หลักการออกแบบหน้าต่าง/ช่องเปิด ภายในบ้าน ให้อากาศถ่ายเท อยู่แล้วสบาย แถมประหยัดพลังงาน

Author
by
At
มิถุนายน 30, 2023
หลักการออกแบบหน้าต่าง-ช่องเปิด-ภายในบ้าน-ให้อากาศถ่ายเท-อยู่แล้วสบาย หลักการออกแบบหน้าต่าง-ช่องเปิด-ภายในบ้าน-ให้อากาศถ่ายเท-อยู่แล้วสบาย

ด้วยภูมิอากาศในไทยเป็นแบบร้อนชื้น ทำให้มีหลายปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมนอกตัวบ้านที่มีความสัมพันธ์กับภาวะการอยู่อาศัยที่สบายภายในบ้าน ซึ่งเทคนิคหรือหลักการออกแบบหน้าต่างหรือช่องเปิดภายในบ้านก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ทำให้ทุกคนในบ้านอยู่อาศัยกันได้อย่างสะดวกสบาย อีกทั้งยังช่วยประหยัดพลังงานได้อีกด้วย ไปศึกษาพร้อมกันกับ PropertyScout ได้ในบทความนี้


ช่องเปิดภายในบ้าน มีความสำคัญอย่างไร?

ช่องเปิด หรือ หน้าต่าง เป็นองค์ประกอบสำคัญในการออกแบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากให้นิยามถึงคำว่า 'ช่องเปิด' ในแบบง่าย ๆ นั่นก็คือ ช่องว่างบนผนังที่สร้างการเชื่อมต่อระหว่างสองพื้นที่เข้าด้วยกันได้โดยตรง ซึ่งช่องเปิดในทีนี้ ไม่ได้หมายความเพียงระนาบแนวตั้งของบานหน้าต่างหรือประตูที่ติดตั้งบนผนังเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงระนาบในแนวนอน นั่นคือช่องเปิดบนพื้นหรือโถงซึ่งสร้างการเชื่อมต่อระหว่างชั้นได้เช่นกัน

ถ้าหากบ้านของเรา ได้มีการออกแบบหน้าต่างช่องเปิดมาอย่างเหมาะสมก็จะทำให้บรรยากาศภายในอาคารมีความสว่างที่พอดี และมีลมถ่ายเท ระบายอากาศได้อย่างปลอดโปร่ง และช่วยประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในอาคาร แต่ถ้าหากออกแบบหน้าต่าง หรือช่องเปิดผิดไปจากหลักการออกแบบที่เหมาะสม หรือ ไม่มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับบริบทการใช้งานของอาคาร ก็จะทำให้มีบรรยากาศที่ไม่ดี ไม่สามารถระบายอากาศได้อย่างสะดวก อาจส่งผลให้อยู่อาศัยไปแล้วรู้สึกอึดอัด และทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายตัวในระหว่างอยู่อาศัย ซึ่งการจะออกแบบช่องเปิดให้สัมพันธ์กับบริบทอาคาร และมีความเหมาะสมลงตัวกับลักษณะการใช้งาน จะมีหลักเกณฑ์ที่ควรคำนึงตามต่อไปนี้


หลักเกณฑ์ที่ควรคำนึง มีอะไรบ้าง?

แสงแดด

แสงแดด
  • แสงแดดเข้าบ้านต้องอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม

เพราะความสว่างคือสิ่งที่เราต้องการจากแสงแดด และสิ่งที่ต้องการหลีกเลี่ยงคือรังสีความร้อน ซึ่งธรรมชาติของเมืองไทย ทิศทางของแสงแดดตลอดวันคือ ตะวันออก อ้อมใต้ แล้วไปทางทิศตะวันตก ดังนั้นทิศเหนือจึงเป็นทิศทางที่ได้รับแสงสว่างทั้งวันโดยไม่พาความร้อนเข้ามาด้วย และเป็นทิศทางที่เหมาะสมกับใช้บานหน้าต่างขนาดใหญ่ อาจเป็นบานเฟี้ยมหรือบานเลื่อนกระจกทั้งบานเลยก็ได้

ส่วนในทิศทางอื่น ใช้ช่องเปิดขนาดเล็กลงหน่อย สังเกตให้เหมาะสมกับสัดส่วนและการเปิดช่องโดยรวมของบ้าน เพิ่มการกรองรังสีจากแสงอาทิตย์เพิ่มเติมด้วยการเลือกชนิดของกระจกและฟิล์มกรองแสงที่ได้มาตรฐาน ร่วมกับการใช้ผ้าม่านโปร่งแบบกรองแสงและผ้าม่านทึบสำหรับเลือกความสว่างของแสงได้ตามต้องการตลอดทั้งวัน

อีกจุดหนึ่งที่หลายบ้านต้องการคือหลังคาสกายไลต์ นั่นก็เพราะแสงสว่างในเวลากลางวันทำให้ประหยัดไฟฟ้าในบ้าน สำหรับเมืองไทยที่แดดแรงแล้ว การติดตั้งสกายไลต์ นอกจากคิดถึงเรื่องการกรองแสงสว่าง ยังต้องคำนึงถึงเรื่องโครงสร้าง ความแข็งแรง และรอยต่อที่แน่นหนาเพื่อป้องกันน้ำรั่ว


ลม

  • ออกแบบช่องเปิดให้รับลมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กระแสลมพัดเย็น ๆ สามารถเรียกได้ว่าเป็นต้นทุนจากธรรมชาติที่สามารถสร้างความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายได้ตลอดปี เพียงเรียนรู้ทิศทางลมกันอีกสักเรื่องหนึ่ง ลมจากทิศเหนือจะพัดตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงมกราคม (4 เดือน) และลมจากทิศใต้จะพัดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงกันยายน (8 เดือน) ดังนั้นทิศทางที่ดีที่สุดของการทำช่องเปิดคือ ทิศทางเหนือ-ใต้ และจำเป็นต้องเจาะช่องเปิดสำหรับผนังทั้งสองด้านตรงข้าม เพื่อสร้างทางเข้า-ออกของลม

เคล็ดลับอีกข้อเพื่อดึงศักยภาพของลมมาสร้างความเย็นให้บ้านอย่างคุ้มค่า คือช่องเปิดสองฝั่งควรตรงกันพอดี หรือให้มีส่วนเปิดที่เหลื่อมกัน โดยให้ทิศทางที่ลมเข้ามีขนาดหน้าบานเล็กกว่าทิศทางที่ลมออก เพื่อสอบลมให้พัดแรงขึ้น ในบ้านก็จะเย็นขึ้นอีก เผลอ ๆ ไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศด้วยซ้ำ ประหยัดค่าไฟและใช้ธรรมชาติอย่างเต็มที่


  • ออกแบบบ้านให้มี 'ดับเบิล วอลุ่ม'

เพราะอากาศร้อนน้ำหนักเบา จึงลอยตัวจากที่ต่ำขึ้นสู่ที่สูง การเปิดโถงระหว่างชั้นจึงเป็นอีกวิธีที่ช่วยให้อากาศร้อนเดินทางออกจากบ้าน อากาศร้อนจากชั้นล่างจะลอยขึ้นไปชั้นบน ก่อนออกสู่ปลายทางระบายออกนอกบ้านผ่านทางช่องลมเล็ก ๆ บริเวณใต้ฝ้าเพดานชั้นบนสุด ซึ่งอาจเป็นระแนง บานกระทุ้ง หรือฝ้าชายคาระบายอากาศ

นอกจากประโยชน์ในเรื่องอากาศร้อน โถงระหว่างชั้นหรือที่เรียกว่า Double Space ยังช่วยในการไหลเวียนอากาศภายในบ้านให้ดีขึ้น แต่ที่สำคัญคือ ต้องมีทางเข้า-ออกให้กับอากาศเสมอ เพื่อให้ระบายของเก่า และทดแทนด้วยของใหม่ พร้อมกับการเปิดทัศนวิสัยทางสายตา สร้างความรู้สึกว่าบ้านดูโปร่งโล่ง และมีชีวิตชีวา


หลักการออกแบบช่องเปิดหรือหน้าต่าง

หลักการออกแบบ-ช่องเปิด-หน้าต่าง
หลักการออกแบบช่องเปิด

ทิศที่เหมาะสม

ในทิศเหนือ และทิศตะวันออก สามารถมีหน้าต่าง หรือ ช่องเปิด ได้ตั้งแต่ 50-75% ของพื้นที่ระนาบผนังทั้งหมด โดยออกแบบให้หน้าต่าง หรือช่องเปิดที่มีขนาดเท่ากันอยู่ตรงข้ามกันเพื่อให้ลมพัดผ่านถ่ายเทได้ตลอดเวลา ซึ่งช่วยให้บรรยากาศภายในห้องมีความปลอดโปร่ง ให้ความสว่างที่เหมาะสม และไม่ก่อให้เกิดการสะสมเชื้อโรคจากความอับทึบ


ทิศที่ควรหลีกเลี่ยง

ในทิศใต้ และทิศตะวันตก สามารถมีหน้าต่าง หรือ ช่องเปิด ไม่ควรเกิน 20% ของพื้นที่ระนาบผนังทั้งหมด เพราะเป็นด้านที่ได้รับผลกระทบจากความร้อนและแสงจ้าค่อนข้างมาก ฉะนั้นการออกแบบตำแหน่งของหน้าต่าง หรือ ช่องเปิดภายในอาคารควรหลีกเลี่ยงการติดตั้งในทิศตะวันให้มากที่สุด


ช่องเปิดรูปแบบต่าง ๆ

ช่องเปิด-รูปแบบ
รูปแบบของหน้าต่าง

ช่องเปิดแบบบานฟิกซ์

ช่องเปิดแบบแรกที่หลายคนคุ้นหูกันคงหนีไม่พ้น บานหน้าต่างแบบฟิกซ์ ทำให้เปิดเชื่อมต่อได้กับสิ่งแวดล้อม แต่กรอบบานหน้าต่างแบบบานฟิกซ์ก็มีประโยชน์ไม่แพ้กับบานเปิดได้

โดยเฉพาะอย่างในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยากอย่าง อย่างผืนผนังระดับสูงใต้หลังคา ซอกมุม หรือระดับพื้นของอาคารชั้นบนที่เกิดอันตรายได้หากใช้ช่องเปิดแบบเปิดได้ กรอบบานหน้าต่างแบบบานฟิกซ์เข้ามาช่วยทำให้ห้องหรือพื้นที่ดูโปร่งโล่งขึ้นจากทัศนวิสัยที่เปิดออกสู่ภายนอก แสงแดดที่เข้ามาสร้างบรรยากาศอบอุ่น ไม่อึดอัด และยังมีส่วนช่วยเติมดีไซน์ให้บ้านไม่ทึบตันจนเกินไป


บานกระทุ้ง บานเกล็ด ระบายอากาศ

หน้าที่สำคัญของช่องเปิดคือการระบายอากาศ ซึ่งการมีบานเปิดที่เปิดได้อย่างปลอดภัยจึงเป็นทางเลือกที่ดี ทั้งบานกระทุ้งที่สามารถผลักเปิดออกเหมือนเป็นกันสาดเล็กๆ ให้กับช่องเปิด แม้ฝนจะตกก็ยังระบายอากาศและรับลมเย็นได้ หรือบานเกล็ดที่เปิดสำหรับระบายอากาศได้ตลอดทั้งวัน

บานกระทุ้งและบานเกล็ดยังถูกประยุกต์เข้ามาอยู่ร่วมกับประตู เพื่อให้การระบายอากาศทำหน้าที่ได้ดีขึ้น จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า นวัตกรรมการออกแบบและการผลิตในปัจจุบันมีส่วนช่วยอย่างมากในการสร้างฟังก์ชันที่อยู่สบาย พร้อมกับรูปลักษณ์ที่ทำให้งานดีไซน์ของบ้านโดยรวมดูโดดเด่นและมีเอกลักษณ์


บานเลื่อนแบบเชื่อมพื้นที่

ห้องที่โปร่งโล่งคือพื้นที่แบบที่เจ้าของบ้านหลายคนอยากได้ และด้วยขนาดที่จำกัดของพื้นที่ทำให้การใช้บานเลื่อนสำหรับเชื่อมพื้นที่เป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ระหว่างภายในและภายนอกบ้าน หรือพื้นที่ภายในบ้านด้วยกันเอง เราจะได้ห้องใหญ่ขึ้นชั่วคราวก็เพราะฟังก์ชันของบานเลื่อนแบบเต็มบานนี่เอง

นอกจากนั้นบานเลื่อนกระจก ยังมีฟังก์ชั่นที่เชื่อมพื้นที่เข้าด้วยกัน อนุญาตให้แสงเข้ามาถึงภายในห้องได้อย่างเต็มที่ ห้องดูโปร่งโล่งอยู่สบาย และในเชิงสถาปัตยกรรมแล้ว บานเลื่อนแบบกระจกสำคัญมากในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองพื้นที่ไม่ให้อยู่ตัดขาดกันอย่างสิ้นเชิง แม้จะยังปิดอยู่ ทั้งสองฝั่งกระจกก็ยังทำกิจกรรมได้อย่างเป็นส่วนตัวโดยไม่ตัดขาดจากกันและกัน หรือหากเปิดออกอย่างเต็มที่ก็คือการสร้างพื้นที่ให้ใหญ่ขึ้น รองรับกิจกรรมได้มากขึ้น และที่สำคัญคือ อยู่สบายขึ้น


มีปัจจัยอะไรอีกบ้าง ที่ส่งผลกับการถ่ายเทของอากาศภายในบ้าน และการประหยัดพลังงาน?

ปัจจัยอื่น-ส่งผลกับความถ่ายเทของอากาศ-ภายในบ้าน
ปัจจัยอื่นที่ส่งผลกับการถ่ายเทของอากาศ

การวางตำแหน่งอาคารให้สัมพันธ์กับทิศทางของแดดและลม

เพราะอาคารจะต้องอยู่คู่กับเราไปอีกหลายสิบปี ดังนั้นเราควรวางแผนในการออกแบบให้ดีเพื่อให้เกิดสภาวะน่าสบายตลอดอายุการใช้งานของตัวอาคาร

ทิศตะวันตก และทิศใต้จะได้รับผลกระทบจากแสงแดดที่รุนแรงเป็นเวลา 8-9 เดือนต่อปี เพราะมุมของแสงแดดที่ส่องนั้นเป็นมุมต่ำที่สามารถเข้าสู่อาคารได้ง่าย เพราะฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงการสร้างอาคารที่หันไปในทิศตะวันตก และทิศใต้  โดยออกแบบให้พื้นที่ในทิศดังกล่าวเป็นส่วนหลังบ้าน , ห้องเก็บของ , ห้องน้ำ , โถงบันได , ห้องครัว , ที่จอดรถ , หรือ พื้นที่ซักล้าง 

ในส่วนของทิศเหนือและทิศตะวันออก จะเป็นทิศที่ได้รับลมมากที่สุดและโดนแสงแดดน้อยที่สุดตามลำดับ ดังนั้นจึงเหมาะที่ออกแบบให้พื้นที่ในทิศดังกล่าวเป็นฟังก์ชั่นการใช้งานที่ต้องใช้เวลาอาศัยอยู่เกือบทั้งวัน หรือ เป็นฟังก์ชั่นการใช้งานที่ต้องการความผ่อนคลาย เช่น ห้องนอน , ห้องนั่งเล่น หรือ ส่วนรับประทานอาหารก็ได้


อุดรอยรั่วตามรอยต่อระหว่างผนังกับขอบประตูและหน้าต่าง

การอุดรอยรั่วตามรอยต่อระหว่างผนังขอบประตูหน้าต่างจะช่วยป้องกันความร้อน และความชื้นจากภายนอกผ่านเข้าไปภายในอาคาร ในกรณีที่ห้องนั้นเป็นห้องปรับอากาศ


ทำกันสาด

ทำกันสาดเพื่อกรองแสงให้กับหน้าต่างกระจก หรือช่องเปิดโดยกันสาดในระนาบแนวนอนจะเหมาะสมกับหน้าต่าง ที่อยู่ทางทิศเหนือ และทิศใต้ เพราะสามารถบังแสงอาทิตย์ในช่วงเที่ยงและช่วง บ่ายได้ ส่วนกันสาดในระนาบแนวตั้งเหมาะสมกับหน้าต่าง หรือช่องเปิดที่อยู่ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก


การติดตั้งผ้าม่านหรือมู่ลี่

เพื่อป้องกันความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่จะเข้าสู่ภายในตัวอาคาร ควรติดตั้งผ้าม่าน หรือ มูลี่กรองแสง เพื่อช่วยลดความร้อน และแสงจ้าได้อย่างเหมาะสม ส่วนการติดฟิล์มกรองแสงที่กระจกหน้าต่างนั้น แม้จะป้องกันความร้อนจากแสงอาทิตย์ได้ดีกว่า แต่ค่าใช้จ่ายสูงกว่าจึงไม่ค่อยเป็นที่นิยม


ปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้าน

ต้นไม้สามารถช่วยสร้างร่มเงาเพื่อบังแดด และยังช่วยลดความร้อนที่จะเข้าสู่อาคารได้โดยเฉพาะในทิศใต้ และทิศตะวันตก อย่างไรก็ตาม การปลูกต้นไม้ใหญ่ ควรเว้นระยะจากตัวอาคารไม่น้อยกว่า 5 เมตร เพราะว่ารากไม้นั้นสามารถสร้างความเสียหายกับโครงสร้างของอาคารได้


สรุปส่งท้าย

PropertyScout แนะนำว่าที่สำคัญที่สุดของบ้านคือฟังก์ชั่น เพราะเมื่อฟังก์ชั่นครบตามความต้องการของเจ้าของบ้านแล้ว ก็จะทำให้เกิดความสบายใจตามมา อย่างไรก็ตามอย่าลืมวิเคราะห์ความต้องการของพื้นที่แต่ละจุดภายในบ้านด้วยว่า แต่ละส่วนเราต้องการแบบไหน อย่างเช่น หน้าต่างห้องนอนที่ใช้เปิดระบายอากาศเพียงครั้งคราวอาจใช้บานสวิง ส่วนห้องรับแขกที่อยากเปิดออกได้แบบเต็มที่ อาจใช้เป็นบานเฟี้ยมหรือบานเลื่อนแบบเต็มพื้นที่ผนังหนึ่งฝั่ง รวมถึงอาจพิจารณาทำหลังคาสกายไลต์ ช่วยประหยัดไฟในเวลากลางวัน


PropertyScout แหล่งรวมบ้านดี ๆ ตอบโจทย์ทุกรูปแบบการใช้ชีวิต และการลงทุน