“กู้ร่วม” 6 สิ่งที่ต้องรู้ก่อนจะซื้อบ้านด้วยกัน!

Author
by
At
September 26, 2022
“กู้ร่วม” 6 สิ่งที่ต้องรู้ก่อนจะซื้อบ้านด้วยกัน! “กู้ร่วม” 6 สิ่งที่ต้องรู้ก่อนจะซื้อบ้านด้วยกัน!

เพราะการกู้ร่วมมีอะไรที่มากกว่าการใช้ชื่อของคนสองคน จะดีกว่าไหมถ้าเราได้ศึกษาก่อนเริ่มกู้จริง ๆ

สวัสดีค่า วันนี้ PropertyScout เอาบทความสำหรับคู่รักมาฝากกันค่า 💕 เราเชื่อว่า มีหลาย ๆ คู่ที่อยากอยู่ด้วยกัน หรือบางคนก็วางแผนไปถึงขั้นตอนการหาเรือนหออยู่แล้ว เพราะว่าการมีที่พักพิงใจของเราสองคนก็สำคัญจริงไหม?

"กู้ร่วม" 6 สิ่งที่ต้องรู้ก่อนจะซื้อบ้านด้วยกัน!

ดังนั้น เวลาเราจะซื้ออสังหาริมทรัพย์สักชิ้น สิ่งที่หลาย ๆ คนมองไว้ก็คือ "การกู้" และการกู้เองก็มีหลายแบบมาก ๆ ทั้งกู้คนเดียวและกู้ร่วม ซึ่งคู่รักหลาย ๆ คนก็มองว่า อยู่ด้วยกันทั้งที ก็ต้องกู้ร่วมไปเลยสิ เพราะอสังหาริมทรัพย์ที่เราจะซื้อนั้นก็ต้องเป็นของเราสองคน

แต่ การกู้ร่วมมันจะดีจริงไหม? วันนี้ PropertyScout เลยอยากพาทุกคนมารู้จักสิ่งที่ควรรู้ก่อนการกู้ร่วมซื้ออสังหาริมทรัพย์ จะมีอะไรบ้าง มาอ่านกันเลย!

กู้ร่วม คืออะไร?

กู้ร่วม คือ การกู้เงินร่วมกัน ของทั้งสองฝ่าย ด้วยความสมัครใจ โดยที่มีคนมาช่วยรับผิดชอบในเรื่องของการกู้ อีกทั้งการกู้ร่วมยังเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือที่มากขึ้นเพราะไม่ได้มีคนเดียวที่ต้องจัดการ หากเกิดอะไรขึ้นยังมีอีกคนที่สามารถเข้ามาจัดการปัญหาตรงนี้ได้ อีกทั้งพอกู้ร่วม ยังทำให้อนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้นหรือว่าสามารถขอวงเงินที่สูงขึ้นได้ เพราะมีการนับรวมรายได้ของทั้งสองฝ่ายนั่นเอง

กู้ร่วม คืออะไร?

โดยปกติแล้วการกู้ร่วมจะมีการกู้ร่วมกันอยู่ที่ 2 คนขึ้นไป แต่จะมีข้อกำหนดเพิ่มเติมที่จะให้กู้ได้ไม่เกิน 3 คน เพราะหากกู้มากกว่า 3 คนขึ้นไปอาจจะเกิดปัญหาเรื่องการจัดการหนี้สินได้

รู้หรือไม่!? กู้ร่วม = รับผิดชอบหนี้ร่วมกัน

การร่วมกู้นั้น เมื่อสำเร็จทุกขั้นตอนแล้ว ผู้ที่ลงนามในฐานะ กู้ร่วม จะกลายเป็น ผู้ที่รับผิดชอบหนี้ หรือ ลูกหนี้ ทันที ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่ให้ใช้เพียงชื่อหรือจะร่วมจ่ายเงินชำระหนี้ด้วยก็ตาม

ประโยชน์ของการกู้ร่วม

  1. ได้วงเงินที่สูงขึ้น
  2. ไม่ต้องแบกภาระคนเดียว
  3. ขออนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

คุณสมบัติของคนที่สามารถกู้ร่วมได้

คุณสมบัติอย่างแรกที่ต้องมีคือ ผู้กู้ร่วมและผู้กู้ต้องมีความสามารถในการชำระหนี้ หรือเรียกง่าย ๆ ก็คือ ต้องมีรายได้มากกว่าที่กำหนด หรือหากเทียบกับเรทเงินเดือนมาตรฐานก็จะอยู่ที่ราว ๆ 15,000 บาท นอกจากนั้น ยังต้องมีประวัติที่ใสสะอาด ไม่เคยเบี้ยว ไม่เคยผิดชำระหนี้

คุณสมบัติของคนที่สามารถกู้ร่วมได้

จริง ๆ แล้วนั้น การอนุมัติสินเชื่อบ้านของการกู้ร่วม จะเน้นไปที่การพิจารณารายได้ของทุกคนที่ลงชื่อกู้ โดยมีเกณฑ์ในการคำนวณอยู่ที่ 40% ของรายได้ของทุกคน จากนั้นก็นำมารวมกันเพื่อหาวงเงินสูงสุดที่จะใช้ได้นั่นเอง

ใครสามารถ กู้ร่วม ได้บ้าง

คนที่สามารถใช้สิทธิ์การกู้ร่วมนั้น จะต้องเป็นคนที่มีความเกี่ยวข้องกันทางสายเลือดหรือความสัมพันธ์เท่านั้น ดังนี้

คนในครอบครัว

เป็นคนในครอบครัวที่เน้นว่า จะต้องเป็น คนในสายเลือดเดียวกัน มีความผูกพันธ์กันในเครือญาติ หรือผู้ที่มีนามสกุลเดียวกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากเป็นพี่น้องที่มีสายเลือดเดียวกัน แต่ใช้คนละนามสกุลก็สามารถทำได้เช่นกัน

คนในครอบครัว
  • พ่อ-แม่-ลูก
  • ญาติในเครือเดียวกัน
  • พี่-น้อง
    • กรณีคนละนามสกุลแต่สายเลือดเดียวกัน ต้องแนบหลักฐานเพื่อยืนยัน เช่น ทะเบียนบ้าน, สูติบัตร หรือหลักฐานใด ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าทั้งสองคนนั้นมีพ่อแม่เป็นคนเดียวกัน

คู่รัก LGBTOIA2+

คู่รัก LGBTOIA2+

ความต้องการอยากมีบ้าน ไม่สามารถถูกจำกัดได้เพียงแค่เพศ คู่รัก LGBTQ+ นั้นถือเป็นกลุ่มที่ควรได้รับความยุติธรรม และ ความเท่าเทียม การได้รับรากฐานชีวิต และ การมีบ้านของตัวเองที่เท่าเทียมกับคนอื่น ปัจจุบันสังคมไทยเปิดกว้างเรื่องเพศมากขึ้น มีหลายธนาคารที่เห็นความต้องการชีวิตคู่ของกลุ่ม LGBTQ+ ด้วยการปล่อยสินเชื่อให้กู้ซื้อบ้านร่วมกัน โดยมีสิทธิเหมือนคู่รักชาย-หญิงทั่วไป ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส

เพียงแค่เตรียมเอกสารให้ครบตามขั้นตอน ก็สามารถกู้ได้แล้ว!

สามารถอ่านต่อเพิ่มเติมได้ที่นี่เลย! : รวมวิธีกู้ร่วมซื้อบ้านสำหรับคู่รัก LGBTQ+

สามี-ภรรยา

คู่รักส่วนใหญ่นั้นสามารถกู้ร่วมกันได้ โดยที่จะต้องมีหลักฐานมาประกอบเป็น ทะเบียนสมรส เพื่อแสดงให้เห็นว่า ทั้งคู่นั้นเป็นคู่สมรสจริง ๆ ไม่ใช่คนที่แฝงตัวมาเพื่อหาผลประโยชน์ในการกู้ อีกทั้งปกติแล้วนั้น การกู้ร่วมจะค่อนข้างเอื้อให้กับคู่รักที่จดทะเบียนสมรสกันอย่างเป็นทางการด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือแล้วนั่นเอง

สามี-ภรรยา

กรณีที่ไม่มีทะเบียนสมรส

  • กรณีที่ไม่มีทะเบียนสมรสนั้น จะต้องนำหลักฐานอื่น ๆ มาแสดงต่อธนาคารเพื่อเป็นการยืนยัน เช่น ภาพถ่ายวันแต่งงาน หรือถ้าอยากได้มั่นใจมากกว่านั้น ให้นำบันทึกประจำวันที่ไปแจ้งที่สถานีตำรวจมายื่นต่อธนาคารก็ได้เช่นกัน

กรณีที่มีบุตร

  • หากมีบุตรร่วมกัน สามารถใช้สำเนาทะเบียนบ้าน ซึ่งภายในนั้นต้องระบุชื่อของคู่สมรสด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นโยบายตัวนี้สามารถเปลี่ยนไปได้ตามแต่ละธนาคาร นั่นเอง

ข้อควรรู้

มาค่ะ! ต่อไปนี้เราจะมาดูเรื่องข้อควรรู้ที่ต้องรู้ก่อนที่จะเริ่มการ กู้ร่วม กันนะคะว่าจริง ๆ แล้ว การกู้ร่วมมีอะไรมากกว่าการที่เราจะใช้ชื่อสองคนในการกู้ จะมีอะไรบ้าง มาอ่านกันเลย!

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการกู้ร่วม

1. กู้ร่วมกัน ไม่เท่ากับ จ่ายเท่ากัน

อย่างที่รู้กันว่า การกู้ร่วมกันนั้นไม่ได้แปลว่าเราจะต้องแชร์กันจ่ายหนี้ให้เท่าเทียมกัน แต่คือการ รับผิดชอบร่วมกัน เพราะบางคนก็แค่ยืมชื่อของอีกฝ่ายมาใช้โดยรับผิดชอบคนเดียว หรือกรณีที่จ่ายร่วมกัน บางคู่จะมีการแบ่งสัดส่วนการจ่ายไม่เท่ากัน โดยทั้งหมดนั้น จะขึ้นอยู่กับความยินยอมทั้งสองฝ่ายก่อนการเซ็นสัญญาเงินกู้นั่นเอง

2. สิทธิในการลดหย่อนภาษี

รู้หรือไม่ว่า สิทธิ์กู้ร่วมนั้น สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ด้วยนะ แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ซึ่งการกู้ร่วมนั้นจะต้องหารเฉลี่ยตามจำนวนผู้กู้ ไม่ว่าจะ 2 หรือ 3 คน เมื่อหารเสร็จต้องแบ่งให้เท่า ๆ กัน ไม่สามารถแบ่งให้ใครมากกว่าได้นั่นเอง

3. กรรมสิทธิ์เป็นของใคร?

กรณีของการกู้ร่วม จะสามารถทำได้ 2 แบบ

  1. ใส่ชื่อคนเดียว เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่ใช้ชื่ออกคนมากู้ร่วมด้วย
  2. ใส่ชื่อผู้กู้ร่วมทุกคน เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน

โดยปกติแล้วส่วนใหญ่ ผู้กู้จะเลือกแบบที่สอง เพราะผู้กู้ทุกคนมีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือ ไม่ว่าคุณจะทำอะไร ทั้งขาย เช่า ซื้อ รวมถึงการโอนกรรมสิทธิ์นั้น จะต้องได้รับความยินยอมจากทั้ง 2 คนที่มีนามอยู่ในสัญญา ไม่ว่าเขาจะช่วยจ่ายหรือไม่ก็ตาม เพราะว่าสัญญาบังคับให้ต้องถามความสมัครใจของทั้งคู่นั่นเอง

แต่ทว่าเมื่อกู้เสร็จแล้วนั้น สัญญาจะเป็นชื่อใคร หรืออยากจะโอนให้ใครก็สามารถตกลงกันได้ตามสะดวกเลยนั่นเอง

4. จะเกิดอะไรขึ้นถ้า ผู้ร่วมกู้ เสียชีวิต

สิ่งแรกที่ต้องทำหากมีปัญหานี้ รีบติดต่อและแจ้งธนาคาร เพื่อเปลี่ยนแปลงสัญญา ไม่อย่างนั้น สัญญาต่าง ๆ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทุก ๆ อย่างจะยังคงเดิม และจะทำให้การกระทำใด ๆ ที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ในอนาคตอาจจะได้รับความลำบากไม่น้อยเลย

เมื่อทำการแจ้งธนาคารแล้ว ธนาคารจะเริ่มหาผู้ที่มารับผิดชอบภาระหนี้แทน ไม่ว่าจะเป็นทายาท หรือผู้จัดการมรดกก็ตาม

หากมีปัญหา "ใคร" รับผิดชอบ?

หากมีปัญหา "ใคร" รับผิดชอบ?

ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อคุณเริ่มกู้ร่วมเมื่อไหร่ คุณทั้งสองคนจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ดังนั้น หากเกิดเกิดการเบี้ยว ไม่จ่าย หรือมีปัญหาใด ๆ ธนาคารจะสามารถเรียกใครคนใดคนนึงหรือจะเรียกทั้งสองคนก็ได้เช่นกัน และการจัดการนั้นก็สุดจะแล้วแต่การตกลงของผู้กู้ทั้งสองฝ่ายนั่นเอง

ยกเลิกได้ไหม?

การขอถอนชื่อออกจากเงินกู้ร่วมนั้นอาจจะมาจากหลาย ๆ กรณี เช่น มีปัญหากัน เลิกรากัน หรือกระทั่งมีปัญหาเรื่องการเงิน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยไหนก็ตาม แต่ทั้งหมดต้องได้รับการพิจารณาจากธนาคารเท่านั้น

ยกเลิกได้ไหม?

โดยจะมีแบ่งเป็น 2 กรณีดังนี้

สามารถถอนชื่อได้

  • กรณีที่สามารถถอนชื่อได้มีเพียงแค่ไม่กี่กรณี แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีที่ ธนาคารพิจารณาแล้วว่า ผู้กู้อีกคนยังสามารถผ่อนและชำระหนี้ได้อยู่ โดยไม่มีปัญหาตามมาทีหลังนั่นเอง

ไม่สามารถถอนชื่อได้

  • กรณีที่ไม่สามารถถอนชื่อได้นั้น ส่วนใหญ่จะมาจากการพิจารณาจากธนาคารแล้วว่า ผู้ร่วมกู้อีกคนนั้นไม่มีความสามารถ หรืออาจจะไม่สามารถที่จะชำระหนี้ส่วนที่เหลือได้ ทำให้อาจจะต้องร่วมกันชำระหนี้ให้หมดก่อน หรือถ้าอยากหยุดแล้วจริง ๆ ต้องหาคนที่สามารถชำระหนี้ได้มาแทน

สรุปส่งท้าย

หลังจากที่ได้อ่านมาแล้ว เป็นยังไงกันบ้างคะ? จะเห็นได้ว่า การกู้ร่วม นั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนั้น ถ้าอยากจะหาสถานที่ในฝันเพื่ออยู่ด้วยกันแล้ว ทุกคนต้องศึกษามาอย่างดีแน่นอน ทาง PropertyScout เชื่อว่ามันจะมีความงง ๆ หลังอ่านจบ แต่ทางเราก็เชื่อว่า ทุกท่านได้รับความรู้ไปไม่มากก็น้อยแน่นอน!

ดังนั้น วันนี้ PropertyScout ขอตัวลาไปก่อน ถ้าอยากให้เราเขียนบทความอะไรใหม่ ๆ หรืออยากรู้อะไร สามารถบอกเราได้เลยนะคะ เราจะรีบหามาให้เร็วที่สุด! เจอกันใหม่ในบทความหน้านะคะ

อยากหาคอนโด บ้าน เช่า สำหรับคนมีคู่ : คลิกที่นี่!

อยากซื้อคอนโดหรือบ้านเพื่ออนาคต : คลิกที่นี่!

หากมีคำถาม หรือข้อสงสัยอื่นๆเพิ่มเติม เกี่ยวกับการฝากซื้อฝากขาย หรือซื้อขายเช่าอสังหาริมทรัพย์ สามารถติดต่อสอบถามทีม PropertyScout โดย คลิกที่นี่ ทางทีมงานยินดีช่วยเหลือและตอบทุกข้อสงสัยค่ะ