ก่อนรับโอนบ้านอย่าลืม ‘ตรวจงานระบบท่อประปา’ ป้องกันปัญหาน้ำรั่วภายหลัง!

Author
by
At
พฤษภาคม 21, 2023
ก่อนรับโอนบ้านอย่าลืม 'ตรวจงานระบบท่อประปา' ป้องกันปัญหาน้ำรั่วภายหลัง! ก่อนรับโอนบ้านอย่าลืม 'ตรวจงานระบบท่อประปา' ป้องกันปัญหาน้ำรั่วภายหลัง!

เมื่อซื้อบ้านซื้อคอนโดใหม่หรือปลูกบ้านเสร็จเป็นที่เรียบร้อย เจ้าของบ้านทุกคนต้องทำการตรวจรับบ้านอย่างละเอียดทุกซอกทุกมุมก่อนรับมอบบ้าน อย่างไรก็ตามยังมีอยู่จุดสำคัญอีกจุดหนึ่งที่มักจะถูกละเลยอยู่บ่อย ๆ นั่นก็คือ 'งานระบบท่อประปา' นั่นเอง ในบทความนี้ PropertyScout จะพาทุกคนไปดูวิธีตรวจงานระบบท่อประปากัน

ก่อนรับโอนบ้านอย่าลืม 'ตรวจงานระบบท่อประปา' ป้องกันปัญหาน้ำรั่วภายหลัง!

ทำความรู้จัก 'ท่อประปาแต่ละชนิด'

อยากแรกก่อนจะเข้าเรื่องการตรวจงานท่อประปา ต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าท่อประปามีกี่ชนิด และมีคุณสมบัติแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

'ท่อประปาแบบพีวีซี (PVC)' คือ ท่อชนิดหนึ่งที่ผลิตจากวัสดุที่เรียกว่าโพลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinylchloride) ที่มีความทนทานและราคาไม่แพง โดยจะมีหลายสีให้เลือก โดยแต่ละสีก็มีคุณสมบัติการใช้งานที่แตกต่างกันดังนี้


ท่อพีวีซีสีเหลือง

perspective-pvc-pipelines-on-the-cement-ceiling-un-2022-11-01-00-00-32-utc
ท่อพีวีซีสีเหลือง

เป็นท่อที่เหมาะกับระบบสายไฟในอาคาร เนื่องจากมีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันไฟฟ้า ทนความร้อน และติดไฟยาก แต่ท่อชนิดนี้จะมีขนาดให้เลือกไม่มากนัก เพราะเน้นทำท่อเพื่อร้อยสายไฟเท่านั้น


ท่อพีวีซีสีขาว

choosing-water-pipes-in-the-shop-2021-11-01-21-27-06-utc
ท่อพีวีซีสีขาว

เป็นท่อที่เหมาะกับระบบสายไฟนอกอาคาร มีคุณสมบัติต่าง ๆ เหมือนท่อพีวีซีสีเหลือง แต่ทนทานต่อรังสียูวี (UV) ได้ดีกว่า และมีความยืดหยุ่นสูงจนสามารถดัดงอได้โดยไม่ต้องใช้ข้อต่อ


ท่อพีวีซีสีฟ้า

blue-pvc-piping-system-of-water-supply-2022-11-07-21-59-33-utc
ท่อพีวีซีสีฟ้า

เป็นท่อที่เหมาะกับระบบส่งน้ำประปาและน้ำดื่ม ซึ่งท่อชนิดนี้มีขนาดที่หลากหลาย และมีความหนาเพียงพอต่อการรองรับแรงดันน้ำ หากจะเดินท่อประปา PVC ในบ้าน ก็ควรเลือกใช้ท่อพีวีซีสีฟ้าเท่านั้น


ท่อสีเขียว (PP-R)

pipes-and-valves-2021-08-26-16-26-10-utc
ท่อสีเขียว (PP-R)

เป็นท่อพลาสติกประเภทโพลีโพรไพลีน ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดที่มีการจัดเรียงตัว แบบไม่เจาะจง ทำให้ได้คุณสมบัติทางเคมีและกายภาพที่ดีขึ้น เหมาะสมสำหรับการใช้งานระบบท่อน้ำประปา ท่อน้ำร้อน ท่อน้ำเย็น สำหรับที่อยู่อาศัย นิยมใช้สำหรับการวางท่อน้ำดีทั้งน้ำในอุณหภูมิปกติและน้ำร้อนสำหรับต่อจากเครื่องทำน้ำอุ่นน้ำร้อน แต่เวลาซื้อต้องสังเกตุให้ดี ท่อสำหรับน้ำร้อนจะต้องมีเส้นคาดสีแดงที่ท่อเป็นส่วนมาก


ท่อพีวีซีสีเทา/ดำ

selective-focus-shot-of-blue-grey-pipes-of-the-sam-2023-01-18-08-13-49-utc
ท่อพีวีซีสีเทา/ดำ

เป็นท่อที่เหมาะกับระบบส่งน้ำทางการเกษตร ซึ่งท่อชนิดนี้มีราคาถูกที่สุด แต่ไม่ยืดหยุ่นและแตกหักง่าย ซึ่งท่อพีวีซีสีเทา/สีดำหากใช้ในบ้านเหมาะกับการใช้เป็นท่อน้ำทิ้ง แต่ถ้านำมาใช้เป็นท่อน้ำประปาจะไม่เหมาะสม


วิธีตรวจท่อประปาก่อนก่อสร้างเสร็จ

cropped shot of female plumber with plastic pipes at kitchen

เมื่อรู้จักท่อ PVC ชนิดต่าง ๆ รวมถึงคุณสมบัติด้านการใช้งานแล้ว ต่อมาเรามาดู การตรวจงานท่อประปาในขั้นแรก ซึ่งควรเริ่มทำตั้งแต่บ้านยังไม่ตีฝ้าหรือปิดปูนทับท่อ เพราะสามารถจะเห็นคุณภาพของระบบท่อประปาได้อย่างชัดเจน ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับเจ้าของบ้านที่สร้างบ้านเองโดยใช้บริการผู้รับเหมา หรือซื้อบ้านกับโครงการไว้ตั้งแต่ยังสร้างไม่เสร็จ โดยมีวิธีการตรวจสอบดังนี้


ตรวจสอบว่าท่อที่ใช้มีมาตรฐานหรือไม่

เจ้าของบ้านควรตรวจสอบวัสดุที่ใช้เดินท่อประปาว่า มีการใช้ท่อถูกต้องตามประเภทของระบบน้ำ หากมีระบบน้ำร้อนน้ำเย็นต้องใช้ท่อพีพีอาร์ (PPR) แทนท่อพีวีซีด้วย และท่อประปาที่ใช้ควรได้รับเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือ มอก.


ต่อท่อได้อย่างถูกต้อง

การเดินท่อตามมุมต่าง ๆ จึงต้องมีการตัดท่อและใช้ข้อต่อเสมอ ดังนั้นทุกข้อต่อจึงต้องแน่นพอดีขนาดท่อ ตัดขอบที่เนียนเรียบไม่เป็นขุย และต้องทาน้ำยาประสานให้ท่อและข้อต่อติดกันอย่างดี ยิ่งเฉพาะกับท่อพีวีซีสีฟ้านั้นมีความยืดหยุ่นน้อย หากทำการตัดต่อและเชื่อมข้อต่อกันไม่ดี ยิ่งเสี่ยงเกิดการรั่วซึมในภายหลัง


วางท่อเป็นระเบียบหรือไม่

ท่อประปาในบ้านเรียงกันอย่างเป็นระเบียบบนเพดาน ใช้แนววางท่อที่สั้นที่สุดเพื่อลดการสูญเสียแรงดันน้ำ และมีการเอียงท่อน้ำทิ้งและสิ่งปฏิกูลให้ลาดลงเพื่อลดโอกาสของเสียถูกขังอยู่ในท่อ


ตรวจสอบรอยรั่วก่อนปิดทับ

เจ้าของบ้านต้องกำชับช่าง หรือผู้รับเหมาให้ปล่อยน้ำเข้าสู่ระบบทั้งบ้านเพื่อทดสอบรอยรั่วซึมก่อนทาปูนปิดทับหรือตีฝ้า ซึ่งจะทำให้ค้นพบรอยรั่วซึมและแก้ปัญหาได้ง่ายกว่าตรวจสอบหลังปิดทับท่อไปแล้ว


วิธีตรวจท่อประปาหลังก่อสร้าง

woman-engineer-talking-with-construction-worker-in-2022-01-04-22-22-59-utc
วิธีตรวจท่อประปาหลังก่อสร้าง

สำหรับเจ้าของบ้านที่ซื้อบ้านสร้างเสร็จแล้ว หรือแบบพร้อมเข้าอยู่ ซึ่งไม่มีโอกาสได้เห็นระบบท่อประปาที่ซ่อนอยู่ภายในโครงสร้าง รวมไปถึงเจ้าของบ้านที่สร้างบ้านเองเสร็จแล้ว ก็จะต้องบรรจุการตรวจงานท่อประปาไว้ในรายการตรวจรับบ้านด้วย โดยมีวิธีการตรวจสอบดังนี้


ตรวจแปลนและเช็ครายการวัสดุ

การขอดูแบบแปลนบ้านถือเป็นขั้นตอนแรกที่จะทำให้ทราบว่ามีการเดินท่อประปาในบ้านอย่างไร และเดินท่อบริเวณไหนบ้าง โดยแบบแปลนส่วนใหญ่ก็มักจะมาพร้อมกับรายการวัสดุที่จะทำให้ทราบว่าใช้ท่อน้ำที่ได้มาตรฐานหรือไม่


เปิดน้ำแล้วลองใช้งานทั้งบ้าน

เมื่อเข้าตรวจรับบ้าน ให้ตรวจระบบน้ำประปาด้วยการเปิดน้ำพร้อมกันทุกก๊อกเพื่อทดสอบว่าน้ำไหลปกติและมีแรงดันเพียงพอ แล้วทดสอบกดชักโครกดูว่ากดได้ปกติดีหรือไม่ และสังเกตตามจุดเชื่อมต่อกับท่อน้ำด้วยว่ามีน้ำรั่วซึมหรือไม่


ปิดน้ำแล้วตรวจดูมาตรวัดน้ำ

หลังจากเปิดก๊อกน้ำเพื่อเช็คความปกติแล้ว ก็ได้เวลาสำหรับการปิดก๊อกน้ำทุกตัวให้สนิท แล้วไปสังเกตที่มาตรวัดน้ำดูว่ามาตรวัดยังหมุนอยู่หรือไม่ ถ้ายังหมุนอยู่ ก็หมายความว่าท่อประปาในบ้านกำลังรั่ว ที่จุดใดจุดหนึ่ง


มีการต่อท่อระบายอากาศ

เจ้าของบ้านหลายคนอาจไม่ทราบว่าการเดินระบบท่อประปาควรมีท่อระบายอากาศต่อกับระบบระบายน้ำและชักโครกด้วย ซึ่งท่อระบายอากาศจะช่วยป้องกันไม่ให้กลิ่นที่แย่ ๆ ย้อนกลับมาจากท่อน้ำทิ้งหรือในชักโครก


ต่อท่อปั๊มน้ำอย่างแข็งแรง

ปั๊มน้ำเป็นหนึ่งในไม่กี่จุดที่เจ้าของบ้านสามารถเห็นท่อน้ำได้จากภายนอก ซึ่งท่อน้ำต้องมีการต่อกับปั๊มอย่างแข็งแรง ไม่มีรอยรั่วซึม และต้องใช้ท่อที่มีความหนากว่าส่วนอื่น ๆ เพื่อรองรับแรงดันน้ำที่จ่ายให้ทุกก๊อกทั่วทั้งบ้าน


เคล็ดลับหารอยรั่วท่อประปาในบ้าน

closeup-shot-of-the-leaking-water-pipe-with-red-va-2022-12-20-12-18-12-utc
เคล็ดลับหารอยรั่วท่อประปาในบ้าน
  • ปิดก๊อกน้ำทุกตัวภายในบ้าน ยกเว้นประตูน้ำหน้ามาตรวัดน้ำ
  • ตรวจสอบตัวเลขในมาตรวัดน้ำ โดยฟังเสียงและสังเกตดูการเคลื่อนไหวของตัวเลข
  • สังเกตเครื่องปั๊มน้ำ หากทำงานเป็นระยะเมื่อไม่มีการใช้น้ำ แสดงว่ามีการรั่ว นอกจากจะสูญเสียน้ำประปาแล้ว จะเสียค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกว่าปกติอีกด้วย
  • หากมั่นใจว่ากำลังเผชิญกับปัญหาท่อน้ำภายในบ้าน/คอนโด กำลังรั่วแล้วล่ะก็ ให้รีบแจ้งนิติบุคคลหรือผู้ที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแก้ไขโดยเร็วที่สุด

สรุปส่งท้าย

ด้วยการที่เพราะเป็นงานที่เจ้าของบ้านอาจมองไม่เห็นเมื่อตรวจรับบ้านที่พร้อมอยู่อาศัยแล้ว ดังนั้น PropertyScout ขอแนะนำว่าถ้าเจ้าของบ้านไม่เริ่มตรวจงานเดินท่อตั้งแต่ตอนก่อสร้าง ก็ต้องหาวิธีสอดส่องดูระบบน้ำทั้งในและนอกบ้านด้วยวิธีเหล่านี้ให้ดี หากเจอปัญหาจะได้แจ้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้มาแก้ไขได้อย่างทันท่วงที และจะได้ไม่ต้องมาปวดหัวกับปัญหาท่อประปารั่วซึมในภายหลัง


อ่านบทความ รีวิวโครงการ อัปเดตข่าวเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ได้ที่ PropertyScout Blog

มีคำถาม ข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรือต้องการ เช่า ซื้อ ขาย

คลิกตามด้านล่างได้เลย