‘ได้รับมรดกที่ดิน’ จัดการยังไงดีนะ?
เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความโศกเศร้าเสียใจอย่าง 'การจากลาของบุคคลที่เป็นที่รัก' คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วชีวิตของคนที่เหลืออยู่ก็ต้องดำเนินกันต่อไป ซึ่งหลังจากจัดพิธีงานศพยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับรุ่นลูกรุ่นลูกหลาน นั่นก็คือ 'การบริหารจัดการมรดกของผู้เสียชีวิต' นั่นเองครับ ซึ่งหนึ่งในมรดกที่คนไทยรุ่นเก่านิยมซื้อเพื่อการลงทุน และถือครองไว้เพื่อส่งต่อให้ลูกหลานก็คือ 'ที่ดิน' นั่นเอง และเพื่อเป็นการไขข้อสงสัยให้กับหลาย ๆ คนที่ได้มรดกที่ดิน ในบทความนี้ PropertyScout จะพาทุกคนไปดูขั้นตอนการจัดการต่าง ๆ กันครับ
ขั้นตอนการจัดการเรื่อง 'มรดกที่ดิน'
เมื่อเจ้าของที่ดินหรือผู้มีชื่อในเอกสารเกี่ยวกับที่ดิน อย่างเช่น โฉนดที่ดิน , น.ส.๓ , น.ส.๓ ก. , หรือ น.ส.๓ ข. เกิดเสียชีวิตไป ที่ดินแปลงนั้นจะกลายเป็นมรดกตกทอดมายังทายาทของผู้เสียชีวิต ตามสิทธิในทางกฎหมายหรือตามพินัยกรรมที่เจ้ามรดกผู้เสียชีวิตได้ทำไว้ และเมื่อเราทราบว่าเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกที่ดิน ก็จะต้องไปขอจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินที่สำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขาครับ
ตรวจเช็คลำดับของญาติที่มีสิทธิได้รับมรดก
ในทางกฎหมายทายาทที่มีสิทธิหรือทายาทโดยธรรมนั้นมี 6 ลำดับ แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังกัน ดังนี้ครับ
- ผู้สืบสันดาน (บุตร, หลาน, เหลน, ลื้อ)
- บิดา, มารดา
- พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
- พี่น้องร่วมบิดา หรือร่วมมารดาเดียวกัน
- ปู่, ย่า, ตา, ยาย
- ลุง, ป้า, น้า, อา ทั้งนี้ คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ให้ถือเป็นทายาทโดยธรรม มีสิทธิรับมรดกร่วมกับทายาทโดยธรรมทั้ง 6 ลำดับอีกด้วย
เตรียมหลักฐานที่ต้องนำไปประกอบการขอรับมรดก
หลักฐานที่ต้องเตรียมไปมีดังนี้
- โฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองทำประโยชน์
- บัตรประจำตัวประชาชน
- ทะเบียนบ้าน
- หลักฐานการตายของเจ้ามรดก เช่น ใบมรณบัตร
- พินัยกรรม (ถ้ามี)
- ถ้าผู้ขอรับมรดกเป็นคู่สมรส ต้องมีใบทะเบียนสมรส
- ถ้าผู้ขอรับมรดกเป็นบิดาเจ้ามรดก ต้องมีทะเบียนสมรสกับมารดาของเจ้ามรดกหรือหลักฐานการรับรองบุตร
- ถ้าผู้ขอรับมรดกเป็นบุตรบุญธรรม ต้องแสดงหลักฐานการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
- ถ้ามีกรณีพิพาทเกี่ยวกับมรดก ต้องนำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือคำพิพากษาอันถึงที่สุดไปแสดง
- ถ้ามีผู้มีสิทธิรับมรดกร่วมกันหลายคน บางคนได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว ต้องมีหลักฐานการตายของทายาทนั้น ๆ
*กรณีที่มีผู้จัดการมรดก หลักฐานที่ต้องนำไป มีดังนี้
- คำสั่งศาลหรือคำพิพากษาของศาล หรือพินัยกรรมซึ่งตั้งให้ผู้ขอเป็นผู้จัดการมรดก
- หลักฐานการตายของเจ้ามรดก
- ทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวของผู้จัดการมรดก
- โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์
สนใจอ่านบทความที่เกี่ยวข้อง คลิก
การขอรับมรดกที่ดิน
คุณพ่อและคุณแม่ได้เสียชีวิตไปแล้วทั้งคู่ โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมที่ดินไว้และมีทายาท 2 คน ดังนั้นการที่ไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้มรดกจึงตกแก่ทายาทโดยชอบธรรม โดยทายาททั้งสองคนสามารถเข้าไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา เพื่อขอรับมรดกที่ดินโดยทำได้ 2 วิธีดังนี้ครับ
วิธีที่ 1 : กรณีมีผู้จัดการมรดก
ผู้จัดการมรดกจะต้องนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินพร้อมด้วยหลักฐานการเป็นผู้จัดการมรดก ได้แก่ คำสั่งศาลที่แต่งตั้งผู้จัดการมรดกหรือคำพิพากษา เพื่อนำไปแสดงต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ และเมื่อได้รับการตรวจสอบแล้วพบว่าถูกต้องก็จะทำการจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้ครับ และเมื่อจดทะเบียนเรียบร้อยแล้วผู้จัดการมรดกก็สามารถขอยื่นจดทะเบียนโอนมรดกให้แก่ทายาทเจ้าของที่ดินต่อไปได้
วิธีที่ 2 : กรณีที่ไม่มีผู้จัดการมรดก
ทายาทผู้ขอรับมรดกต้องนำหลักฐานแสดงสิทธิในที่ดิน เช่น โฉนดที่ดิน, ใบมรณบัตร, ทะเบียนบ้าน, บัตรประจำตัวประชาชน, สูติบัตร ไปแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดิน เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนแล้วเชื่อว่าผู้ขอเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดก พนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะทำการประกาศภายใน 30 วันครับ หากไม่มีผู้โต้แย้งคัดค้านภายใน 30 วัน พนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะจดทะเบียนให้
ในกรณีที่มีทายาทรับมรดกหลายคน และมีบางคนจะมาขอจดทะเบียนรับมรดกทั้งหมด จะต้องนำทายาทที่แสดงไว้ในบัญชีเครือญาติทุกคนมาให้คำยินยอมหรือนำหลักฐานแสดงว่าไม่รับมรดกมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกำหนดเวลาที่ประกาศไว้ครับ หลังจากนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะจดทะเบียนให้
ในทางกลับกัน หากผู้ขอไม่สามารถนำทายาทที่แสดงไว้ในบัญชีเครือญาติทุกคนมาให้คำยินยอม หรือไม่สามารถนำหลักฐานการไม่รับมรดกของทายาทคนดังกล่าวมาแสดงตามกำหนดเวลาที่ประกาศไว้ พนักงานเจ้าหน้าที่จะไม่สามารถจดทะเบียนให้ได้นะครับ หากผู้ขอต้องการขอให้จดทะเบียนโอนมรดกให้ พนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะจดทะเบียนโอนมรดกให้เท่าที่ผู้ขอมีสิทธิอยู่เท่านั้น
ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนการรับโอนมรดก คลิก
สรุปส่งท้าย
PropertyScout หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนที่กำลังจะต้องได้รับมรดกที่ดินอยู่นะครับ จะเห็นได้ว่าเมื่อทายาทโดยชอบธรรมเห็นพ้องต้องกันในการรับโอนมรดกที่ดินเพียงแค่เตรียมเอกสารให้พร้อมก็สามารถจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินได้ตามสิทธิที่ควรได้รับ อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีที่เกิดมีข้อพิพาทระหว่างทายาทโดยธรรมก็จะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาในชั้นศาลกันต่อไปนะครับ แล้วก็ขอแนะนำว่า หากมีปัญหาใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการขอรับโอนมรดก วิธีการดีที่สุดคือไปปรึกษาเจ้าหน้าที่ที่ดิน ซึ่งปกติที่สำนักงานที่ดินจะมีเจ้าหน้าที่ที่ดินผู้ให้คำแนะนำประจำอยู่แล้ว พวกเขาสามารถแนะนำให้ได้ว่าต้องทำอย่างไรครับ
PropertyScout แหล่งรวมอสังหา ฯ ที่ดีที่สุดในประเทศไทย
หาทรัพย์ที่ชอบ ในราคาที่ใช่ ง่าย ๆ แค่ปลายนิ้ว
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง คลิก