5 เช็คลิสท์ ‘สำรวจความพร้อม’ ก่อนลงทุนอสังหาริมทรัพย์
ในปัจจุบันมีคนจำนวนไม้น้อยที่กำลังมองหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน เพราะเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามกาลเวลาที่ผ่านไป ทำให้กลายเป็นช่องทางที่น่าสนใจในการทำกำไร ในบทความนี้ PropertyScout จะพาทุกคนไปดู 5 เช็คลิสท์สำรวจความพร้อมก่อนติดสินใจลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ให้ทุกคนได้สำรวจตัวเองกันว่ามีความพร้อมกันมากน้อยแค่ไหน
เช็คลิสท์แรก : สำรวจความรู้ด้านอสังหาริมทรัพย์
เพราะทุกการลงทุนที่มีความเสี่ยง ดังนั้นก่อนจะลงทุนเราก็ควรจะต้องมีความรู้ในด้านนั้น ๆ รวมไปถึงการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ด้วยเช่นกัน สำหรับความรู้ด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ควรมีก็คือ
ความรู้ในการหาทรัพย์สิน
รู้แหล่งทรัพย์สินราคาดี อย่างเช่น หาทรัพย์สินมือสองรอการขายของธนาคาร หรือ ทรัพย์สินจากการประมูลทรัพย์กรมบังคับคดี เป็นต้น
ความรู้ในการเลือกทรัพย์สิน
ความรู้ในการหาทรัพย์สินคือ ความสามารถในการวิเคราะห์คาดการณ์ทำเลดีในอนาคต หากเป็นคอนโดก็ควรเลือกห้องที่มีตำแหน่งดี มีโอกาสขายได้ราคาในอนาคต
ความรู้ในการตรวจสอบทรัพย์สิน
เช่น ใบอนุญาตตรวจสอบอาคาร แนวเวนคืน หรือความถูกต้องของโฉนด
ความรู้ความเข้าใจสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์
ควรมีความรู้ในเรื่องของการวัฏจักรตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งประกอบไปด้วยช่วงเฟื่องฟู ช่วงชะลอตัว ช่วงตกต่ำ และช่วงฟื้นตัว แล้วก็อย่าลืมทำความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ของ อุปทานอุปสงค์ในตลาด รู้สถานการณ์แนวโน้มของตลาด ผลกระทบจากดอกเบี้ย ตลอดจนติดตามข่าวสารอื่น ๆ ที่มีผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความเข้าใจ เพื่อจับจังหวะที่ดีในการซื้อ-ขาย
ความรู้ในการทำธุรกิจจากอสังหาริมทรัพย์
เช่นการซื้อคอนโดมาปล่อยเช่า การสร้างอพารท์เม้นท์ปล่อยเช่า หาลูกค้าได้อย่างไร? ควรตั้งราคาเช่าอยู่ที่เท่าไหร่? เจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มไหน? ตลอดจนศึกษากลยุทธของคู่แข่ง
ความรู้เรื่องการเงินและทรัพย์สิน
เช่น ค่าภาษีธุรกิจจำเพาะ มาตรการลดหย่อนภาษี ค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ สำหรับใครที่ต้องการกู้เงินมาลงทุนก็ต้องเตรียมศึกษาเรื่องนี้ให้ดี ไม่ว่าจะเป็น วงเงินกู้ การเลือกดอกเบี้ย การผ่อนชำระ การทำ Refinance / Retention เพื่อจ่ายดอกเบี้ยน้อยลง
เช็คลิสท์ที่สอง : สำรวจนิสัยของตัวเอง
รูปแบบการลงทุนแต่ละประเภทมีวิธีการบริหารที่แตกต่างกันไป สำหรับการลงทุนแบบซื้อมาขายเอากำไร หรือที่เรียกกันว่า ‘ซื้อมาชายไป’ นั้น หากเรารู้จักคนเยอะ มีคอนเนคชั่นดี ก็จะเป็นประโยชน์ เพราะช่วยให้มีช่องทางที่จะขายออกได้ง่ายขึ้น ส่วนการลงทุนแบบปล่อยเช่า ก็จะมีเรื่องของการบริหารจัดการ ตั้งแต่การทำการตลาด หาลูกค้าผู้เช่า การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างปล่อยเช่า ตลอดจนการดูแลซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดีอย่างสม่ำเสมอ
ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรสำรวจนิสัยของตัวเองให้ดีหลังจากนั้นค่อยเลือกวิธีการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อให้ลงทุนได้อย่างมีความสุขนะครับ
เช็คลิสท์ที่สาม : เป้าหมายในการลงทุนต้องชัดเจน และมีความเป็นไปได้สำหรับตัวเอง
เป้าหมายในการลงทุน เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อการตัดสินใจตลอดจนหลักการที่ใช้ในการตัดสินใจเลือกประเภทของทรัพย์สินที่จะลงทุน ยกตัวอย่างเช่น หากซื้อที่ดินเพื่อปล่อยขายในอนาคต เราก็จะต้องตัดสินใจเลือกที่ดินจาก ทำเล สภาพแวดล้อมโดยรอบ เพื่อซื้อที่ดินที่คาดว่าจะมีราคาสูงขึ้นในอนาคต สามารถขายทำกำไรได้ ในขณะเดียวกัน คนที่ลงทุนซื้อขายใบจองคอนโดก็จะต้องให้ความสำคัญกับทำเลของโครงการ และตำแหน่งของยูนิตที่มั่นใจได้ว่าจะเป็นที่ต้องการของลูกค้า เพราะหากไม่สามารถขายใบจองได้ทันกำหนดรับโอนห้อง ก็จะทำให้ขาดทุน
นอกจากนั้นเป้าหมายการลงทุนต้องมีความชัดเจนว่าจะได้อะไรกลับมา เป็นผลตอบแทนเท่าไหร่ ภายในระยะเวลาเท่าไหร่ และสิ่งสำคัญที่สุดคือคือ ต้องมีความเป็นไปได้สำหรับตัวเอง โดยวิเคราะห์จากสถานะการเงินในปัจจุบัน และนำไปวางแผนการลงทุนที่สามารถทำให้บรรลุเป้าหมาย โดยที่ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงสูงเกินไป
เช็คลิสท์ที่สี่ : สามารถรับความเสี่ยงได้
ด้วยการที่อสังหาริมทรัพย์ถือเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำ เพราะส่วนใหญ่ใช้ระยะเวลาในการซื้อขายนาน ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนควรสำรวจความพร้อมของตัวเองให้แน่ชัดก่อน ว่าสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยขนาดไหน ยกตัวอย่างเช่น หากซื้อใบจองบ้านไปแล้วขายไม่ทันวันรับโอน เราสามารถรับภาระค่าบ้านได้หรือไม่ หรือหากผ่อนคอนโดเพื่อนำมาปล่อยเช่า แล้วหาคนเช่าไม่ได้ เราจะมีเงินสำรองสำหรับผ่อนไปได้อีกกี่เดือน สำหรับคนที่มีครอบครัวต้องดูแล หรือมีภาระหนี้สินอื่น ๆ หลายอย่าง ก็ขอแนะนำว่าไม่ควรรีบตัดสินใจลงทุนนะครับ
เช็คลิสท์สุดท้าย : แหล่งเงินทุนต้องชัดเจน
อย่างที่ทราบกันดีว่าการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เป็นการลงทุนที่ใช้เงินลงทุนสูง และมีสภาพคล่องต่ำ ดังนั้นก่อนการตัดสินใจลงทุนเราจึงควรรู้แลห่งเงินทุนที่แน่ชัด สำหรับใครที่มีเงินเย็นก็อาจจะเตรียมไว้สักประมาณ 40% เพื่อไม่ให้ภาระการผ่อนหนักเกินไป สำหรับใครที่ไม่ได้มีเงินเย็นมากนัก อาจจะหาหาหุ้นส่วนจากคนใกล้ตัว หรือกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยกับทางธนาคาร สถาบันการเงินต่าง ๆ ก้ได้เช่นกัน
สรุปส่งท้าย
สำหรับการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์นั้นก็มีสิ่งที่ขึ้นชื่ออยู่อย่างนึงซึ่งก็คือ ‘ความเสี่ยง’ เหมือนกับการลงทุนประเภทอื่น ๆ แต่อย่างไรก็ตามหากทุกคนนำเช็คลิสท์สำรวจความพร้อมของตัวเองในบทความนี้ไปลองปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นเตรียมเรื่องความรู้ด้านอสังหา ฯ สำรวจนิสัยตัวเอง ตั้งเป้าหมายการลงทุน วิเคราะห์ความเสี่ยง ตลอดจนการจัดเตรียมเงินทุน เชื่อว่าสามารถช่วยลดความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสที่จะลงทุนอสังหาริมทรัพย์ประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน
อ่านบทความ รีวิวโครงการ หรืออัปเดตข่าวเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ได้ที่ PropertyScout Blog หากมีคำถาม ข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรือต้องการ ซื้อ เช่า ขาย ติดต่อ PropertyScout ได้เลย! ทีมงานของเราพร้อมให้บริการและตอบทุกข้อสงสัย