ซื้อบ้านมือสองที่ไหนดี ช่องทางไหนดีสุด? พร้อมคำแนะนำตอนเลือกซื้อบ้านมือสอง
บ้านมือสอง ถือเป็นอีกทางเลือกของคนอยากมีบ้าน บางคนต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัย ส่วนบางคนต้องการซื้อเพื่อปล่อยเช่า หรือขายเก็งกำไร และไม่ว่าโจทย์ในการซื้อ บ้านมือสอง ของคุณจะเป็นอย่างไร นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะคำถามที่ใหญ่กว่า ที่หลายคนกำลังสงสัยก็คือ ถ้าไม่อยากนำพาปัญหาชวนปวดหัวเข้ามาในอนาคต เราควรซื้อบ้านมือสองจากช่องทางไหนดี? จากเจ้าของบ้านโดยตรง? ประมูลจากกรมบังคับคดี? หรือ ทรัพย์สินรอการขายของธนาคารเวิร์คสุด? ไปดูข้อดี-ข้อเสียของแต่ละช่องทางกันดีกว่า
ซื้อจากเจ้าของบ้านโดยตรง
การซื้อบ้านและคอนโดมือสองจากเจ้าของโดยตรง เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมค่อนข้างสูงทั้งสำหรับการซื้อเพื่ออยู่อาศัยเอง และการซื้อเพื่อการลงทุนต่อไปในอนาคต
ข้อดี
- ได้บ้านหรือคอนโดที่มีราคาถูกกกว่าการซื้อผ่านนายหน้าเพราะไม่ต้องเสียค่านายหน้า
- ต่อรองราคากันได้โดยตรงเพราะผู้ขายเป็นเจ้าของบ้านจึงมีอำนาจในการตัดสินใจเต็มที่
- สามารถตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ได้ ผู้ซื้อสามารถต่อรองกับผู้ขายได้โดยตรงเรื่องการรับผิดชอบค่าธรรมเนียมในการ
- โอนกรรมสิทธิ์ว่าจะรับผิดชอบร่วมกันคนละครึ่ง หรือจะให้ผู้ชายรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว หรือตกลงกันตามสมควร ซึ่งจะตกลงกันได้ง่ายและใช้เวลาเพียงไม่นาน
- เพราะเป็นการซื้อกับเจ้าของบ้านโดยตรงจึงหมายความว่าเจ้าของบ้านนั้นเต็มใจขาย จึงไม่ต้องกังวลเรื่องการขับไล่เจ้าของเดิมออกไปนำ
- ไปสู่การฟ้องร้องที่กินเวลานาน
- มีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อนขึ้นอยู่กับการตกลงของผู้ซื้อและผู้ขาย มีคนในกระบวนการไม่มากเรื่องจึงไม่วุ่นวาย
ข้อเสีย
- ในบางครั้งราคาบ้านอาจสูง เพราะมูลค่าบ้านถูกบวกค่าตกแต่ง ต่อเติมให้สวยงามหรือพร้อมเข้าอยู่เข้าไปด้วย
- อาจมีปัญหาเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างต้องการใช้สัญญาของตนเอง ซึ่งมีผลให้รายละเอียดต่างๆไม่ตรงกันจนอาจจะทำให้เสียเวลาในการเจรจาตกลง เพราะต่างฝ่ายล้วนต้องการให้ตนเองได้รับผลประโยชน์มากที่สุด
- เมื่อเลือกบ้านได้แล้วแต่อ่านสัญญาไม่รอบคอบ สามารถส่งผลให้มีปัญหาในวันโอนกรรมสิทธิ์
ประมูลบ้านจากกรมบังคับคดี
'การประมูลบ้านจากกรมบังคับคดี' หรือคนส่วนใหญ่เรียกกันว่า 'ขายทอดตลาด' นั่นเอง ซึ่งหมายถึงบ้านที่นำไปจำนองไว้กับธนาคารเพื่อเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงิน แต่เมื่อถึงวันที่ครบกำหนดชำระแล้วไม่สามารถชำระคืนได้ จึงถูกธนาคารฟ้องร้องบังคับคดี เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้นำบ้านหลังดังกล่าวออกมาขายให้กับบุคคลอื่นๆ ที่สนใจผ่านทางกรมบังคับคดี แล้วนำเงินที่ได้รับจากการประมูลขายทอดตลาดนี้มาชำระหนี้คืนให้กับธนาคาร
หากสนใจบ้านมือสองประเภทนี้ ต้องวางเป็นเงินประกันซึ่งคิดตามราคาประเมิน และ มีระยะเวลาในการชำระเงิน เมื่อประมูลทรัพย์ได้จะต้องนำเงินไปชำระภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ซื้อทรัพย์ได้ แต่ถ้าอยู่ระหว่างการรวบรวมเงิน หรือกำลังยื่นขอสินเชื่อ ก็สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการชำระเงินได้ เพราะหากครบกำหนดระยะเวลาแล้วไม่ชำระเงินส่วนที่เหลือจะถูกริบเงินมัดจำ
ข้อดี
- ราคาถูกกว่าท้องตลาด เพราะทางโจทย์ต้องการให้จำเลยชำระหนี้ให้เร็วที่สุด โดยส่วนมากราคาจะถูกกว่าท้องตลาดโดยประมาณ 30%-50% ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สภาพของบ้าน ทำเลที่ตั้ง เป็นต้น
- มีให้เลือกในหลายทำเล ซึ่งบางทีเป็นทำเลที่ดีหรือทำเลหายาก
ข้อเสีย
- อาจพบเจอความวุ่นวายตรงที่ เจ้าของเดิมอาจยังไม่ย้ายออก อาจจะด้วยไม่มีที่ไปจริงๆ หรือเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ทำให้เจ้าของบ้านยังไม่ยอมย้ายออก ทำให้ต้องดำเนินการฟ้องขับไล่ต่อไป ซึ่ง ณ จุดนี้บ้านก็ยังเป็นของเจ้าของเก่าเหมือนเดิม การเข้าไปยุ่งเกี่ยวใด ๆ กับบ้านผู้ประมุลล้วนแต่มีความผิดฐานบุกรุกทั้งสิ้น
- ในบางครั้งอาจได้มาในราคาแพงกว่าที่ตั้งใจไว้ กรณีนี้มักเกิดขึ้นเพราะไปประมูลสู้กับธนาคารที่เป็นโจทย์ ซึ่งมักตั้งราคาประมูลสูงมากตั้งแต่แรก หากทราบว่ากำลังสู้กับธนาคารอยู่ให้หยุดเสียจะดีกว่า
- ไปแล้วเสียเวลา เพราะโจทย์กับจำเลยเคลียร์กันจบ ถอนทรัพย์ไปเมื่อประมูลรอบที่สอง ก็ต้องกลับบ้านมือเปล่าหรือประมูลรายการอื่นต่อไป
ซื้อบ้านทรัพย์สินรอการขายของธนาคาร (NPA)
หมายถึง ทรัพย์สินที่ธนาคารซื้อคืนด้วยการประมูลจากสินทรัพย์ที่กรมบังคับคดีนำไปไปประมูลขายทอดตลาด
ข้อดี
- ทรัพย์ NPA ส่วนใหญ่มักจะตั้งอยู่ในทำเลที่มีความหนาแน่นของผู้คนสัญจรไปมา เหมาะแก่การซื้อเพื่อลงทุนทำธุรกิจหรือจะซื้อเพื่ออยู่อาศัย ใกล้สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ หรือหากใครต้องการซื้อในพื้นที่ ๆ ห่างไกลออกมาจากศูนย์กลางเมืองก็สามารถเลือกซื้อได้เช่นกัน
- ราคาดี เพราะในปัจจุบันทำเลใจกลางเมือง ราคาที่ดินหรืออาคาร บ้านเรือนส่วนใหญ่แล้วจะมีราคาค่อนข้างสูง จับต้องได้ยาก แต่สำหรับทรัพย์ NPA แล้วราคาจะถูกกว่าทรัพย์สินทั่วไปในท้องตลาด 10-15%
มีกรรมสิทธิ์การครอบครองชัดเจน
- ปลอดภัย หายห่วง ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกโกง เพราะทรัพย์เหล่านี้มีโฉนด กรรมสิทธิ์การครอบครองถูกต้อง ชัดเจน
- คุ้มค่าต่อการลงทุน ไม่ว่าจะซื้อมาเพื่อตกแต่งอาคารขายหรือจะเป็นการเปิดธุรกิจในย่านนั้น ๆ ก็เหมาะ
ข้อเสีย
- ต้องศึกษาเงื่อนไขในการกู้ให้ดี เพราะบางธนาคารอาจมีข้อกำหนดที่จะไม่คืนเงินประกันการเสนอซื้อหรือเงินมัดจำ ในกรณีที่ยื่นกู้ไม่ผ่าน
ซื้อบ้านจากนายหน้า
สำหรับการซื้อบ้าน อาจลองมองหานายหน้าอสังหาริมทรัพย์มืออาชีพ บางครั้งเราจะเรียกพวกเขาว่า เอเจนต์ โดยผู้ที่เป็นเอเจนต์แต่ละเจ้าจะมีหน้าที่หลักคล้ายกันแต่การให้บริการแต่ละที่ย่อมไม่เหมือนกัน เอเจนต์ที่ดีจะเป็นตัวช่วยประสานงานและลดความยุ่งยากในการตกลงระหว่างเจ้าของกับผู้ซื้อได้ดี
ข้อดี
- มีที่ปรึกษาดูแลทุกขั้นตอน
- เพิ่มโอกาสให้ได้เจอบ้านที่ถูกใจ
- เพิ่มโอกาสให้ได้ซื้อบ้านในราคาดี
- ซื้อบ้านได้อย่างราบรื่นขึ้น
- มีเวลามากขึ้น เพราะไม่ต้องหาบ้านเอง
- ไม่ต้องจ่ายเงินค่านายหน้าจนกว่าจะตกลงซื้อบ้าน
ข้อเสีย
- ควรตรวจสอบให้แน่ชัดว่านายหน้าที่ใช้บริการสามารถเชื่อถือได้
- นายหน้าบางรายอาจบวกราคาไปเกินกว่าราคาตลาด ดังนั้นควรตรวจสอบราคาตลาดให้แน่ชัดด้วย
คำแนะนำขั้นตอนเลือกดูบ้านมือสอง
เข้าดูสภาพบ้านจริงก่อนตัดสินใจ
ในยุคปัจจุบันการจะหาบ้านมือสองที่ถูกใจสักหลังมีความสะดวกสบายมากขึ้น เพราะผู้ซื้อสามารถค้นหาบ้านมือสองผ่านช่องทางออนไลน์ได้ เช่น ดูจากเว็บไซต์ประกาศขายบ้านต่าง ๆ แทนการขับรถตระเวนหาบ้านในทำเลที่สนใจ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ในเว็บไซต์จะมีการบอกรายละเอียดสภาพบ้าน และมีรูปภาพประกอบอย่างชัดเจนแล้ว แต่เราก็ควรเข้าไปตรวจดูสภาพบ้าน และดูสภาพแวดล้อมจริง ๆ ก่อนตัดสินใจซื้อ ซึ่งการไปดูสภาพบ้านจริงถือเป็นขั้นตอนการซื้อบ้านมือสองที่ขาดไม่ได้เลย เพราะช่วยให้เรารู้ว่ามีผู้อาศัยหรือผู้บุกรุกหรือไม่ เนื่องจากในบางกรณีที่เจ้าของบ้านอาจบอกว่าบ้านหลังนั้นไม่มีผู้อยู่อาศัยพร้อมโอนและผู้ซื้อสามารถย้ายเข้าอยู่ได้ทันที แต่พอไปดูบ้านจริง ๆ แล้วกลับพบว่ามีผู้อยู่อาศัย ซึ่งอาจจะเป็นผู้บุกรุกหรือผู้เช่า
หากเจอเหตุการณ์เช่นนี้ก็ควรได้รับคำชี้แจ้งจากเจ้าของบ้านหรือผู้ขายก่อนว่าจะทำอย่างไรกับผู้บุกรุก หรือผู้เช่าจะหมดสัญญาเมื่อไร เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาในการย้ายเข้าไปอยู่บ้าน ภายหลังที่เราโอนบ้านแล้ว
ดังนั้น ขั้นตอนการซื้อบ้านมือสองด้วยวิธีการเข้าไปดูสภาพจริงก่อนตัดสินใจซื้อจึงเป็นขั้นตอนสำคัญมาก ๆ ที่ไม่ควรมองข้าม รวมไปถึงการตรวจสอบตรวจเช็กโครงสร้างก็ถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนการซื้อบ้านมือสองที่สำคัญพอ ๆ กับการเช็คประวัติ
ตรวจสอบความถูกต้องของโฉนด
อีกหนึ่งขั้นตอนการซื้อบ้านมือสองที่ขาดไม่ได้เช่นกันก็คือการตรวจสอบโฉนดเป็นอีกสิ่งที่ผู้ซื้อไม่ควรละเลย เพราะโฉนดที่ผู้ขายให้เรามานั้น อาจจะเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือมีการปลอมแปลง เช่น เป็นโฉนดปลอดภาระทั้ง ๆ ที่ติดจำนองธนาคาร เป็นโฉนดปลอม หรือเป็นโฉนดถูกอายัด ฯลฯ
นอกจากนี้ การตรวจสอบโฉนดยังช่วยให้เราทราบถึงรายละเอียดของเจ้าของกรรมสิทธิ์ ซึ่งจะทำให้รู้ว่าผู้ขายเป็นเจ้าของบ้านตัวจริงหรือไม่ เพราะหลาย ๆ ครั้งที่ผู้ขายไม่ใช่เจ้าของบ้านตัวจริง หรือแอบอ้างเป็นเจ้าของบ้านจนทำให้ผู้ซื้ออาจเกิดความเสียหายได้ เช่น โดนโกงเงินมัดจำ
ทั้งนี้ ขั้นตอนการซื้อบ้านมือสอง จะต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องของโฉนด โดยสามารถนำโฉนดไปที่สำนักงานที่ดิน หรืออีกวิธีหนึ่งที่ช่วยตรวจสอบโฉนดได้อย่างง่าย ๆ ก็คือการส่งประเมินราคา
วิธีนี้นอกจากจะเป็นการตรวจสอบความถูกต้องของโฉนดแล้ว ยังช่วยให้ทราบถึงราคาซื้อขาย ซึ่งสามารถนำมาอ้างอิงเพื่อตกลงหรือต่อรองราคากับผู้ขายได้ ในกรณีที่ราคาขายอาจจะสูงกว่าราคาประเมินมากเกินไป
ตกลงค่าใช้จ่ายกันให้ชัดเจน
การซื้อขายบ้านไม่ว่าจะเป็นบ้านมือหนึ่งหรือบ้านมือสองก็ตาม ย่อมจะมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เกิดขึ้น และถือเป็นขั้นตอนการซื้อบ้านมือสองขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญ โดยเฉพาะบ้านมือสองที่มักจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการซื้อบ้านมือหนึ่ง
ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ค่าธรรมเนียมการโอน ภาษีธุรกิจเฉพาะหรืออากรแสตมป์ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เหล่านี้รวม ๆ กันแล้ว ถือว่าเป็นจำนวนเงินที่สูง หากผู้ซื้อและผู้ขายไม่มีการตกลงกันอย่างชัดเจนอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้นได้ เช่น ผู้ขายผลักภาระให้ผู้ซื้อเป็นผู้จ่ายทั้งหมด โดยที่ผู้ซื้อเองก็ไม่รู้ตัว หรือผู้ซื้อเข้าใจว่าผู้ขายจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมดเช่นกัน
ความเข้าใจผิดเหล่านี้จะทำให้เกิดปัญหาและข้อขัดแย้งกันในภายหลัง ดังนั้นเมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะซื้อบ้านมือสองหลังนี้ ก็ควรทำความเข้าใจและตกลงกันในเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้ชัดเจน เช่น ใครเป็นผู้จ่ายอะไรบ้าง หรือแบ่งจ่ายกันคนละครึ่ง รวมทั้งเงื่อนไขการจ่ายเงินมัดจำ โดยทำเป็นลายลักษณ์อักษรระบุไว้ในหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายตั้งแต่ตอนแรก
สรุปส่งท้าย
แต่ละแหล่งขาย บ้านมือสอง ล้วนมีจุดเด่น จุดพึงระวังแตกต่างกันออกไป PropertyScout ขอแนะนำว่าในฐานะผู้ซื้อ ให้ใช้อำนาจของการตัดสินใจที่มีให้ดีที่สุด จะได้ไม่เสียใจในภายหลัง ที่สำคัญก็คือ ก่อนตัดสินใจซื้อบ้านมือสองอย่าลืมสำรวจราคาขายในทำเลเดียวกันด้วย เพื่อจะได้บ้านมือสองที่ถูกใจทั้งสภาพบ้านและราคา นอกจากนี้ผู้ซื้อควรเตรียมเงินเก็บออมไว้อย่างน้อย 20% ของราคาบ้าน เพื่อจ่ายเป็นเงินค่าดาวน์บ้าน แล้วก็อย่าลืมเปรียบเทียบ อัตราดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านของแต่ละธนาคาร ก่อนตัดสินใจกู้เงินกับธนาคารนั้น ๆ
สำหรับช่องทางการซื้อต่าง ๆ ที่ได้แนะนำกันไปในบทความนี้ ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละบุคคล เป็นเพียงการแนะนำเพื่อให้ทุกคนได้ไปใช้ประกอบการตัดสินใจ สามารถลองไปชั่งน้ำหนัก ดูข้อดี-ข้อเสียของแต่ละช่องทางได้เลย
ซื้อบ้านมือสองเปี่ยมคุณภาพกับ PropertyScout มีทั้งบ้าน คอนโด และอสังหา ฯ
ทุกรูปแบบให้เลือกกว่า 270,000 ที่ทั่วไทย คลิกตามด่านล่างได้เลย!