ทะเบียนบ้าน สำคัญอย่างไร? การขอทะเบียนบ้านต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง?
'ทะเบียนบ้าน' เป็นอีกหนึ่งเอกสารสำคัญของบ้าน เชื่อว่า ๆ หลายคนคงจะรู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะว่าเอกสารฉบับนี้จะถูกหยิบนำมาใช้เมื่อต้อง ทำธุระติดต่อทั้งเอกชนและราชการ และสำหรับอสังหา ฯ ที่เป็นที่พักอาศัยไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือคอนโดก็ตาม จะต้องมีทะเบียนบ้านอยู่ 1 เล่ม ในคราวนี้ PropertyScout จะพาไปดู ข้อมูลสำคัญทั้งหมดเกี่ยวกับทะเบียนบ้าน มีทั้ง เอกสารที่ใช้ขอทะเบียน ขั้นตอนการขอทะเบียนบ้านที่สำนักทะเบียน ค่าใช้จ่ายในการขอ รวมถึงวิธีขอทะเบียนบ้านออนไลน์สำหรับคนที่ไม่สะดวกเดินทางไปที่สำนักงานด้วยตัวเอง
ทะเบียนบ้านคืออะไร ?
ตามมาตรา 4 พรบ.ทะเบียนราษฎร พ.ศ 2534 ระบุไว้ว่า ทะเบียนบ้าน (ทะเบียนราษฎร หรือ ทร.14) คือ ทะเบียนประจำบ้านแต่ละบ้าน ซึ่งแสดงเลขประจำบ้านและรายชื่อบุคคลทั้งหมดที่อยู่ในบ้าน ทั้งนี้รายละเอียดภายในทะเบียนบ้านจะมีข้อมูลตัวบุคคล อาทิเช่น ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชน เพศ วันเดือนปีเกิดและวันที่เสียชีวิต รวมไปถึงสัญชาติ ศาสนา ภูมิลำเนา ชื่อบิดามารดา ฯลฯ
รายละเอียดภายในทะเบียนบ้าน มีอะไรบ้าง?
สำหรับรายละเอียดภายในทะเบียนบ้านนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบไปด้วย
รายละเอียดเกี่ยวกับบ้าน
- เลขรหัสประจำบ้าน 11 หลัก (ส่วนสำคัญคือหลักที่ 1-4 เพราะเป็นรหัสของสำนักทะเบียนตามรหัสจังหวัดและอำเภอของประเทศไทย ส่วนหลักที่ 5-10 เป็นเลขเรียงลำดับของแต่ละบ้านในสำนักทะเบียนนั้นๆ ตามที่เจ้าหน้าที่ได้กำหนด และหลักที่ 11 เป็นเลขตรวจสอบความถูกต้องของเลขประจำบ้านทั้งหมด
- สำนักทะเบียนระบุชื่อท้องถิ่น ซึ่งจะสอดคล้องกับเลขรหัสประจำบ้าน 4 หลักแรก
- รายการที่อยู่ เป็นการระบุที่อยู่แบบเป็นทางการของบ้าน คือ บ้านเลขที่ หมู่ ถนน แขวง เขต จังหวัด โดยเรามักจะใช้รายละเอียดในส่วนนี้ อ้างอิงสำหรับการกรอกข้อมูลที่อยู่ตามเอกสารทั่วๆ ไป
- ชื่อหมู่บ้าน ระบุชื่อหมู่บ้านหรือชื่อโครงการ
- ชื่อบ้าน ระบุชื่อหมู่บ้านหรือชื่อโครงการ
- ประเภทบ้าน อาคารชุด ตึกแถว
- ลักษณะบ้าน อาคารชุด ตึกเดี่ยว ตึกแฝด
- วัน เดือน ปี ที่ได้กำหนดบ้านเลขที่
รายละเอียดข้อมูลบุคคลภายในบ้าน
ในส่วนของรายละเอียดข้อมูลบุคคลภายในบ้านจะมีรายละเอียดของแต่ละบุคคลปรากฏอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ชื่อ-นามสกุล ชื่อบิดา-มารดา เลขบัตรประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด ประวัติย้ายที่อยู่เดิม ฯลฯ ทั้งนี้รายชื่อภายในทะเบียนบ้านจะถูกแบ่งออกเป็น 2 สถานะ คือ เจ้าบ้านและผู้อยู่อาศัย
เจ้าบ้าน
เจ้าบ้าน คือ ผู้ที่มีชื่อเป็นหัวหน้าครอบครองบ้าน ซึ่งตามกฎหมายทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ได้กำหนดให้เจ้าบ้านมีหน้าที่ต้องแจ้งหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นไปแจ้งเรื่องต่อนายทะเบียนเมื่อมีเรื่องต่างๆ ดังนี้
- แจ้งเกิด เมื่อมีคนเกิดขึ้นมาใหม่ และต้องการนำชื่อเข้าสู่ทะเบียนบ้านหลังนั้นๆ เจ้าบ้านจะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนท้องถิ่นภายใน 15 วัน(นับตั้งแต่วันที่เกิด)
- แจ้งตาย เมื่อบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ภายในทะเบียนบ้านตาย เจ้าบ้านจะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนท้องถิ่นภายใน 24 ชั่วโมง(นับตั้งแต่เวลาตายหรือพบศพ)
- แจ้งย้ายคนเข้า-ออก เมื่อมีการย้ายชื่อเข้า-ออก ภายในทะเบียนบ้าน เจ้าบ้านจะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนท้องถิ่นภายใน 15 วัน(นับแต่วันที่ผู้นั้นย้ายเข้า หรือย้ายออกจากบ้าน)
- แจ้งขอเลขหมายประจำบ้าน ในกรณีที่มีการรื้อถอนบ้านเดิมและปลูกสร้างบ้านใหม่ ให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนท้องถิ่น เพื่อขอเลขหมายประจำบ้านภายใน 15 วัน(นับแต่วันสร้างบ้านเสร็จ) โดยบ้านที่จะขอเลขบ้าน ต้องมีลักษณะเป็นบ้านที่สามารถอยู่อาศัยได้
ผู้อยู่อาศัย
ผู้อยู่อาศัย คือ ผู้ที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน แต่ทั้งนี้ ผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหลังไหนก็ตามจะถูกตีความว่าบ้านหลังนั้นเป็นบ้านหลังหลัก และที่สำคัญคือเราสามารถมีชื่ออยู่ภายในทะเบียนบ้านได้หลังเดียวเท่านั้น แม้ว่าจะมีบ้านหรือคอนโดหลายหลังก็ตาม อีกทั้งทะเบียนบ้านไม่จำเป็นต้องมีชื่อผู้อยู่อาศัยทุกหลังก็ได้ (สำหรับผู้ที่มีบ้านหรือคอนโดหลายหลัง)
เอกสารที่ใช้ในการขอทะเบียนบ้าน มีอะไรบ้าง?
- เอกสาร ทร.9 หรือ ใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน ออกโดยหน่วยงานท้องที่ (ผู้ใหญ่บ้าน/อบต.)
- ใบอนุญาตก่อสร้างหรือหนังสือรับรองสิ่งปลูกสร้างตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคาร หรือ หนังสือสัญญาซื้อขายบ้าน
- โฉนดที่ดินหรือเอกสารสิทธิ์แสดงการครอบครองที่ดิน
- บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของบ้าน ผู้แจ้งขอทะเบียนบ้าน หรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมาย
- หนังสือมอบอำนาจ ถ้าเจ้าของบ้านไม่สามารถมาติดต่อขอทะเบียนบ้านด้วยตนเอง ได้มอบหมายให้ผู้อื่นมาติดต่อแทน สำหรับเอกสารที่จะต้องใช้ กรณีรับมอบอำนาจ จะมีบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของบ้าน และ เซ็นสำเนาถูกต้องในเอกสารสำคัญอย่างละ 1 ชุด ในเอกสารมอบอำนาจจะต้องมีพยานบุคคล 2 คน ลงชื่อรับทราบด้วย
- รูปถ่ายสิ่งปลูกสร้างที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ประกอบไปด้วย 4 ด้าน คือ ด้านหน้า ด้านหลัง ด้านซ้าย และด้านขวาของตัวบ้าน
สนใจอ่านบทความอื่นที่เกี่ยวข้อง คลิก
วิธีขอทะเบียนบ้าน ทำอย่างไร?
ขอทะเบียนบ้านแบบปกติ
- เข้าไปยื่นเรื่องที่สำนักทะเบียนที่ปลูกสร้างบ้าน ในกรุงเทพฯ ยื่นเรื่องได้ที่ฝ่ายทะเบียนสำนักงานเขต ต่างจังหวัดยื่นเรื่องไปที่ฝ่ายทะเบียนที่ว่าการอำเภอ
- หลังจากยื่นเรื่องเสร็จนายทะเบียนตรวจสอบหลักฐานต่าง ๆ จากนั้นทำการออกเลขที่บ้านพร้อมกับจัดทำสมุดทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้าน
- ส่งมอบทะเบียนบ้านให้กับผู้แจ้งเรื่อง
- ทำเรื่องย้ายบุคคลเข้ามาอยู่ในทะเบียนบ้าน
*ทั้งนี้ ในการขอทะเบียนบ้านกรณีทะเบียนบ้านเก่าหายหรือทะเบียนบ้านชำรุด จะต้องเสียค่าธรรมเนียม 20 บาท หรือสอบถามข้อมูลจาก สำนักบริหารการทะเบียนกรมการปกครองเพิ่มเติม ได้ที่ Call Center 1548
ขอทะเบียนบ้านออนไลน์
เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนทั่วไป ได้มีประกาศให้สามารถแจ้งขอทะเบียนบ้านออนไลน์ หรือ ทะเบียนบ้านดิจิทัล ตามขั้นตอนดังนี้
- ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น DOPA ผ่านทาง App Store สำหรับ iOS และ Play Store สำหรับ Android
- นำบัตรประชาชนไปยื่นเรื่องกับนายทะเบียนด้วยตัวเอง ที่สำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนท้องถิ่น หรือตามที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด เพื่อยืนยันตัวตนผ่านลายนิ้วมือและใบหน้า และรับรหัสผ่าน (PIN) สำหรับใช้แอปฯ
- เจ้าหน้าที่ผู้รับลงทะเบียนทำการตรวจสอบหลักฐานและข้อมูล ก่อนเข้าสู่แอปฯ และเลือกใช้บริการตามที่ต้องการ
ในทะเบียนบ้านจำเป็นต้องมีชื่อเจ้าของหรือไม่?
สำหรับทะเบียนบ้านของคอนโดนั้น จะมีชื่อหรือไม่มีชื่อเจ้าบ้านก็ได้ แต่หากมีชื่อเป็นเจ้าบ้านในทะเบียนบ้านนั้นจะมีความสะดวกในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการมากกว่า อีกทั้งยังมีประโยชน์กับผู้ที่ต้องการขาย เพราะจะได้รับการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ของราคาประเมิน ให้กับเจ้าของที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเกิน 1 ปี นั่นเอง
ทะเบียนบ้านคอนโดแตกต่างจากทะเบียนบ้านแนวราบทั่วไปหรือไม่?
สำหรับคำตอบในข้อนี้ก็คือ 'ไม่แตกต่าง' เพียงแค่รายละเอียดภายในทะเบียนบ้านของคอนโด จะมีการระบุลักษณที่อยู่อาศัยเป็นประเภท 'อาคารชุด' เพียงแค่นั้นเลย
ทะเบียนบ้านสูญหายต้องทำอย่างไร?
ในกรณีที่ทะเบียนบ้านสูญหาย คุณสามารถยื่นคำร้องกับฝ่ายทะเบียน พร้อมแนบเอกสารหลักฐานได้ดังต่อไปนี้
เอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับกรณีทะเบียนบ้านสูญหาย
- บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน
- กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทน จะต้องมีบัตรประจำตัวของผู้มอบและผู้รับมอบหมาย หนังสือผู้มอบหมาย ค่าธรรมเนียมในการออกเล่มใหม่ฉบับละ 20 บาท
สรุปส่งท้าย
หวังเป็นว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับทุกคนไม่มากก็น้อย สำหรับ ทะเบียนบ้าน นั้น ถือเป็นเอกสารสำคัญที่จะต้องเก็บรักษาไว้ให้ดี เพื่อความปลอดของทรัพย์สินและตัวของเราเอง หากใครไม่รู้ว่าจะต้องใช้เอกสารอะไร และต้องไปยื่นเรื่องที่ไหน ก็นำข้อมูลเหล่านี้ไปประกอบการพิจารณาสำหรับเตรียมตัวก่อนทำทะเบียนบ้านกัน และเพื่อความสะดวกยิ่งขึ้นก็มีช่องทางออนไลน์ให้ใช้บริการกันอีกด้วย ไว้โอกาสหน้าทีมงานจะนำข้อมูลดี ๆ อะไรมาฝากกันอีก รอติดตามกันได้เลย!
ซื้อบ้าน-คอนโด กับ PropertyScout พร้อมบริการสุดเอกซ์คลูซีฟ
และคำแนะนำดี ๆ เรื่องอสังหา คลิกเลย