อัพเดตมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน ต่างชาติกลุ่มไหนซื้อที่ดินในไทยได้บ้าง?

Author
by
At
มีนาคม 31, 2023
Foreigner-Investment Foreigner-Investment

สวัสดีครับ สำหรับตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนด้วยการดึงชาวต่างชาติเข้ามาถือครองที่ดินในประเทศไทย ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันมากมายว่าเป็นผลดีหรือผลเสียต่อคนไทยและประเทศไทยกันแน่ ดังนั้นเพื่อให้เรามองภาพรวมของประเด็นนี้ได้อย่างชัดเจนขึ้น ในบทความนี้ PropertyScout จะพาทุกคนไปทำความเข้าใจเงื่อนไขต่าง ๆ ว่าการที่ต่างชาติที่จะเข้ามาถือครองที่ดินในประเทศไทย เป็นคนกลุ่มไหนได้บ้างและมีสิทธิในการถือครองที่ดินในไทยมากน้อยขนาดไหน

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน-อัพเดตมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน-ต่างชาติกลุ่มไหนซื้อที่ดินในไทยได้บ้าง-2

มีมาตรการไหนที่สามารถดึงดูดชาวต่างชาติได้บ้าง?

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนที่ช่วยดึงดูดชาวต่างชาติที่สู่ประเทศไทย มีดังนี้ครับ


มาตรการ 'ดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 4 กลุ่ม ให้เข้ามาซื้อที่ดินในไทย'

ดึงดูดชาวต่างชาติ-ให้เข้ามาซื้อที่ดินในไทย-มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน
มาตรการ 'ดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 4 กลุ่ม ให้เข้ามาซื้อที่ดินในไทย'

มาตรการนี้เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการสร้างรายได้ การลงทุน และเพิ่มโอกาสการจ้างงานภายในประเทศครับ โดยจะมุ่งเน้นไปที่ชาวต่างชาติ 4 กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้

  • กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง
  • กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ
  • กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย
  • กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ

สาระสำคัญ และเงื่อนไขต่าง ๆ ในการดึงดูดกลุ่มคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูง 4 กลุ่ม เพื่อมาลงทุนซื้อที่ดินในไทยมีดังนี้

  1. ภายในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล หรืออยู่ภายในบริเวณที่กำหนดเป็นเขตที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง
  2. จำนวนเนื้อที่ที่ได้รับสิทธิ ไม่เกิน 1 ไร่ ตามมาตรา 96 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน จะต้องใช้ที่ดินนั้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับตนเอง
  3. ต้องมีจำนวนเงินลงทุนในธุรกิจหรือกิจการประเภทหนึ่งประเภทใด ไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และต้องดำรงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี เช่น การซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน (เพิ่มขึ้นใหม่จากกฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2545)
  4. หากถอนการลงทุนในธุรกิจหรือกิจการก่อนครบกำหนดเวลาการดำรงทุน ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ถอนการลงทุน
  5. ระยะเวลาบังคับใช้กฎหมาย 5 ปี

มาตรการออกวีซ่า 'ประเภทผู้พำนักระยะยาว'

มาตรการออกวีซ่า-ประเภทผู้พำนักระยะยาว
มาตรการออกวีซ่า 'ประเภทผู้พำนักระยะยาว'

สำหรับคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ และเป็นคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูง ก็จะได้วีซ่ากรณีพิเศษเพื่อการพำนักระยะยาว (Long-term resident visa : LTR Visa) ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้ครับ

  • กำหนดประเภทการตรวจลงตรา สำหรับผู้พำนักระยะยาวขึ้นใหม่ (Long-term resident visa : LTR Visa) โดยมีอายุการตรวจลงตรา 10 ปี
  • กำหนดคุณสมบัติของคนต่างด้าว 4 กลุ่มเป้าหมายดังต่อไปนี้ : กลุ่มประชากรผู้มีความมั่งคั่งสูง กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ , กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษ , รวมถึงผู้ติดตามของคนต่างด้าว (คู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีอายุไม่เกิน 20 ปีจำนวนไม่เกิน 4 คน)
  • กำหนดให้คนต่างด้าวและผู้ติดตามของคนต่างด้าวที่ได้รับเสียค่าธรรมเนียมการตรวจลงตาครั้งเดียวในอัตรา 50,000 บาท (จากเดิม 100,000 บาท) และสามารถยื่นคำขอใบอนุญาตทำงานตามกฏหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

มาตรการดึงดูดชาวต่างชาติมีประโยชน์อย่างไรบ้าง?

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่าภายในระยะเวลา 5 ปี หลังจากดำเนินมาตรการด้วยงบประมาณของปี พ.ศ. 2565-2569 จะช่วยก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทย ดังนี้

  1. เพิ่มปริมาณใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมูลค่า 1 ล้านล้านบาท
  2. เพิ่มจำนวนชาวต่างชาติที่พักอาศัยในไทย 1 ล้านคน
  3. เพิ่มการลงทุนในประเทศ 8 แสนล้านบาท สร้างรายได้จากการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้น 2.7 แสนล้านบาท
  4. ทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เพียงพอให้กับภาคธุรกิจที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริมซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ในประเด็นอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต และโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์และดิจิทัล

'สถานการณ์การโอนคอนโด' ของชาวต่างชาติ

สถานการณ์การโอนคอนโดของชาวต่างชาติ
สถานการณ์การโอนคอนโดของชาวต่างชาติ

อ้างอิงจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พบว่า ในไตรมาส 4 ปี 2565 มีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติทั่วประเทศมีจำนวน 3,780 หน่วย เพิ่มขึ้น 82.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)

ถือเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเชิงจำนวนหน่วยนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2565 และเป็นจำนวนหน่วยที่สูงสุดในรอบ 16 ไตรมาส นับจากไตรมาส 1 ปี 2562 และยังมีจำนวนหน่วยที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยรายไตรมาสในช่วง 2 ปี ที่เกิดโควิด-19 (ปี 2563-2564) ถึง 80.7% ที่มีจำนวน 2,092 หน่วย/ไตรมาส

สำหรับมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติทั่วประเทศมีจำนวน 19,544 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 95.8% YoY ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ปี 2565 และเป็นมูลค่าที่สูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส นับจากไตรมาส 1 ปี 2561 และยังเพิ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ฯ ในช่วง 2 ปี ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีมูลค่าเพียงไตรมาสละ 9,979 ล้านบาท/ไตรมาส

สัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติในไตรมาส 4 ปี 2565 มีสัดส่วนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติ 11.5% โดยเพิ่มสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนเพียงเล็กน้อย ซึ่งมีสัดส่วน 7.7% ขณะที่มูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติ มีสัดส่วน 21.1% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนมากพอควร ซึ่งมีสัดส่วน 13.8%


สัญชาติไหนที่รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมากที่สุด? และจังหวัดไหนได้รับความสนใจมากที่สุด?

สัญชาติไหนที่รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมากที่สุด?
สัญชาติไหนที่รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมากที่สุด?

จากในปี 2565 จะพบว่า 'ชาวจีน' เป็นสัญชาติที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมากที่สุดทั่วประเทศมีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ชาวจีนไปแล้วทั้งหมด 5,707 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 49.4% ของหน่วยทั้งหมด โดยมี 4 สัญชาติที่มีการโอนกรรมสิทธิ์อันดับรองลงมา ได้แก่ รัสเซีย จำนวน 813 หน่วย (สัดส่วน 7%), สหรัฐอเมริกา จำนวน 542 หน่วย (สัดส่วน 4.7%), สหราชอาณาจักร จำนวน 393 หน่วย (สัดส่วน 3.4%) และ ฝรั่งเศส จำนวน 351 หน่วย (สัดส่วน 3%)

หากมองย้อนกลับไปในปี 2561 ถึง ปี 2564 สัญชาติที่มีจำนวนหน่วยสะสมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน, รัสเซีย, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา และเยอรมัน ตามลำดับ แต่ในปี 2565 กลับพบว่า หน่วยสะสมสูงสุด 5 อันดับแรกเปลี่ยนแปลงดังนี้ จีน, รัสเซีย, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นได้ว่า 3 อันดับแรกไม่มีการเปลี่ยนแปลงครับ

ในส่วนของจังหวัดที่มีจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ, ชลบุรี, สมุทรปราการ, ภูเก็ต และเชียงใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ใน 2 จังหวัดแรก คือ กรุงเทพฯ มีจำนวน 5,260 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 45.5% และชลบุรี จำนวน 3,567 หน่วย (สัดส่วน 30.9%) โดยทั้ง 2 จังหวัด มีสัดส่วนจำนวนหน่วยรวมกันสูงถึง 76.4% ของทั่วประเทศครับ ดังนั้นกรุงเทพ ถือว่าเป็นจังหวัดที่ได้รับความสนใจมากที่สุด


สรุปส่งท้าย

การเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาถือครองที่ดินในประเทศไทยนั้น ถือว่าจะส่งผลต่อการเติบโตของสภาพเศรษฐกิจ การจ้างงาน ไม่มากก็น้อยครับ ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจมีการเติบโต ความคึกคักของเม็ดเงินในตลาดอสังหา ฯ ก็จะเติบโตตามไปด้วยครับ ดังนั้น ในมุมมองของผู้ที่อยู่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนนั้นส่งผลในทางบวกกับตลาดอสังหา ฯ ค่อนข้างชัดเจนในระยะยาวครับ อย่างไรก็ตามทุกคนควรติดตามข่าวสารและข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถวางแผนและหาจังหวะเข้าลงทุนได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพครับ


PropertyScout แหล่งรวมอสังหา ฯ ที่ดีที่สุดในประเทศไทย

หาทรัพย์ที่ชอบ ในราคาที่ใช่ ง่าย ๆ แค่ปลายนิ้ว


อ่านบทความอื่นที่เกี่ยวข้อง คลิก