เรื่องที่ต้องรู้ก่อน ‘เซ็นสัญญากู้ซื้อบ้าน’ ด่านสำคัญที่ต้องลงรายละเอียด
ในกรณีที่เราซื้อบ้านโดยไม่ใช้เงินสด ขั้นตอนการกู้เงินถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดในการซื้อบ้าน เพราะเป็นด่านแรกที่ทำให้รู้ว่าเราสามารถซื้อบ้านได้ตามที่หมายมั่นไว้หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเราผ่านขั้นตอนนี้แล้วก็จะถือว่าฉลุย จะเหลือก็เพียงแค่การทำสัญญาเงินกู้และรับโอนบ้านเพื่อเข้ามาอยู่เท่านั้น อย่างไรก็ตาม สัญญาเงินกู้ มีรายละเอียดสำคัญหลายอย่างที่เราต้องให้ความละเอียดรอบคอบ วันนี้ PropertyScout ได้รวบรวมเรื่องสำคัญต่าง ๆ ที่ต้องรู้ก่อน เซ็นสัญญากู้ซื้อบ้าน มาฝากกัน
ทำสัญญากู้ภายในเวลาที่กำหนด
เมื่อยื่นเอกสารกู้เงินบ้านผ่านเรียบร้อยแล้ว สิ่งสำคัญอันดับถัดมาก็คือ การทำสัญญาเงินกู้กับธนาคาร ภายใน 45 วัน นับจากวันที่ได้รับอนุมัติเงินกู้ เพราะบางธนาคารอาจให้ระยะการทำสัญญาเกินกว่านี้ ไม่อย่างนั้นหากทำสัญญาเงินกู้เกินระยะเวลาดังกล่าว ทุกอย่างจำเป็นต้องเริ่มต้นใหม่ ตั้งแต่การขอยื่นกู้ ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้บ ดังนั้น กรณีที่ซื้อบ้านแบบผ่อนดาวน์ จึงต้องแน่ใจก่อนว่าบ้านจะเสร็จทันกับการเซ็นสัญญาเงินกู้และรับโอนกรรมสิทธิ์
สิ่งสำคัญที่ต้องรู้ ก่อนทำสัญญาเงินกู้บ้าน
สัญญาเงินกู้บ้านมีรายละเอียดข้อมูลที่สำคัญมากมาย ซึ่งเราจำเป็นที่ต้องรู้และตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบ ก่อนทำสัญญาเงินกู้บ้านทุกครั้ง ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการผิดสัญญาเงินกู้ และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลังนั่นเอง โดยสิ่งสำคัญที่เราต้องรู้ และตรวจสอบก่อนทำสัญญาเงินกู้บ้านก็มีดังนี้
- อัตราดอกเบี้ย และเงื่อนไขการผ่อนชำระ
ตรวจสอบอัตราดอกเบี้ย วงเงินกู้ จำนวนเงินที่ต้องชำระ และวันที่ต้องชำระให้เรียบร้อย เพื่อปฏิบัติตามสัญญาอย่างถูกต้อง
- การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้
ถือเป็นอีกส่วนสำคัญที่ต้องตรวจสอบในสัญญาเงินกู้ให้ดี หากเราผิดนัดชำระหนี้ หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้อง หรือชำระหนี้ล่าช้า อาจต้องถูกปรับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศ ซึ่งเมื่อเฉลี่ยแล้วจะอยู่ประมาณ 15-20% ต่อปี
- การคิดเบี้ยปรับกรณีไถ่ถอนก่อนกำหนด (รีไฟแนนซ์)
โดยปกติทางธนาคารจะคิดเบี้ยปรับ 3% ของวงเงินกู้คงเหลือ โดยกำหนดระยะเวลาการไถ่ถอน 3 – 5 ปี แล้วแต่แพ็คเก็จสินเชื่อบ้านของแต่ละคน รายละเอียดส่วนนี้จะถูกเขียนเรื่องการไถ่ถอนก่อนกำหนดไว้ในสัญญาเงินกู้ด้วย ดังนั้นอย่าลืมตรวจสอบรายละเอียดส่วนนี้ให้ดีด้วยนะ
ตัวอย่างรายละเอียดและเงื่อนไข
กู้เงิน 3,000,000 บาท และจำนองเต็มวงเงิน เสียค่าจำนอง 1% เท่ากับ 30,000 บาท ถ้าต้องการไถ่ถอนปิดบัญชีด้วยเงินสด ในปีที่ 4 ต้องคืนเงินจำนวน 30,000 บาท ให้กับธนาคารเต็มจำนวน ส่วนค่าปรับ 3% ไม่ต้องเสีย เพราะระยะเวลากู้เกิน 3 ปี แต่ถ้ารอให้เกิน 5 ปี จะไม่ต้องเสียค่าปรับใด ๆ ให้กับธนาคาร เพราะสามารถปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด ทั้งนี้ ในส่วนของค่าปรับที่ต้องเสีย ผู้ขอกู้ต้องนำมาเปรียบเทียบกับดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่อไป เพื่อให้ครบตามเงื่อนไข 5 ปี ว่าเงินค่าปรับจำนวนนี้จะคุ้มกับที่จะปิดภาระหนี้หรือไม่
- MLR กับ MRR ไม่เท่ากัน ต้องชัดเจนว่าอันไหน แล้วมีบวกหรือลบอะไรด้วยไหม
อย่างแรกก่อนที่เราจะกู้เงินซื้อบ้านกับธนาคารก็คือตรวจสอบใบสรุปอัตราดอกเบี้ยก่อนทำสัญญาว่าธนาคารนั้น ๆ ใช้อัตราดอกเบี้ยแบบ MLR หรือ MRR หรืออัตราดอกเบี้ยชนิดอื่น ๆ แต่ปกติแล้วการกู้ซื้อบ้านก็จะมีอยู่ 2 แบบดังกล่าว อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วถ้าเราลองเรียงลำดับอัตราดอกเบี้ยที่สูงสุดไปต่ำสุดจะเรียงได้แบบนี้คือ MRR>MOR>MLR แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการที่เราได้ดอกเบี้ยในอัตรา MLR จากธนาคารแล้วเราจะดีใจว่าเราได้อัตราที่ต่ำสุด เพราะในบางครั้งหากอีกธนาคารเสนออัตราดอกเบี้ย MRR แต่มีลบด้วย X% ซึ่งพอคำนวณออกมาแล้ว จำนวนดอกเบี้ยอาจต่ำกว่า MLR (แบบไม่มีลบอะไรเลย) ก็ได้
เช็คอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR และ MRR คลิก
- ถ้าชำระช้าจะโดนเบี้ยปรับ และดอกเบี้ยผิดนัดจะมีความผันผวนตลอดเวลา
ถ้าหากผิดนัดชำระ จะโดนปรับเลยไหม? คำตอบก็คือ ปรับ หากผู้กู้ชำระเลยกำหนดเวลาชำระแต่ละครั้ง เช่น ทุกสิ้นเดือน ธนาคารจะคิดเบี้ยปรับทันที โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้นเป็นอัตราดอกเบี้ยผิดนัด (Late Charge) ซึ่งธนาคารแต่ละแห่งจะคิดไม่เท่ากัน และมีความผันผวนอีกด้วย
- Prepayment Fee แต่ละธนาคารอาจไม่เท่ากัน
Prepayment Fee คือ ค่าธรรมเนียมชําระคืนเงินกู้ก่อนกําหนด ในกรณีที่ผู้กู้นั้นต้องการโปะหนี้ให้หมดภายในระยะเวลา 3 ปีแรก เพื่อไปใช้วงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินอื่น (Refinance) นับจากวันที่ทำสัญญา ผู้กู้ก็จะต้องยินยอมให้ธนาคารคิดค่าธรรมเนียมดังกล่าว ซึ่งแต่ละธนาคารก็จะแตกต่างกันไป ซึ่งกรณีนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการชำระหนี้เกินจากยอดขึ้นต่ำ แต่ถ้าหากเป็นเงินเราเองสามารถชำระเท่าไหร่ก็ได้ไม่เสียค่าธรรมเนียม
ธนาคาร | ตัวอย่างอัตราค่าธรรมเนียมชําระคืนเงินกู้ก่อนกําหนด |
ธนาคารกรุงไทย | ร้อยละ 3 ของเงินกู้ที่ชําระหนี้เสร็จสิ้น |
ธนาคารแห่งประเทศจีน | ร้อยละ 3 ของจำนวนเงินกู้ทั้งหมด |
ธนาคารเกียรตินาคิน | ร้อยละ 5 ของจำนวนเงินที่ชำระคืนก่อนกำหนด |
ธนาคารทหารไทยธนชาต | ขั้นต่ำร้อยละ 1 สูงสุดไม่เกินร้อยละ 3 |
- เมื่อขอสินเชื่อจะโดนทำ 'ประกันภัยอัคคีภัย' พ่วงด้วยเสมอ แต่ 'ประกันชีวิต' เราจะเลือกไม่ทำก็ได้
เวลาขอกู้เงินซื้อบ้านหรือคอนโดกับธนาคาร ธนาคารก็มักจะพ่วงประกันให้กับเราด้วย โดยเฉพาะประกันอัคคีภัย เพราะถือเป็นการลดความเสี่ยงให้กับธนาคารเองและผู้ทำประกันก็ได้ประโยชน์ ถ้าหากเกิดไฟไหม้ ประกันก็จะจ่ายให้กับธนาคาร และบางธนาคารก็จะบังคับให้เราซื้อประกันชีวิตเพิ่มอีก เพราะถ้าหากผู้กู้เสียชีวิต ประกันก็จะส่งต่อบ้านหรือคอนโดที่กู้ไว้ให้
ทั้งนี้เรามีสิทธิ์ที่จะซื้อหรือไม่ซื้อประกันชีวิตก็ได้แต่ก็อาจจะมีผลต่อการพิจารณาสินเชื่อ หรือไม่เช่นนั้นก็จะมีเงื่อนไขพิเศษต่าง ๆ ขึ้นมาถ้าหากซื้อประกันด้วย เช่น หากทำประกันชีวิตคุ้มครองวงเงินกู้สินเชื่อหลัก จะได้ลดอัตราดอกเบี้ยจำนวน 1 ปี เป็นต้น
- ประกันภัยลดความเสี่ยงให้เราและธนาคาร แต่เราเป็นคนจ่ายค่าเบี้ย
อย่างที่กล่าวไปแล้วจากข้อด้านบนว่าส่วนใหญ่ธนาคารจะบังคับให้ทำประกันอัคคีภัย หรือให้ช่วยทำประกันชีวิตด้วย ซึ่งการทำประกันก็ถือเป็นข้อดีอย่างหนึ่งที่จะทำให้แบ่งเบาภาระหากเกิดเรื่องไม่คาดฝัน แต่เราต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันเอง โดยปกติแล้วเบี้ยประกันอัคคีภัยก็จะอยู่ที่ประมาณปีละ 2,000 บาท ส่วนเบี้ยประกันชีวิตก็แล้วแต่ว่าจะทำแบบใด เบี้ยประกันก็จะอยู่ที่หลักหมื่นถึงหลักแสน
- ความรับผิดระหว่างผู้กู้ร่วมมีอะไรบ้าง?
ความรับผิดชอบของผู้กู้ร่วมแต่ละคนจะมีจำนวนเท่ากัน อย่างเช่น กู้ธนาคารร่วมกัน 2 คน เป็นจำนวนเงิน 2 ล้านบาท ระหว่างผู้กู้ร่วมกันเองจะต้องรับผิดชอบกันคนละ 1 ล้านบาท ถ้าคนใดคนหนึ่งจ่ายไปเต็ม 2 ล้านบาท ก็สามารถไปเรียกจากอีกคนได้ครึ่งหนึ่ง คือ 1 ล้านบาท
- ความยินยอมของผู้สมรส
สำหรับผู้ที่แต่งงานและจดทะเบียนเรียบร้อยแล้วก่อนจะทำนิติกรรมใด ๆ เช่น ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือ โอนสิทธิจำนองซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี ให้กู้ยืมเงิน ฯลฯ จะต้องมีหนังสือยินยอมจากคู่สมรสก่อน คือต้องเซ็นสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน เป็นหลักฐานเพื่อให้ทราบว่า คู่สมรสจะไปทำนิติกรรมต่าง ๆ เช่น ขอสินเชื่อ แต่หากเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นระหว่างที่อยู่กินฉันเป็นสามีภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ถือเป็นหนี้ส่วนตัว อีกฝ่ายไม่ต้องรับผิดชอบ และไม่ต้องขอความยินยอมในการทำธุรกรรมดังกล่าว
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดวิธีจัดการสินสมรสในมาตรา 1476 ว่า สามีและภรรยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกัน หรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อน ไม่เช่นนั้นแล้วอาจถูกอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องร้องต่อศาลให้เพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ภายหลัง ซึ่งการ 'กู้เงิน' เป็นนิติกรรมหนึ่งที่ต้องได้รับความยินยอมของผู้สมรส ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้คู่สมรสฝ่ายที่ไม่รู้เห็นด้วย ต้องมารับผิดชอบร่วมกัน
- ต้องใช้เพื่ออยู่อาศัย หากใช้เพื่อการพาณิชย์ อาจโดนปรับอัตราดอกเบี้ยได้
ในการขอสินเชื่อถ้าหากระบุว่าเพื่ออยู่อาศัย อัตราดอกเบี้ยก็จะเป็นไปตามสัญญาที่ธนาคารกำหนดไว้ แต่ถ้าหากเราใช้เพื่อการพาณิชย์ เช่น เปิดร้านอาหาร ทำเป็นโฮมออฟฟิศ ธนาคารก็จะมองว่ามีความเสี่ยงกว่าการอยู่อาศัยทั่วไป ธนาคารก็จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นกว่าอยู่อาศัยแบบธรรมดาได้
- ธนาคารจะให้เรารับผิดชอบค่าใช้จ่ายทุกอย่าง
จะกู้เงินซื้อบ้านสักหลังนั้น ค่าใช้จ่ายทุกอย่างเราต้องรับผิดชอบเอง เริ่มตั้งแต่ค่าประเมิน ค่าธรรมเนียมยื่นกู้ ค่าอากรแสตมป์ เพราะฉะนั้นแล้วเราต้องมีเงินสำรองเพียงพอต่อการจ่ายค่าธรรมเนียมทุกอย่างที่จะตามมาด้วย
- ระวังไว้เราอาจผิดนัดโดยไม่รู้ตัว ควรอ่านข้อ 'เหตุผิดนัด' ให้ละเอียด
เราอาจผิดสัญญาโดยไม่รู้ตัว เช่น เราทำธุรกิจแต่ธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ มีผลกระทบทางการเงิน ถูกฟ้องร้อง หรือเกิดไฟไหม้ครัวในคอนโดที่เราอยู่ ทำให้เกิดการเสื่อมหรือเสียราคาหรือมีมูลค่าลดน้อยลง ถ้ามีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นจากตัวอย่างที่กล่าวไป ในสัญญามักเรียกว่า 'เหตุผิดนัด' ธนาคารก็จะมีการกำหนดระยะเวลาให้แก้ไข แต่ถ้าไม่แก้ไขธนาคารก็จะถือว่าผู้กู้ผิดสัญญาที่ทำไว้กับธนาคาร เราก็ต้องชำระหนี้ส่วนที่เหลือทั้งหมดทันที หากไม่สามารถชำระหนี้ได้ ธนาคารก็มีสิทธิจะฟ้องเรา
- ดอกเบี้ยทบต้นจะคิดได้ต้องค้างก่อน 1 ปี ถึงจะถูกต้องตามกฎหมาย
ดอกเบี้ยทบต้น มาตรา 655 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า 'ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยที่ค้างชำระ' แต่ว่าเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง คู่สัญญากู้ยืมเงินจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้ หรือพูดง่าย ดอกเบี้ยทบต้นก็คือการเอาดอกเบี้ยค้างชำระไปบวกเข้ากับเงินต้นแล้วคิดดอกเบี้ยบนจำนวนที่รวมกันแล้วนั้นอีกที
- ผิดนัดชำระหนี้ ธนาคารหักเงินจากบัญชีเงินฝากได้ตลอด
หากเรามีปัญชีเงินฝากที่เป็นธนาคารเดียวกับธนาคารที่ขอสินเชื่อ ธนาคารจะสามารถถอนเงินจากบัญชีเราไปชำระหนี้ได้ถ้าหากค้างชำระ ซึ่งในกรณีนี้นั้นต้องมีระบุในสัญญาด้วย (ข้อสัญญาหักกลบลบหนี้ Set-off) ส่วนใหญ่จะระบุประมาณว่า อย่างเช่น เมื่อมีเหตุผิดนัดสัญญาเกิดขึ้น ผู้กู้ยินยอมให้ธนาคารมีสิทธิหักเงินจากบัญชีเงินฝากทุกประเภทที่ผู้กู้หรือผู้กู้เป็นเจ้าของร่วมกับบุคคลอื่นใด (ถ้ามี) มีอยู่กับธนาคาร รวมทั้งเงิน หรือหนี้สินที่เป็นตัวเงินอื่นใดที่ผู้กู้เป็นเจ้าของหนี้ของธนาคาร หรือมีสิทธิได้รับคืนจากธนาคาร เพื่อนำมาชำระหนี้ที่ผู้กู้ค้างชำระอยู่กับธนาคารได้โดยไม่ต้องขอความยินยอม หรือส่งหนังสือบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ผู้กู้ หรือเจ้าของร่วมดังกล่าว และไม่ต้องรอให้รายการฝากเงิน หรือหนี้ที่ธนาคารเป็นลูกหนี้ของผู้กู้ถึงกำหนดชำระแต่อย่างใด
- ถ้าบ้านเสียหาย บริษัทประกันจะจ่ายเงินประกันให้ธนาคารก่อนเสมอ
ผู้ที่กู้จะต้องทำประกันวินาศภัยกับธนาคารหรือสถาบันอื่นที่ธนาคารยอมรับ โดยเงินประกันจะต้องไม่น้อยกว่าราคาประเมินบ้านหรือคอนโดของเรา ในสัญญาจะระบุให้ธนาคาร (ผู้ให้กู้) เป็นผู้รับประโยชน์และเป็นผู้เก็บรักษาต้นฉบับกรมธรรม์แต่เพียงผู้เดียว นั่นหมายความว่าถ้าหากบ้านเราเกิดเสียหายขึ้นมา สถาบันที่เราทำประกันไว้ก็จะนำเงินประกันไปจ่ายให้กับธนาคารก่อน
- ธนาคารมีสิทธิเรียกหลักประกันจากเราเพิ่มได้เสมอ
การชำระเงินกู้ รวมไปถึงดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จะต้องได้รับการคุ้มครองโดยหลักประกัน สัญญากู้มีกำหนดชัดเจนว่าผู้ให้กู้อาจให้ผู้กู้หาหลักมาประกันมาเพิ่ม ในกรณีที่หลักประกันที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอหรืออาจจะไม่เพียงพอต่อเงินกู้ ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ที่ผู้ให้กู้เห็นว่าจำเป็นและเหมาะสม ซึ่งถ้าธนาคารเรียกให้เราส่งหลักประกันเพิ่ม แต่เราไม่ทำก็ถือว่าเราผิดสัญญา
- ธนาคารสงวนสิทธิไม่ให้เบิกเงินกู้ได้เสมอ
ในช่วงที่ทำเรื่องกู้และยังไม่ได้เบิกเงินหรือเบิกแล้วแต่ยังไม่ครบตามสัญญา ถ้าหากธนาคารมองว่าเราไม่สมควรจะได้รับเงินกู้เพราะเห็นว่าเรามีคุณภาพเครดิตเสื่อมถอยลงไม่อาจปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญากู้เงินได้ หรือมีการปฏิบัติผิดเงื่อนไขการเบิกเงินกู้ตามสัญญากู้เงิน ธนาคารมีสิทธิที่จะไม่การจ่ายเงินกู้ทั้งหมดหรือบางส่วนแก่เราได้ทันที และถือว่าเราไม่มีสิทธิในสัญญาต่อไป หมายถึงสินเชื่อจะถูกยกเลิก ซึ่งตัวเราเองจะต้องยอมรับผลการพิจารณาของธนาคาร และเราก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องความเสียหาย ๆ กับธนาคารได้
อย่าลืมเช็คข้อผูกมัดในสัญญาเงินกู้
ทราบหรือไม่ว่าเงินกู้ของธนาคารบางแพคเกจ อาจมีเงื่อนไขเฉพาะบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับสัญญาเงินกู้ และสามารถนำมาแลกกับอัตราดอกเบี้ยพิเศษที่ต่ำกว่าแพคเกจปกติ ดังนั้นเมื่อเราตรวจสอบข้อมูลสัญญาเงินกู้แล้ว อย่าลืมตรวจสอบข้อผูกมัดสัญญาเงินกู้ด้วย ข้อผูกมัดเหล่านั้นสามารถมีลักษณะหลากหลายได้ อย่างเช่น
- แม้ธนาคารออกค่าจดจำนองให้ 1% แต่หากไถ่ถอนก่อนกำหนดก็จะถูกเรียกเก็บเงินค่าจดจำนองคืน
- หลังกู้เงินหรือกู้สินเชื่อบ้านผ่านแล้ว เราอาจรู้สึกว่าส่วนลดอัตราดอกเบี้ยจากการซื้อประกันคุ้มครองสินเชื่อ (MRTA) ไม่จำเป็นอีกต่อไป แต่รู้หรือไม่ว่าหากยกเลิกประกันนี้แล้ว ก็อาจทำให้ถูกปรับมาใช้อัตราดอกเบี้ยปกติ โดยที่ธนาคารไม่แจ้งล่วงหน้าก็ได้
- โดยปกติเงินกู้บ้านทุกฉบับต้องพ่วงด้วยสัญญาประกันอัคคีภัย ซึ่งการเรียกเก็บค่าเบี้ยประกันภัยอาจทำ 3 ปีครั้ง และจำเป็นต้องชำระตามระยะเวลาที่กำหนด แต่ถ้าหากเราไม่ยอมชำระตามกำหนด ทางธนาคารก็สามารถหักค่าเบี้ยประกันจากบัญชีเงินกู้ของเราได้โดยอัตโนมัติ
สรุปส่งท้าย
สำหรับการเซ็นสัญญากู้ซื้อบ้านนั้น ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม PropertyScout แนะนำว่าให้อ่านข้อมูลรายละเอียดในสัญญาด้วยความรอบคอบทุกครั้ง และหากสงสัยข้อมูลต่าง ๆ ในนั้น หรือข้อมูลที่ได้รับมีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ควรสอบถามรายละเอียดจากธนาคารเพื่อทำความเข้าใจให้ชัดเจน เพราะเมื่อเซ็นสัญญาเงินกู้แล้ว ก็จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผิดสัญญา ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ได้อีก
สนใจอสังหาริมทรัพย์ ราคาไม่แพง หรือต้องการคำปรึกษาด้านการลงทุน-ซื้อขายอสังหา ฯ
ติดต่อ PropertyScout คลิกตามด้านล่าง