เลือกห้องให้ถูกทิศ อยู่ง่าย สบายแน่นอน!

Author
by
At
กันยายน 26, 2022

จะซื้อคอนโดทั้งที ห้องควรหันหน้าต่างไปทางไหนถึงจะอยู่สบายกันนะ?

สวัสดีค่า ช่วงนี้เป็นยังไงกันบ้าง สบายดีไหมเอ่ย? อย่าลืมดูแลตัวเองกันเยอะ ๆ นะ! วันนี้ PropertyScout เลยขอเอาบทความน่ารัก ๆ มาฝากทุกคนกันอีกแล้วค่า รอบนี้ขอส่งบทความสุดปัง เอาใจคนที่กำลังจะเลือกซื้อคอนโดกันนะ

เลือกห้องให้ถูกทิศ อยู่ง่าย สบายแน่นอน!

ปกติแล้วคอนโดเวลาที่เราจะเลือกซื้อนั้น ทำเลหน้าต่างหรือระเบียงห้องที่หันเข้าหาแดดก็สำคัญไม่ใช่น้อยเลย เพราะมันจะส่งผลถึงอากาศในห้องเราด้วย ว่าห้องเราจะอบอ้าวขนาดไหน หรืออาจจะทำให้ห้องมอุณหภูมิที่เปลี่ยนไปยังไง ซึ่งทั้งหมดนี้อาจส่งผลต่อการอยู่อาศัยของเรา อาจจะทำให้เรารู้สึกไม่ค่อยสบายนัก วันนี้ PropertyScout เลยอยากชวนทุกท่านมาอ่านด้วยกันว่า ทิศไหนจะเป็นยังไง ไปอ่านกันเลย!

ทิศนั้นสำคัญยังไง?

หลาย ๆ คนก็บอกว่า ทิศทางนั้นสำคัญมาก ๆ ในการอยู่ที่ห้อง บางคนก็บอกว่ามันไม่ได้สำคัญ เพราะว่าไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่ หรือว่าบางคนที่เชื่อเรื่องสายมูก็จะบอกว่า ทิศห้องต้องหันทางนี้เท่านั้น จะโชคดีมีชัย โชคชัยมีวัว เฮ้ย! โชคดีรับทรัพย์

ปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผล

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นก็ไม่ได้ผิดซะทีเดียวหรอก ดังนั้น PropertyScout เลยอยากจะมาเล่าให้ฟังว่า เหตุไฉนทิศทางนั้นจึงสำคัญกับการเลือกซื้อหรือหาทำเลในการอยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็น คอนโด อพาร์ตเมนต์ และบ้าน ไม่น้อยไปกว่าปัจจัยอื่น ๆ เลย

อุณหภูมิ

สิ่งแรกที่สำคัญคงไม่พ้นเรื่อง อุณหภูมิ เพราะแดดในแต่ละช่วงเวลานั้นมีความร้อนที่ไม่เท่ากัน จะเห็นได้เลยว่าแต่ละช่วงเวลาจะมีอุณหภูมิที่ไม่เท่ากัน ดังนี้

อุณหภูมิกับการอยู่อาศัย
  • ช่วงที่ร้อนที่สุดก็คงจะเป็นช่วง 11.00-13.00 น. เพราะแดดนั้นสว่างที่สุด แถมยังตั้งตรงอยู่บนศรีษะของเราพอดี ทำให้อุณภูมิหรือความร้อนที่เราได้รับนั้นจะสูงกว่าช่วงเวลาปกตินั่นเอง ส่วนช่วงเวลาอื่น ๆ ก็จะมีความร้อนที่ต่างกันออกไป
  • ช่วงเวลา 05.00 - 10.00 น. นั้น จะเป็นช่วงเวลาที่แดดที่ไม่ได้ร้อนมากนักหากเทียบกับเวลาอื่น ๆ เพราะมีปัจจัยเรื่องความเย็นตอนกลางคืนมาช่วย ทำให้เป็นช่วงเวลาที่มีแดดที่กำลังดี เหมาะสมกับการรับแสงแดดในยามเช้านั่นเอง
  • ช่วงเวลา 13.00 - 16.00 น. นั้น เป็นช่วงที่ได้รับความร้อนต่อมาจากเวลากลางวัน ทำให้แดดในช่วงเวลานี้นั้น เป็นแดดที่ร้อนเป็นอันดับสอง รองลงมาจากเวลาเที่ยงตรงเลยนั่นเอง

ทิศทางลม

ประเทศไทยนั้น จะมีทิศทางลมหลัก ๆ อยู่ 2 ทาง โดยทิศทางลมนั้นจะมีประโยชน์สำคัญในการคลายความร้อนของพื้นที่บริเวณนั้น ที่สำคัญ ยังสามารถลดค่าไฟได้อีกด้วย อีกทั้งยังมีข้อสงสัยอื่น ๆ เพิ่มเติมว่า หน้าบ้านควรหันทิศไหนรับลม ดังนั้น ProperyScout จึงขออธิบายทิศทางลมหลัก ๆ ในไทยก่อนเลยค่า

ทิศทางลมโดยสังเกตจากเมฆบนฟ้า
  • ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
    • ลมชนิดนี้จะเน้นพัดผ่านไปในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน ทำให้ลมชนิดนี้จะเป็นลมที่ช่วยได้มาก ๆ ในช่วงที่กำลังร้อนระอุหรือหน้าร้อนในประเทศไทยนั่นเอง
  • ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ
    • เป็นลมที่มักจะเจอได้ในฤดูหนาว จะเหมาะมาก ๆ กับผู้ที่ชื่นชอบอากาศเย็น ๆ ในช่วงฤดูหนาวหรือช่วงเย็น ๆ

มาทำความรู้จักกับทิศต่าง ๆ กัน

ทิศเหนือ

การหันหน้าบ้านเข้าสู่ทิศเหนือนั้น เป็นทำเลที่จะได้รับแสงแดดโดยตรงเพียงปีละ 2 เดือนเท่านั้น (เป็นช่วงที่โลกทำมุมกับพระอาทิตย์ในทิศเหนือ หรือช่วง พฤษภาคม-กรกฎาคม) เพราะเป็นทิศที่จะไม่ได้โดนแดดโดยตรงเหมือนทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ส่งผลให้ทิศนี้เป็นอีกทิศที่ เย็น ที่สุด

ทิศเหนือ

ทิศนี้เป็นทิศที่เราอยากจะแนะนำหรือเหมาะกับผู้ชอบอยู่ในบ้านเป็นพิเศษ อีกทั้งยังจะไม่โดนแสงส่องมาก ๆ ทำให้หน้าบ้านจะเย็นสบาย

ส่วนทิศทางลมนั้น ลมจะพัดเข้าสู่หน้าบ้านในช่วงฤดูหนาว ซึ่งอย่างที่ได้กล่าวไป ใครที่ชอบหน้าหนาวนั้น ทิศนี้เหมาะกับคุณที่สุด! แต่ข้อเสียก็คือเมื่อบ้านหรือห้องนั้นไม่ได้รับแสงแดดที่มากพอ อาจจะเกิดการอับชื้น หรือเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์นั่นเอง

ทิศใต้

ทิศใต้นี้ แม้อาจจะไม่ได้หันหน้าเข้าแดด แต่ก็เป็นอีกทิศที่ได้รับแดดราว ๆ 7-9 เดือนต่อปีเลยทีเดียว เป็นทิศที่เหมาะกับผู้ที่ชอบเปิดหน้าต่างรับลม เพราะลมที่พัดผ่านในทิศนี้นั้น จะพัดผ่านตลอดหน้าร้อนไปจนถึงหน้าฝนนั่นเอง

ทิศใต้

ทิศใต้เป็นทิศที่เหมาะกับผู้ที่ชอบการรับลมธรรมชาติ ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเมษายน แม้ว่าจะมีแดดส่องตลอดเวลาที่ทำให้ดูเหมือนร้อน แต่ว่าก็จะมีอิทธิพลของลมมาช่วยลดความร้อนนั่นเองว

แต่ข้อเสียนั้นเมื่อหันหน้าไปหาทิศใต้นั้น อาจจะมีปัญหาเรื่องการต้องรับแดดจากทั้งสองด้าน ทั้งทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาใด ๆ นั้นอาจจะทำได้ด้วยการติดม่านหรือปลูกต้นไม้นั่นเอง แต่กับผู้ที่อาศัยอยู่ในคอนโดนั้น ปัญหาเรื่องนี้อาจจะมีไม่มาก เพราะว่าไม่ได้มีหน้าต่างที่ประกบซ้ายขวานั่นเอง

ทิศตะวันออก

เป็นทิศที่ได้รับแสงตลอดทั้งปี เพราะหันหน้าไปที่ทิศที่พระอาทิตย์ขึ้น ทำให้ได้รับแสงเน้น ๆ ช่วงเช้าไปจนถึงสาย ทำให้อุณหภูมิช่วงนี้จะสูงขึ้น แต่ไม่ได้มากนัก เพราะแสงที่ได้เป็นแสงอ่อน ๆ และเมื่อพ้นช่วงแดดไปแล้ว ห้องหรือบ้านก็จะกลับมาเย็นอัตโนมัติ อีกทั้งยังมีข้อดีที่ว่า ไม่ค่อยสะสมความร้อน

ทิศตะวันออก

ส่วนของทิศทางลมนั้น อาจจะไม่ได้รับโดยตรง แต่ก็เป็นทิศที่ได้รับลมทั้งสองด้านตลอดเวลาแบบเบา ๆ เช่นกัน

ทิศตะวันออก เป็นทิศที่เหมาะกับผู้ที่ชอบตื่นเช้า เพราะแสงอาทิตย์ในช่วงนี้นั้นไม่ได้แรงมาก แถมยังเป็นแสงแดดอ่อน ๆ ที่เหมือนกับนาฬิกาปลุกจากธรรมชาติ แต่ก็มีข้อเสียที่ว่า อาจจะค่อนข้างร้อนในช่วงใกล้ ๆ กลางวัน ทำให้ไม่สามารถอยู่ในห้องตลอดเวลาได้นั่นเอง

ทิศตะวันตก

อีกหนึ่งทิศที่ได้รับแสงแดดตลอดทั้งปีและตลอดทั้งบ่าย เพราะทิศนี้เป็นทิศทางที่พระอาทิตย์จะลับขอบฟ้า ดังนั้น ความร้อนในช่วงนี้จะค่อนข้างสะสม ตั้งแต่ช่วงหลังเที่ยงเป็นต้นไปจนถึงราว ๆ 16.00 น.

ทิศตะวันตก

ถ้าถามถึงเรื่องอากาศนั้น แต่ในฤดูร้อนอากาศจะไม่ร้อนมากเพราะยังได้รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้หรือลมมรสุมฤดูร้อนพัดผ่าน ทำให้ช่วยระบายความร้อนออกจากบ้านได้ดี

ข้อดีของทิศนี้คือ เหมาะกับผู้ที่ทำงานในเวลากลางวันและกลับบ้านในเวลากลางคืน เพราะเป็นทิศที่จะได้รับแสงแดดช่วงบ่าย อีกหนึ่งข้อดีที่ปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ แสง UV จากแดดนั้น ช่วยฆ่าเชื้อโรคภายในห้องและบ้านได้ แต่ก็ต้องตามมากับข้อเสียก็คือ ห้องนั้นจะร้อนและอบอ้าวง่ายเป็นพิเศษ ทำให้อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการซื้ออุปกรณ์กัน UV หรือเสียค่าใช้ไฟฟ้าเพิ่มโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศนั่นเอง

สรุปส่งท้าย

จากที่เล่าไปทั้งหมด จะเห็นได้เลยว่า แต่ละทิศนั้นส่งผลกับบ้านและห้องของเราไม่น้อยเลยทีเดียว ทั้งในเรื่องของความร้อน อุณหภูมิ ไปจนถึงไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิต ดังนั้น ก่อนจะซื้อหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ชนิดไหนก็ตาม อย่าลืมดูทิศทางด้วยนะ

วันนี้ PropertyScout ขอตัวลาไปก่อน ถ้าอยากให้เราเขียนบทความอะไรใหม่ ๆ หรืออยากรู้อะไร สามารถบอกเราได้เลยนะคะ เราจะรีบหามาให้เร็วที่สุด! เจอกันใหม่ในบทความหน้านะคะ

อยากหาคอนโด บ้าน เช่า ราคาเป็นมิตร ห้องตรงปก : คลิกที่นี่!

อยากซื้อคอนโดหรือบ้านที่ดีที่สุด : คลิกที่นี่!

หากมีคำถาม หรือข้อสงสัยอื่นๆเพิ่มเติม เกี่ยวกับการฝากซื้อฝากขาย หรือซื้อขายเช่าอสังหาริมทรัพย์ สามารถติดต่อสอบถามทีม PropertyScout โดย คลิกที่นี่ ทางทีมงานยินดีช่วยเหลือและตอบทุกข้อสงสัยค่ะ