เจาะลึก ย่านศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ทำเลมีค่ายิ่งกว่าทองในอนาคต

Author
by
At
July 20, 2022
เจาะลึก ย่านศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ทำเลมีค่ายิ่งกว่าทองในอนาคต เจาะลึก ย่านศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ทำเลมีค่ายิ่งกว่าทองในอนาคต

ศูนย์กลางแหล่งที่อยู่อาศัย และโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานี interchange ย่านศูนย์วัฒนธรรม

จุดเริ่มต้น และรายละเอียดของศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย” เป็นสถานที่ๆ สำคัญทั้งในด้าน การบ่งบอกความเป็นตัวตนของประเทศไทย และเป็นแหล่งที่รวบรวมข้อมูลทุกอย่าง เกี่ยวกับวัฒนธรรม และศิลปะต่างๆ เกี่ยวกับประเทศไทย สถานที่ตั้งยังถือว่า เป็นอีกทำเลหนึ่ง ที่มีการเดินทางที่สะดวก และเป็นจุดที่เชื่อมต่อภายในตัวเมืองได้หลากหลายเส้นทาง ก่อนที่เราจะลงลึกในความโดดเด่นของย่านนี้ เราลองมาดูกันว่า การเกิดขึ้นของ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยนี้ มีจุดเริ่มจากอะไร

ความเป็นมาของศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศ ไอคอนความเป็นไทยผ่านการนำเสนอทางศิลปะ
ขอบคุณรูปภาพจาก Maitriahotels

ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หรืออีกชื่อคือ Thailand Cultural Center หรือ  TCC นอกจากในปัจจุบันนี้ จะเป็นสถานที่เชื่อมต่อ สำหรับกิจกรรม หรืองานสันทนาการต่างๆ ทั้งในงานคอนเสิร์ตทั้งใน และต่างประเทศ, งานเปิดตัวสินค้า, การแสดงสินค้า รวมถึงนิทรรศการต่างๆ ที่เกี่ยวกับศิลปะ วัฒนธรรมไทย ในตัวของศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้ ยังมีอะไรหลายอย่าง ที่มีความสำคัญต่อคนไทย และต่อชาวต่างชาติ ที่จะเข้ามาหาความรู้ในทุกด้านของความเป็นไทย

ด้วยทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้มองเห็นถึงความสำคัญ ในส่วนของการเผยแพร่ และการอนุรักษ์ความเป็นไทย ทั้งในส่วนของศิลปะ วัฒนธรรม ภาษา วรรณกรรม และความเป็นมาในอดีตของประเทศไทยเรา จึงมีความตั้งใจที่จะสร้างศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TCC นี้ขึ้น นอกจากเพื่อเผยแพร่ สำหรับผู้เข้าชมภายในสถานที่แห่งนี้แล้ว ยังถือเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม สำหรับชาวต่างชาติที่จะนำเอาความเป็นไทย ในด้านต่างๆ ไปเผยแพร่ในประเทศของตัวเอง และผลดีในการนำนักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวในประเทศไทยในอนาคต

ดังนั้นจึงได้มีการก่อตั้งขึ้น ในวันที่ 19 กรกฏาคม 2526 ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มก่อตั้ง โดยได้รับความช่วยเหลือในด้านต่างๆ จากทางรัฐบาลญี่ปุ่น และวันที่ 9 ตุลาคม 2530 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จมาเพื่อเปิดศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ ถือเป็นวันที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ

จุดประสงค์ของสถานที่แห่งนี้ก็คือ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนคนไทย หรือชาวต่างชาติ ที่ต้องการหาข้อมูล หรือความรู้ในประวัติความเป็นมา ของวัฒนธรรมทั้งในส่วนของศิลปะ ภาษา วรรณกรรม หรือแม้แต่การแลกเปลี่ยนการแสดงผลงาน ความเป็นไทยในด้านต่างๆ ที่สามารถมาจัดนิทรรศการ รวมถึงแม้กระทั่งเป็นสถานที่จัด การประชุมสัมมนางานวิชาการ ในด้านของวัฒนธรรม และความเป็นไทยระดับชาติ

ความสำคัญ และภายในศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ห้องโรงละครภายในศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ขอบคุณรูปภาพจาก tccbooking

นอกจากศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยแห่งนี้ จะถือว่าเป็นแลนด์มาร์คของประเทศ และเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครด้วยแล้ว ในด้านการเป็นตัวแทนของประเทศ เพื่อแสดงออกให้เห็นถึงความเป็นไทยตั้งแต่ในอดีต จนถึงปัจจุบัน ที่สำคัญประเทศไทยเราที่มีความเป็นเอกราช และมีภาษาเป็นของตัวเอง ยังมีการจัดนิทรรศการ และการแสดงต่างๆ ที่คอยสับเปลี่ยนจากทั้งหน่วยงานเอกชน และกลุ่มบุคคลทั่วไปภายนอก ซึ่งแปลว่าหากมีการแวะเวียนมาเยี่ยมชม ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยแห่งนี้เป็นประจำ จะได้รับความรู้ทางวิชาการ และความรู้รอบตัวเพิ่มเติม เกี่ยวกับความเป็นไทย รวมถึงความบันเทิงในการแสดงด้านต่างๆ 

หากเราเข้ามาดูภายในของศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยแห่งนี้ เมื่อมองจากภาพรวม เราจะเห็นการจัดสรรห้องต่างๆ ที่มีไว้สำหรับการใช้งานเฉพาะ ได้แก่

    • ห้องประชุมใหญ่ : มีการออกแบบในโครงสร้างสากล โดยมีเนื้อที่สำหรับ 2,000 ที่นั่ง นอกจากที่แห่งนี้จะใช้เป็นห้องประชุมสัมมนาวิชาการ และการจัดประชุมในระดับนานาชาติแล้ว ยังมีพื้นที่ และการออกแบบที่เหมาะสำหรับการจัดแสดงดนตรี ทั้งพื้นที่สำหรับวงดุริยางค์ และพื้นที่เวทีที่เป็นศูนย์กลาง ในการชมการแสดงได้ทั่วถึงทุกที่นั่ง
    • ห้องประชุมเล็ก : ด้วยการออกแบบที่สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ได้มากกว่า แบบห้องประชุมใหญ่ ซึ่งสามารถเพิ่มพื้นที่ได้มากถึง 500 ที่นั่ง นอกจากการใช้งานในแบบการประชุมสัมมนา หรืองานแสดงดนตรีแล้ว ยังสามารถปรับแต่งให้มีที่นั่งแบบอัฒจันทร์เพิ่ม หรือสามารถปรับขนาดได้ตามจุดประสงค์ของเจ้าของงานนั้นๆ
    • โรงละคร : ใช้สำหรับงานแสดงดนตรี หรือศิลปะทางการแสดง การละเล่นต่างๆ สามารถรองรับผู้เข้าร่วมได้มากถึง 1 พันที่นั่ง
    • หอไทยนิทัศน์ : ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของศูนย์อาคารแสดงนิทรรศการเพื่อการศึกษา ใช้งานในด้านการแสดงนิทรรศการ การแสดงในด้านต่าง รวมถึงงานละครเวที และคอนเสิร์ตทั้งไทย และต่างประเทศ ที่เน้นในเรื่องของวัฒนธรรม และการแลกเปลี่ยนศิลปะของแต่ละประเทศ

สถานที่สำคัญ และสิ่งอำนวยความสะดวกย่านศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

อาคารสำนักงาน ย่านศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ศูนย์รวมธุรกิจขนาดใหญ่ในย่านรัชดาภิเษก ขอบคุณรูปจาก Knight Frank

ด้วยความที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ได้ตั้งอยู่ถนนที่ตัดผ่าน หรือเชื่อมต่อกับถนนรัชดาภิเษก ที่ถือว่าเป็นอีกแหล่ง ที่นอกจากเป็นย่านถนนแห่งแสงสียามค่ำคืนแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญๆ และสถานที่ และแหล่งอำนวยความสะดวกอีกมากมาย ได้แก่

  • ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย : เป็นแหล่งสถานที่ๆ สำคัญในด้านการเงิน และการลงทุน และรวมถึงการส่งเสริมให้มีการระดมเงินทุนในระยะยาว ได้มีการจัดตั้งเป็นหน่วยงานนิติบุคคลขึ้นในปี พ.ศ.2517
  • พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้การลงทุนแห่งประเทศไทย : ตั้งอยู่บนถนนรัชดาภิเษก ใกล้กับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และยังตั้งอยู่ในอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ชั้นใต้ดิน ที่มีการให้ข้อมูล การจัดทำเป็นนิทรรศการ และการให้ความรู้ในส่วนของบุคคลทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ หรือเด็ก เพื่อให้เกิดความรู้ที่ถูกต้อง และนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในเรื่องหุ้น หรือความรู้เบื้องต้นในเรื่องการเงิน ทั้งตราสารหนี้ กองทุน และการลงทุนในด้านต่างๆ เพราะสิ่งเหล่านี้ถือว่า เป็นส่วนหนึ่งของการออมเงินในระยะยาว
  • ห้างเอสพลานาด : เป็นห้างที่มีความหลากหลายในการออกแบบ ด้วยความที่มีสถานที่ใกล้เคียงกับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จึงมีความคิดภายใต้รูปแบบ ศิลปะทั้ง 7 แบบ ได้แก่ โรงละครเพลง, ภาพวาด, ภาพยนตร์, ประติมากรรม, ดนตรี, โรงละครเพลง, และสถาปัตยกรรม รวมถึงภายในยังมีพลาซ่า และสถานที่ให้ความบันเทิงอีกมากมาย อย่างเช่น
  • โรงละครเพลง เมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ : ถือว่าเป็นสถานที่หลัก ในการเปิดการแสดงละครเพลงในหลากหลายเรื่อง ภายใต้การควบคุมดูแล และการก่อสร้างของบริษัท ซีเนริโอ จำกัด รวมถึงการร่วมทุนในการก่อสร้างกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ และเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ภายในโรงละครสามารถรับรองได้มากถึง 1,524 ที่นั่ง
  • โรงภาพยนตร์เอสพลานาด ซีเนเพล็กซ์ : เป็นโรงภาพยนตร์ในเครือของ เมเจอร์ซีเนเพล็กซ์ และมีทั้งหมด 12 โรง
  • Art in Paradise : เป็นสถานที่แสดงงานภาพวาดศิลปะ ที่เหมือนจริง หรือ 3 มิติ ที่มีลักษณะภาพมุมมองแบบนูน ในช่วงแรกที่เปิดบริการให้เข้าชม ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบภาพวาด และงานศิลปะเป็นอย่างมาก และที่แห่งนี้ เป็นการเปิดให้บริการถัดจากสาขาพัทยา และเชียงใหม่
  • สถานที่อำนวยความสะดวก :  นอกเหนือจากนี้แล้ว ยังมีลานส่วนของดนตรีโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนสอนดนตรี ร้านขายเครื่องดนตรีต่างๆ รวมถึงงานเพลงในรูปแบบสื่อต่างๆ ที่หายาก, ลานโบว์ลิ่ง, ซุปเปอร์มาร์เก็ต Tops และสถานที่ออกกำลังกาย หรือศูนย์ฟิตเนส

วิธีการเดินทางมาศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

เส้นทางเชื่อมต่อระหว่างเส้นรัชดาภิเษก และถนนเทียมร่วมมิตร ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

เส้นทางถนนหลักที่ตั้งของศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยนั้น จริงๆ แล้วตั้งอยู่บนถนนเทียมร่วมมิตร อยู่ใกล้เคียงกับอาคารสำนักงาน Cyber World Tower ซึ่งในระยะทางไม่ไกลก็ออกมาทางถนนสายหลักใหญ่อย่าง ถนนรัชดาภิเษก ซี่งถือว่าเป็นย่านที่มีการคมนาคมที่สะดวก ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล, รถไฟฟ้า, รถขนส่งสาธารณะ และวินมอเตอร์ไซค์

  • รถยนต์ส่วนบุคคล : ถึงแม้ว่าจะเป็นเส้นทางหลัก อย่างถนนรัชดาภิเษกที่เป็นทางผ่าน ก่อนที่จะถึงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นศาลอาญา, รัชดาภิเษกซอยเสือใหญ่, กรมส่งเสริมการส่งออกระหว่างประเทศ, สี่แยกลาดพร้าว หรือ สี่แยกห้วยขวาง โดยเป็นเส้นทางหลักคือ ถนนรัชดาภิเษก จนถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือ The Street ก็จะเป็นที่ตั้งของศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หรือตั้งอยู่บนถนนเทียมร่วมมิตร เส้นทางหลักถนนรัชดาภิเษกนี้ จะขับตรงยาวไปถึงพระราม 9 และยังเป็นเส้นทางเชื่อมถนนลาดพร้าว และสุทธิสารวินิจฉัยอีกด้วย

แต่หากต้องการที่จะหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัด ในย่านถนนรัขดาภิเษกนี้ ทั้งในช่วงเวลาเช้าเข้างาน, ช่วงเย็นเลิกงาน รวมถึงยามค่ำคืนซึ่งมีร้านอาหาร และแหล่งบันเทิงมากมายบนถนนเส้นนี้ สามารถใช้ทางพิเศษอย่าง ทางยกระดับอุตราภิมุข และเข้าสู่แยกสุทธิสารออกทางเส้นพญาไท

  • รถไฟฟ้า : สายสีน้ำเงิน หรือโครงการเฉลิมรัชมงคล ที่มีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ที่มีทางออกเชื่อมต่อสถานที่ต่างๆ ดังนี้คือ
    • ทางออกหมายเลข 1 : ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย,  สถานทูตเกาหลี,  อาคาร Cyber World,  และสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
    • ทางออกหมายเลข 2 : ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย,  รัชดาภิเษกซอย 8,  และอาคารสำนักงานทรู
    • ทางออกหมายเลข 3 : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย,  สถานทูตจีน,  รัชดาภิเษกซอย 5,  อาคารสำนักงาน AIA Capital,  และห้างเอสพลานาด
    • ทางออกหมายเลข 4 : แยกเทียมร่วมมิตร (ระหว่างถนนเทียมร่วมมิตรตัดกับถนนรัชดาภิเษก),  บิ๊กซี,   The Street, อาคารเมืองไทยประกันชีวิต, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, และ RS Tower

รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีส้ม ที่จะเชื่อมต่อทุกจุด ที่เป็นสายกรุงเทพฯ ชั้นใน ไม่ว่าจะเป็นสายสีน้ำเงิน เข้าสู่ถนนพระราม 9, สายสีชมพู เข้าสู่เส้นมีนบุรี หรือสายสีเหลืองเข้าสู่เส้นลำสาลี

  • รถโดยสารสาธารณะ : ซึ่งจะมีหลายเส้นทางที่จะสามารถโดยสารมายังศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยได้ คือ
    • สาย 137 รามคำแหง – รัชดาภิเษก
    • สาย 54 วงกลมรอบเมือง –   ห้วยขวาง
    • สาย 206 ม. เกษตรฯ – เมกะบางนา
    • สาย 36 ห้วยขวาง – ท่าน้ำสี่พระยา
    • สาย 517 ตลาดเทิดไท – สถานีขนส่งผู้โดยสาร จตุจักร
    • สาย 136 คลองเตย –หมอชิตใหม่
    • สาย 529 แสมดำ – สถานีขนส่งผู้โดยสารจตุจักร
    • สาย 172 หมู่บ้านนักกีฬา – บางขุนเทียน
  • วินมอเตอร์ไซค์ : จะมีในทุกสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินด้านหน้าทางออกทุกประตู รวมถึงปากทางแยกเทียมร่วมมิตร ใกล้กับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย, รัชดาภิเษกซอย 8, รัชดาภิเษกซอย 5, รัชดาภิเษกซอย 3, โฮมโปร สาขารัชดาภิเษก

มุมมองต่อทำเลศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

การเดินทางที่สะดวก ในย่านศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยนอกจากจะเป็นการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคล ที่ผ่านได้หลากหลายเส้นทาง โดยใช้เส้นทางถนนสายหลักคือ ถนนรัชดาภิเษก ที่สามารถเชื่อมได้ตั้งแต่เส้นถนนลาดพร้าว แยกเข้าถนนรัชดาภิเษก มาถึงแยกเทียมร่วมมิตร และแยกห้วยขวาง ที่สามารถขับออกไปได้ทางสุทธิสารวินิจฉัย และพญาไท

การเดินทางผ่านสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
ขอบคุณรูปภาพจาก wikipedia

ซี่งหากต้องการเดินทางโดยรถไฟฟ้าใต้ดิน ในปัจจุบันนี้สามารถใช้โดยสารผ่านรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน โดยลงที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศ แต่ในอนาคตอีก 3 ปี หรือคาดว่าจะเสร็มจในปี 2568 ที่จะมีการสร้างโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน สายสีส้ม เริ่มตั้งแต่ สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี และสามารถเชื่อมต่อได้แบบใยแมงมุม ทั้งสายสีน้ำเงินเชื่อมต่อเส้นพระราม 9, สายสีเหลือง เชื่อมต่อเส้นลำสาลี, สายสีชมพู เชื่อมต่อเส้นมีนบุรี และสายสีเขียว เชื่อมต่อเส้นราชเทวี และโครงการระยะที่ 2 รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีแดง เชื่อมต่อเส้นยมราช และสายสีม่วง เชื่อมต่อสนามหลวง และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

การเติบโตของแหล่งที่อยู่อาศัย สร้างใหม่ในอนาคต

การเกิดขึ้นของคอนโดมิเนียมย่านศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กับราคาที่ดินที่สูงขึ้น

ทำเลศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในอนาคตอันใกล้ข้างหน้า ที่จะมีโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสร้างเสร็จคาดการณ์ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า จะกลายเป็นทำเล Central Business  District อีกที่ๆ จับตามองของนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ และผู้ที่ต้องการหาทำเลที่อยู่อาศัย ในตัวเมืองชั้นใน ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยส่วนตัว หรือสำหรับเก็งกำไรในการปล่อยเช่า

ซึ่งทำเลหลักๆ ที่น่าจับตามองคือ สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ที่จะกลายเป็นจุดเชื่อมต่อ หรือ interchange ทั้งสายสีน้ำเงิน และสายสีส้มในอนาคตอันใกล้ และในวันนี้ก็เริ่มมีการปรับปรุงพื้นที่ในบางแห่ง ในการวางโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัย ในรูปแบบคอนโดมิเนียมมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับเส้นถนนรัชดาภิเษก ที่ยาวตั้งแต่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จนถึงแยกพระราม 9 และที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการผสม ให้ผู้สนใจเลือกซื้อที่อยู่อาศัยย่านนี้ ได้เลือกทั้ง คอนโดมิเนียมในรูปแบบ high rise และ low rise

ราคา ณ ปัจจุบัน

ด้วยความที่ “ย่านศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย” รายล้อมด้วยอาคารสำนักงานอย่างเช่น AIA Capital, Cyber Tower, RS Tower, ไทยประกันชีวิต อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และย่านศูนย์การค้าอย่าง เอสพลานาด, The Street รวมถึงเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ทำให้ราคาที่ดินย่านศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ถนนเทียมร่วมมิตร จนถึงเส้นถนนหลักอย่างรัชดาภิเษก มีราคาที่ดินเฉลี่ยอยู่ที่ 220,000 ต่อตารางเมตร อีกทั้งหากใครกำลังมองหา ที่อยู่อาศัยในรูปแบบคอนโดมิเนียมย่านนี้ด้วยแล้ว ในปัจจุบันนี้มีราคาซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่ 114,000 ต่อตารางเมตร และ ราคาเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 292 ต่อตารางเมตร ซึ่งหากในอนาคตที่มีการสร้างโครงการเดินรถไฟฟ้าใต้ดิน สายสีส้มเสร็จเรียบร้อย ราคาทั้งหมดนี้จะมีการปรับขึ้นอีกหลายเท่าตัวทีเดียว 

สรุปส่งท้าย

ในหลายทำเลที่อาจจะไม่ใช่พื้นที่ใจกลางเมือง หรือเส้นทางการคมนาคมที่สะดวก จนเกิดการตัดผ่านโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินในเส้นทางใหม่เกิดขึ้น อย่างเช่น เตาปูน หรือมีนบุรี จึงค่อยๆ มีการสร้างสถานที่อำนวยความสะดวกต่างๆ ขึ้นมา แต่แตกต่างจากเส้นรัชดาภิเษก หรือย่าน “ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย” ที่มีความสะดวกในการเดินทางทุกรูปแบบก่อนที่จะมีโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน ไม่ว่าจะเป็นทางรถยนต์ส่วนตัว หรือแม้กระทั่งหลังจากได้สร้างโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินแล้ว รวมถึงปัจจุบันนี้ทั้งราคาที่ดินในทำเลนี้ ที่ดีตตัวสูงขึ้นมากกว่าเดิม  และการเพิ่มของสถานที่ก่อสร้าง ทั้งที่อยู่อาศัย, ห้างสรรพสินค้า, ร้านค้าสะดวกซื้อ, และสถานบันเทิงมากขึ้นเรื่อยๆ

หากท่านไม่อยากพลาดโครงการดีๆ ในทำเลศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ที่จะกลายเป็นพื้นที่ๆ มีมูลค่าที่สูงขึ้นหลายเท่าตัว ในระยะเวลาไม่เกินปีนับจากนี้ สามารถเลือกเข้าชมโครงการ และที่อยู่อาศัยในย่านนี้ผ่านเว็บไซต์ PropertyScout ซึ่งทางเราได้รวบรวมข้อมูล และทำเลที่น่าสนใจแบบอัพเดทวันต่อวัน แวะคลิ๊กชมเว็บไซต์ของเราได้แล้ววันนี้