ผ่อนบ้านไม่ไหว ประนีประนอมกับแบงค์ยังไงดี?

Author
by
At
December 21, 2022
ผ่อนบ้านไม่ไหว ประนีประนอมกับแบงค์ยังไงดี? ผ่อนบ้านไม่ไหว ประนีประนอมกับแบงค์ยังไงดี?

เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโดไม่ไหว แต่ก็ไม่อยากปล่อยให้บ้านถูกยึดประนีประนอมแบบไหนแบงค์ถึงจะยอมนะ?

ถึงแม้ว่าสถานการณ์ที่กำลังเจอจะดูตึงเครียด มืดมน ไร้หนทาง แต่หากว่าเรารีบประเมินสถานการณ์และความสามารถทางการเงินของตนเองทันที แล้วเตรียมพร้อมเจรจาขอประนีประนอมหนี้กับธนาคาร ก็ยังมีโอกาสที่จะแก้ไขสถานการณ์ก่อนที่เราจะติดเครดิตบูโรครับ ในคราวนี้ PropertyScout Blog จะพาทุกคนมาดูกันว่าถ้าผ่อนบ้านไม่ไหว จะมีวิธีประนีประนอมกับแบงค์แบบไหนบ้าง แต่ละวิธีเหมาะกับผู้กู้แบบไหน และสถานการณ์แบบไหนบ้าง มาดูกันครับ

การประนีประนอมหนี้คืออะไร?

อย่างแรกต้องขออธิบายถึงความหมายของ การประนอมหนี้ ก่อนครับ การประนอมหนี้คือการที่เราขอเข้าไปเจรจาข้อตกลงเรื่องหนี้สินกับผู้ที่เป็นเจ้าหนี้ เช่น ขอลดหย่อน ผ่อนผัน หรือปรับเปลี่ยนข้อตกลง โดยมีจุดประสงค์หลักคือการช่วยชะลอ หรือหยุดการดำเนินการของเจ้าหนี้ จากการที่เราผิดนัดชำระหนี้ เช่น ฟ้องร้องและยึดทรัพย์สิน

ในกรณีของการช่วยชะลอการดำเนินการของเจ้าหนี้ อาจจะเป็นรูปแบบของการลดภาระในการชำระหนี้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ลูกหนี้กำลังตกอยู่ในสภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงิน ผ่อนบ้านหรือผ่อนคอนโดไม่ไหว

การประนีประนอมหนี้คืออะไร-scaled
การประนอมหนี้คือการที่เราขอเข้าไปเจรจาข้อตกลงเรื่องหนี้สินกับผู้ที่เป็นเจ้าหนี้

เมื่อผ่อนบ้านไม่ไหว จะประนีประนอมหนี้อย่างไร?

ขอเพิ่มระยะเวลาในการชำระหนี้

วิธีนี้จะช่วยให้ยอดค่าผ่อนชำระต่อเดือนลดลง แต่ผู้กู้จะขอเพิ่มระยะเวลาในการชำระหนี้ได้จนอายุไม่เกิน 70 ปี เท่านั้น

สถานการณ์ที่เหมาะกับการขอขอเพิ่มระยะเวลาในการชำระหนี้

  • ผู้กู้มีรายได้เท่าเดิมแต่รายจ่ายสูงขึ้น
  • ผู้กู้ยังมีรายได้เป็นประจำทุกเดือน แต่มีเหตุ หรือสถานการณ์ที่ทำให้ให้รายได้ต่อเดือนลดลง

การขอเพิ่มระยะเวลาในการชำระหนี้เหมาะกับผู้กู้ที่มีคุณสมบัติ ดังนี้

  • สัญญากู้ในปัจจุบันมีระยะเวลากู้ไม่ถึง 30 ปี
  • ผู้กู้ยังมีอายุน้อยหรือ ยังมีเวลาอีกหลายปีกว่าจะอายุถึง 70 ปี
  • มีรายได้ต่อเดือนเป็นประจำ เช่น เงินปันผลรายเดือน หรือ เงินเดือนจากการทำงานประจำ
ขอเพิ่มระยะเวลาในการชำระหนี้-scaled
ขอเพิ่มระยะเวลาในการชำระหนี้ จะช่วยให้ยอดค่าผ่อนชำระต่อเดือนลดลง

ขอชำระค่าผ่อนบ้านต่ำกว่าปรกติ

วิธีประนีประนอมหนี้ จะนำไปใช้ได้ก็ต่อเมื่อจำนวนยอดผ่อนชำระต่อเดือนนั้นสูงกว่ายอดดอกเบี้ยต่อเดือนอย่างน้อย 500 บาท ซึ่งผู้กู้สามารถขอประนอมหนี้ได้เพียงครั้งเดียว และระยะเวลาในการชำระค่าผ่อนที่ต่ำกว่าปกตินั้นต้องไม่นานเกิน 2 ปี

สถานการณ์ที่เหมาะกับการขอชำระค่าผ่อนบ้านต่ำกว่าปกติ :

  • ผู้กู้มีรายได้เท่าเดิมแต่รายจ่ายสูงขึ้น
  • ผู้กู้ยังมีรายได้เป็นประจำทุกเดือน แต่มีเหตุ หรือสถานการณ์ที่ทำให้ให้รายได้ต่อเดือนลดลง

การขอชำระค่าผ่อนบ้านต่ำกว่าปกติเหมาะกับผู้กู้ที่มีคุณสมบัติดังนี้ :

  • ประวัติการชำระค่าผ่อนบ้านดี มีวินัย
  • มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถจัดการกับรายจ่ายต่าง ๆ  ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการผ่อนบ้านในจำนวนเดิมได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด
ขอชำระค่าผ่อนบ้านต่ำกว่าปรกติ
ขอชำระค่าผ่อนบ้านต่ำกว่าปรกติ

ขอลดอัตราดอกเบี้ย

การขอลดอัตราดอกเบี้ย มักเป็นไปได้กับกรณีที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงกว่าเมื่อครั้งแรกที่กู้ ส่วนในกรณีอื่นธนาคารอาจจะให้เราชำระเป็นเงินก้อน ซึ่งสูงกว่าค่าผ่อนต่อเดือน หรือให้ชำระหนี้ทั้งหมดภายในครั้งเดียวครับ

สถานการณ์ที่เหมาะกับการขอลดดอกเบี้ย :

  • ผู้กู้มีรายได้เท่าเดิมแต่รายจ่ายสูงขึ้น
  • ผู้กู้ยังมีรายได้เป็นประจำทุกเดือน แต่มีเหตุ หรือสถานการณ์ที่ทำให้ให้รายได้ต่อเดือนลดลง

การขอลดดอกเบี้ยเหมาะกับผู้กู้ที่มีคุณสมบัติดังนี้ :

  • ประวัติการชำระค่าผ่อนบ้านดี มีวินัย
  • ธนาคารจะประเมินความเป็นไปได้ที่ผู้กู้จะมีรายได้สูงพอ สำหรับกรณีที่ต้องชำระเงินก้อนตามเงื่อนไขของธนาคาร
ขอลดอัตราดอกเบี้ย-scaled
สำหรับการขอลดอัตราดอกเบี้ย ธนาคารจะประเมินความเป็นไปได้ที่ผู้กู้จะมีรายได้สูงพอ
สำหรับกรณีที่ต้องชำระเงินก้อนตามเงื่อนไขของธนาคาร

ผ่อนผันการค้างชำระ

การขอผ่อนผันการค้างชำระ เป็นวิธีที่จะช่วยให้เวลากับผู้กู้ในการแก้ไข หรือจัดการปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้น แต่การขอผ่อนผันจะต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 36 เดือน จากนั้นก็จะต้องเริ่มชำระเงินที่ค้างไว้ ซึ่งมีทางเลือกอยู่ทั้งหมด 3 วิธีดังนี้ครับ

1. ขอชำระเงินคงค้างทั้งหมดภายในระยะเวลาหนึ่ง

สถานการณ์ที่เหมาะกับการขอชำระเงินคงค้างทั้งหมดภายในระยะเวลาหนึ่ง

  • จำนวนเงินค้างชำระต่ำ หรือไม่สูงมากนัก
  • ผู้กู้ขาดรายได้ชั่วคราว หรือมีรายได้ต่อเดือนที่ไม่พอกับการจ่ายค่าผ่อนบ้าน 
  • ผู้กู้มีรายได้ประจำเท่าเดิมหรือใกล้เคียง แต่มีรายจ่ายสูงอย่างต่อเนื่องจนไม่สามารถชำระค่าผ่อนได้

การขอชำระเงินคงค้างทั้งหมดภายในระยะเวลาหนึ่งเหมาะกับผู้กู้ที่มีคุณสมบัติดังนี้

  • มีความเป็นไปได้ที่จะมีรายได้สูงภายในระยะเวลาที่กำหนด อาจจะเป็นรายได้จากการขายหุ้น ได้รับโบนัส หรือรายได้จากการขายสินทรัพย์อย่างบ้าน คอนโด ที่ดิน รถ ที่มีมูลค่าสูงเป็นต้น
  • มีความเป็นไปได้ที่จะจัดการชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ (ซึ่งส่งผลกระทบให้ไม่สามารถชำระค่าผ่อนบ้าน) ได้ระหว่างช่วงเวลาผ่อนผันการชำระค่าผ่อน และสามารถหารายได้มาชำระหนี้คงค้างได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด

2. ขอชำระเป็นเงินก้อนเล็กทุกเดือน

สถานการณ์ที่เหมาะกับการขอชำระเป็นเงินก้อนเล็กทุกเดือน

  • ผู้กู้ขาดรายได้ หรือมีรายได้ไม่คงที่ ซึ่งส่งผลให้มีเงินไม่เพียงพอกับค่าผ่อนในแต่ละเดือน 
  • มีรายได้ประจำเท่าเดิมหรือใกล้เคียงเดิม แต่มีรายจ่ายสูงอย่างต่อเนื่องจนไม่อาจชำระค่าผ่อนได้

การขอชำระเป็นเงินก้อนเล็กทุกเดือนเหมาะกับผู้กู้ที่มีคุณสมบัติดังนี้

  • มีความเป็นไปได้ที่จะแก้ไขสถานการณ์ขาดรายได้ หรือรายได้ไม่พอรายจ่าย ภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น หางานประจำทำ หรือสร้างอาชีพให้มีรายได้มั่นคงต่อเดือน

3. ขอชำระเป็นเงินก้อนโดยการแบ่งเป็นงวด ๆ

สถานการณ์ที่เหมาะกับการขอชำระเป็นเงินก้อนโดยการแบ่งเป็นงวด

  • ผู้กู้ขาดรายได้ชั่วคราว 
  • ผู้กู้มีรายได้ต่อเดือนไม่คงที่ 
  • ผู้กู้มีรายได้เป็นประจำ แต่มีรายจ่ายสูงชั่วคราว

การขอชำระเป็นเงินก้อนโดยการแบ่งเป็นงวดเหมาะกับผู้กู้ที่มีคุณสมบัติดังนี้

  • มีโอกาสที่จะมีรายได้จำนวนมากเป็นครั้งคราว หรือมีรายได้พิเศษสูง
  • มีความเป็นไปได้ที่จะจัดการชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ (ซึ่งส่งผลกระทบให้ไม่สามารถชำระค่าผ่อนบ้าน) ได้ระหว่างช่วงเวลาผ่อนผันการชำระค่าผ่อน และสามารถหารายได้มาชำระหนี้คงค้างได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด
ผ่อนผันการค้างชำระ
การขอผ่อนผันการค้างชำระเป็นวิธีที่จะช่วยให้เวลากับผู้กู้ในการแก้ไข หรือจัดการปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้น
แต่การขอผ่อนผันจะต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 36 เดือน

โอนหลักทรัพย์เป็นของธนาคารชั่วคราวและต้องซื้อคืนเมื่อถึงเวลา

การโอนหลักทรัพย์เป็นของธนาคารชั่วคราวและซื้อคืน เป็นการประนีประนอมหนี้ที่คล้ายกับ การขายฝาก แล้วเช่าบ้านตัวเองอยู่ โดยส่วนใหญ่มักจะทำสัญญาเช่าแบบรายปี และ ค่าเช่าหลักทรัพย์จะคิดอยู่ที่ 0.4-0.6% ของมูลค่าหลักทรัพย์ 

อย่างไรก็ตาม หากผู้กู้มีหนี้สูงกว่าราคาประเมินของหลักทรัพย์ ก็จะต้องชำระส่วนต่างภายในวันโอนครับ

สถานการณ์ที่เหมาะกับวิธีโอนหลักทรัพย์เป็นของธนาคารชั่วคราวและซื้อคืน 

  • เมื่อผู้กู้ขาดรายได้และมีแนวโน้มว่าไม่สามารถกลับมามีรายได้ภายใน 1 ปี หรือมีรายได้ไม่คงที่ต่อเดือน และมีรายจ่ายสูงอย่างต่อเนื่องมานานเกิน 1 ปี

วิธีโอนหลักทรัพย์เป็นของธนาคารชั่วคราวและซื้อคืน เหมาะกับผู้กู้ที่มีคุณสมบัติดังนี้

  • มีความสามารถจ่ายค่าเช่าต่อเดือนแก่ธนาคารได้
  • มีเงินมากพอที่จะชำระส่วนต่างระหว่างหนี้และราคาประเมินหลักทรัพย์
  • มีความเป็นไปได้ที่จะมีรายได้สูงภายในระยะเวลาที่กำหนด อาจจะเป็นรายได้จากการขายหุ้น ได้รับโบนัส หรือรายได้จากการขายสินทรัพย์อย่างบ้าน คอนโด ที่ดิน รถ ที่มีมูลค่าสูงเป็นต้น
โอนหลักทรัพย์เป็นของธนาคารชั่วคราวและต้องซื้อคืนเมื่อถึงเวลา-scaled
สำหรับการขายฝาก หากว่าผู้กู้มีหนี้สูงกว่าราคาประเมินของหลักทรัพย์ก็จะต้องชำระส่วนต่างภายในวันโอน

สรุปส่งท้าย : ผ่อนจ่ายไม่ไหว ประนีประนอมกับแบงค์ยังไงดี

ทาง PropertyScout Blog ขอแนะนำให้ผู้กู้ทุกคนพิจารณาเลือกใช้วิธีประนีประนอมหนี้ธนาคารที่ตัวเองสามารถทำได้จริง เพราะหากเลือกวิธีประนีประนอมไปแล้วเกิดจ่ายไม่ไหวก็จะทำให้บ้านหรือคอนโดของเรามีโอกาสถูกยึด และทำให้เรา ติดเครดิตบูโร ได้ครับ 

และสำหรับการประนีประนอมนั้น หากเริ่มได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็ยิ่งเป็นผลดีกับเรา เพราะประวัติการผ่อนชำระยังไม่เสียหายทำให้เราเจรจากับธนาคารได้ง่าย และโอกาสในการได้รับประโยชน์ก็จะมากกว่าด้วยครับ หากถ้าปล่อยไว้เนิ่นนาน ค้างชำระหลายงวด ก็จะทำให้สถานการณ์บานปลายไปถึงจุดที่ธนาคารยื่นฟ้องร้อง เราก็จะต้องมาเสียเวลาและเสียเงินทำเรื่องต่าง ๆ ทางกฎหมายอีกมากมายครับ


อ่านบทความ รีวิวโครงการ หรืออัปเดตข่าวเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ได้ที่ PropertyScout Blog ใครที่มีคำถาม ข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรือต้องการ ซื้อ เช่า ขาย ปล่อยเช่า สามารถติดต่อ PropertyScout ได้เลย ทีมงานของเราพร้อมให้บริการและตอบทุกข้อสงสัย