป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่งที่ช่วยให้สามารถมองเห็นภาพรวมของเงินแต่ละก้อนตามความจำเป็นได้ เช่น ค่ากิน ค่าที่พัก เป็นต้น โดยการเป็นหนี้ที่จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายคือไม่ควรเป็นหนี้เกิน 40 เปอร์เซ็นต์ของรายได้แต่ละเดือน


ไม่สร้างหนี้เพิ่ม

การสร้างหนี้เพิ่มจะส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ทำให้ต้องผ่อนชำระหนี้มากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นควรควบคุมหรือระงับค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง เพื่อนำเงินส่วนนั้นมาชำระหนี้ที่เหลือต่อไป


จัดลำดับการจ่ายหนี้

การจัดลำดับการจ่ายหนี้ คือการเรียงลำดับความสำคัญของการชำระหนี้เพื่อให้หนี้ครบตามกำหนด โดยที่นิยมทำมีอยู่ 2 ทางเลือก ได้แก่

  • การเลือกชำระก้อนหนี้ที่มียอดคงเหลือน้อยที่สุด เพื่อให้จำนวนก้อนหนี้ที่มีอยู่ลดลง
  • การเลือกชำระก้อนหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงที่สุด เป็นการกำจัดก้อนหนี้ที่มีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยสูงเพื่อประหยัดเงินไว้สำหรับหนี้ก้อนอื่น ๆ ที่มี

ดังนั้นแล้วคุณสามารถเลือกวิธีที่เหมาะสมกับตนเองเพื่อลดการเกิดความเครียดจากการเป็นหนี้ได้


รวมหนี้

การรวมหนี้ คือ การนำหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบ้านหรือสินเชื่อประเภทอื่น ๆ มารวมเข้าด้วยกันไว้เพียงที่เดียว เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ ไม่เกิดความสับสนว่าต้องจ่ายหนี้ก้อนไหนก่อน-หลัง ทั้งยังอาจได้รับดอกเบี้ยที่ถูกลงทำให้สามารถชำระหนี้ได้มากขึ้นตามไปด้วย โดยการรวมหนี้ควรดูว่าตนเองมีหนี้อะไรบ้างและศึกษาเกี่ยวกับข้อมูลของธนาคารที่ให้บริการรวมหนี้เพิ่มเติม


เข้าไปเจรจากับแบงค์

อีกวิธีหนึ่งที่ควรทำเมื่อเกิดปัญหาผ่อนชำระหนี้ไม่ไหวและไม่อยากติด Blacklist คือการเจรจากับธนาคาร หรือสถาบันการเงินเพื่อขอลดหย่อนผ่อนปรน หรือปรับโครงสร้างหนี้ โดยการเจรจาจะได้เป็นผลนั้นต้องอาศัยชื่อเสียงเครดิตทางการเงินที่คุณมีควบคู่กับความพึงพอใจในข้อเสนอของทั้งสองฝ่ายเป็นจุดร่วมกันด้วย


สิ่งที่ควรพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจเป็นหนี้ มีอะไรบ้าง?

สิ่งที่ควร-พิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจเป็นหนี้-มีอะไรบ้าง

ไม่ว่าจะเป็นหนี้ดีหรือหนี้เสีย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์มีหนี้ท่วมหัวหรือการสร้างหนี้เกินกำลังศักยภาพในการผ่อนชำระหนี้ของตนเอง ควรมีการวางแผนและคิดให้ดีก่อนเลือกที่จะเป็นหนี้ โดยพิจารณาจากสิ่งต่าง ๆ ดังนี้


ความจำเป็น

ก่อนเป็นหนี้ควรพิจารณาถึงเหตุและผล วิเคราะห์ดูว่าหนี้ก้อนนี้มีความจำเป็นต่อชีวิตไหม หากจำเป็นแล้วมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด พยายามเรียงลำดับความสำคัญของหนี้แต่ละก้อนว่าควรสร้างหนี้ก้อนไหนก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อที่จะได้มีเงินรายได้จากหนี้ก้อนนั้นมาใช้จ่ายในอนาคตต่อไป


เลือกประเภทสินเชื่อให้เหมาะสม

การเลือกประเภทสินเชื่อให้เหมาะสมกับตนเองนั้นสามารถเลือกได้จากจุดประสงค์ที่จะใช้เงินก้อนนั้นเพื่อทำอะไร เช่น เพื่อผ่อนบ้าน ควรเลือกสินเชื่อบ้าน เพื่อผ่อนรถ ควรเลือกสินเชื่อรถยนต์ เพื่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ควรเลือกสินเชื่อบุคคล เป็นต้น การวางแผนเช่นนี้จะสามารถเลือกสินเชื่อได้เหมาะสมกับตนเองมากที่สุดเพื่อให้ตอบโจทย์กับสภาพคล่องทางการเงินในแต่ละเดือน


เปรียบเทียบเงื่อนไขและอัตราดอกเบี้ยของหลาย ๆ ที่

นอกจากการเลือกประเภทสินเชื่อให้เหมาะสมแล้ว การเปรียบเทียบเงื่อนไขและอัตราดอกเบี้ยจากแหล่งให้กู้หลาย ๆ แห่งก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ควรทำ เนื่องจากแต่ละที่ก็จะมีเงื่อนไข อัตราดอกเบี้ย และระยะเวลาการผ่อนชำระที่แตกต่างกัน ซึ่งหากเราสามารถเลือกได้ตรงกับความต้องการของเราจะทำให้การผ่อนชำระหนี้ไม่หนักจนเกินไป


ประเมินความสามารถในการผ่อนชำระของตัวเอง

การผ่อนชำระหนี้ที่ดีไม่ควรส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวันมากเกินไป โดยสามารถคำนวณได้จากหนี้ที่ต้องจ่ายต่อเดือนหารด้วยรายได้ต่อเดือนและทำการคูณ 100 ซึ่งไม่ควรมีหนี้เกิน 40 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ดังนั้นแล้วก่อนสร้างหนี้ควรประเมินศักยภาพการผ่อนชำระของตนเองว่าสามารถทำได้หรือไม่ มากหรือน้อยเพียงใดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาผ่อนไม่ไหวตามมาในภายหลัง


ประเมินศักยภาพในการหารายได้ รวมถึงความมั่นคงของรายได้

เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาผ่อนชำระหนี้ไม่ไหวหรือผ่อนได้ไม่ตรงเวลาอันเป็นผลเนื่องมาจากไม่มีความมั่นคงทางรายได้ จึงควรประเมินศักยภาพว่างานที่ทำมีความมั่นคงของรายได้เพียงพอที่จะผ่อนชำระหนี้ให้ครบทุกงวดในระยะเวลาที่กำหนดเพื่อไม่ให้ติดบัญชีดำ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการยื่นกู้ในครั้งต่อ ๆ ไปในอนาคตได้


หนี้ NPL คืออะไร?

หนี้-NPL-คืออะไร

NPL มีชื่อเรียกเต็ม ๆ ว่า Non-Performing Loan (NPL) หรือ หนี้เสียที่ไม่ได้รับการชำระคืนตามข้อกำหนดตกลงกันตามสัญญา ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเราได้ทำการขอสินเชื่อเอาไว้ แล้วไม่ได้ชำระหนี้นานเกินจำนวนวันที่กำหนด โดยปกติแล้วกำหนดไว้ที่ 90 วัน


การเกิดหนี้ NPL มาจากไหน?

สาเหตุการเกิดของการเกิด NPL อาจจะเป็นผลมาจากปัจจัยหลายอย่างนอกจากเงินรายได้ของผู้กู้ด้วย อย่างเช่น สภาพรวมของตลาดในประเทศที่ส่งผลต่อกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง และวินัยทางการเงินที่จะส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ที่จะบริหารจัดการจนสามารถปิดยอดหนี้ได้สำเร็จ

สิ่งที่จะเกิดขึ้นหากมีหนี้ NPL คือ สถาบันทางการเงินที่ขอสินเชื่อก็จะทำรายงานข้อมูลว่าเรามี NPL ไปที่ศูนย์กลางในการจัดเก็บข้อมูลและประวัติการชำระสินเชื่อ หรือที่รู้จักในชื่อ 'เครดิตบูโร' ซึ่งจะทำการจัดเก็บข้อมูล NPL ที่ได้รับในระบบประมวลผลไม่เกิน 3 ปี และจะมีการอัปเดตข้อมูลใหม่เป็นรายเดือน ดังนั้นถึงแม้ว่าจะดำเนินการชำระ NPL หรือหนี้เสียเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ต้องรออัปเดตข้อมูลอีกครั้งด้วย


การมี NPL มีผลต่อการปล่อยกู้จากธนาคารอย่างไร

ขึ้นชื่อว่าหนี้เสีย การมี NPL นี้ไม่ส่งผลดีแน่นอน เพราะ NPL คือหนี้ที่จะส่งผลระยะยาวในการขอยื่นกู้สินเชื่อในอนาคต เหมือนกับประวัติที่ทำให้สถาบันทางการเงินไม่แน่ใจในความสามารถในการชำระหนี้ของเรา หากมีเหตุฉุกเฉินหรือต้องการขอสินเชื่อครั้งต่อไป ก็จะมีโอกาสสูงมากที่จะไม่ได้รับการอนุมัติ

ด้วยเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะสถาบันทางการเงินก็ต้องมีการประเมินความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อเช่นกัน เพราะส่งผลต่อต้นทุนของการตั้งเงินสำรองตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระบุไว้ว่าแต่ละที่จะต้องมีเงินสำรองที่ตั้งไว้ เผื่อเกิดกรณี NPL สถาบันทางการเงินก็ยังมีเงินจ่ายให้ลูกค้าทั่วไปได้

ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายชั้นดีที่สถาบันทางการเงินอยากปล่อยสินเชื่อให้ โดยไม่ต้องกังวลปัญหา NPL คือกลุ่มลูกค้าที่มีพฤติกรรมดี สามารถชำระหนี้ได้ตรงเวลาตามกำหนด ไม่มี NPL ก็อาจจะได้รับอนุมัติมากกว่า และอาจจะได้ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูกกว่ากลุ่มที่อาจจะเคยผ่านการมีประวัติ NPL ได้


ทำอย่างไรให้รอดพ้นจากการมี NPL

ทำอย่างไร-ให้รอดพ้นจากการมี-NPL
  • ก่อนการยื่นกู้ สำรวจรายรับและรายจ่าย เพื่อทำแผนการชำระหนี้ไม่ให้เกิด NPL

การสำรวจรายรับรายจ่ายจะช่วยให้เห็นแนวทางในการชำระหนี้มากขึ้น ทำให้ทราบว่าจะต้องหารายได้เพิ่มอีกเท่าไหร่ หรือลดรายจ่ายตรงไหน ลดโอกาสการเกิด NPL ได้


  • เมื่อกู้สำเร็จแล้ว ต้องชำระหนี้ตรงเวลา ครบจำนวน เพื่อไม่ให้เกิด NPL

ขั้นตอนนี้เป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่ดีที่สุด หากรักษาวินัยในการชำระหนี้ไม่ให้เกิด NPL ได้ ก็จะเป็นการรักษาประวัติทีดี ช่วยเพิ่มโอกาสอนุมัติสินเชื่อมากยิ่งขึ้น


  • หากมีประวัติ NPL แล้ว ควรติดต่อเพื่อเจรจากับสถาบันทางการเงินที่ขอยื่นกู้ไว้โดยด่วน เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้

หากรู้ว่าชำระหนี้ไม่ทันกำหนดจริง ๆ และอาจจะกลายเป็น NPL สิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้คือการติดต่อกับสถาบันทางการเงินเจ้าของสินเชื่อโดยตรง เพื่อทำการเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป หรือลดจำนวนดอกเบี้ยลงชั่วคราว แล้วแต่การตกลงของเจ้าหนี้ ซึ่งถ้าทำการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่จะค้างชำระเกินกำหนด 90 วัน ก็จะทำให้ไม่เกิด NPL ให้เสียประวัติ


  • หากได้รับโอกาสแก้ไข NPL จงปฏิบัติตามเงื่อนไขการผ่อนชำระ NPL อย่างเคร่งครัด สร้างประวัติใหม่ที่ดี

เมื่อยื่นขอปรับโครงสร้างหนี้ NPL แล้วได้รับเงื่อนไขในการชำระหนี้ใหม่ ควรจะปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นอย่างเคร่งครัด โดยจะต้องชำระหนี้ให้ตรงเวลาอย่างน้อย 12 เดือนขึ้นไป เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรามุ่งมั่นตั้งใจ และมีสถานะทางการเงินที่พร้อมจะรับผิดชอบหนี้ก้อนใหม่แล้ว


  • เคลียร์ NPL ให้จบ

ถึงแม้การแก้ไข NPL อาจจะใช้เวลานาน แต่ข้อดีของการปิดหนี้ก้อนนี้ได้ นอกจากจะช่วยให้เราหมดหนี้ที่ค้างคาไว้ ยังเป็นการปรับประวัติใหม่ แสดงให้เห็นว่าเรามีความสามารถและมีวินัยในการชำระหนี้จริง


สรุปส่งท้าย

การเป็นหนี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดหากหนี้ที่เราก่อขึ้นมานั้นเป็นหนี้ที่ดี เพราะจะช่วยส่งเสริมเครดิตในการขอยื่นกู้ครั้งถัดไปได้ ทั้งยังเป็นการฝึกฝนให้มีระเบียบวินัยในการใช้เงินอีกด้วย โดยหนี้ดีคือเป็นหนี้ที่สามารถก่อให้เกิดรายได้ขึ้นในอนาคตจากการนำเงินส่วนที่เป็นหนี้ไปลงทุนหรือต่อยอดธุรกิจแล้วทำให้เงินงอกเงยตามมาในภายหลัง แต่หากใช้เงินไปกับหนี้ที่ไม่เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต อย่างเข่น หนี้เพื่อของฟุ่มเฟือย หนี้ที่เกิดจากการใช้จ่ายเกินตัว ก็จะทำให้เสี่ยงต่อการติด Black List ได้

ดังนั้นหากมีการวางแผนการเงินอย่างละเอียดรอบคอบก่อนยื่นกู้ก็สามารถช่วยระงับปัญหาการผ่อนชำระหนี้ไม่ไหวที่จะเกิดขึ้นมาในภายหลัง รวมถึงอย่าลืมเลือกสินเชื่อว่าประเภทไหนเหมาะสมกับตนเองมากที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่ยุ่งยากที่จะตามมา


ซื้อบ้านกับ PropertyScout มีให้เลือกกว่า 270,000 ที่ทั่วไทย พร้อมคำแนะนำด้านการลงทุนอสังหา ไม่ว่าจะ เก็งกำไร ปล่อยเช่า หรืออยู่อาศัยเอง คลิกเลย