‘ไฟไหม้คอนโด’ เอาตัวรอดอย่างไรไม่ให้ถูกย่างสด
เชื่อว่า เหตุการณ์ไฟไหม้ เป็นเหตุการณ์ที่ ชาวคอนโดทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะไฟไหม้เป็นเหตุการณ์ร้ายแรงที่เป็น อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน แต่ในความเป็นจริงแล้วถึงแม้ว่าถึงแม้ว่าเราจะระมัดระวังมากแค่ไหน บางครั้งเราก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ไฟไหม้ได้ เพราะปัจจัยอื่น ๆ ที่ อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา โดยเฉพาะกับการอยู่คอนโดที่มีผู้อยู่อาศัยมากมาย เราไม่สามารถรู้ได้ว่าแต่ละคนมีความรอบคอบ ความระมัดระวังภัยอันตราย และจิตสำนึกในด้านความปลอดภัยขนาดไหน ในบทความนี้ PropertyScout จะพาชาวคอนโดทุกคนไป ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ไฟไหม้คอนโด และเราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อเป็นการ เซฟตัวเอง และ คนในครอบครัว เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น
ไฟไหม้คอนโด เกิดจากอะไรได้บ้าง?
ไฟไหม้บนคอนโดนั้นสามารถเกิดหลายสาเหตุด้วยกัน แต่ในช่วงที่ผ่านมาพบว่าสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความประมาทและการมองข้ามสิ่งเล็ก ๆ ดังนี้
- การทิ้งก้นบุหรี่ที่ยังดับไม่สนิทไว้ภายในห้อง รวมไปถึงการจุดธูปเทียนต่างๆ ทิ้งไว้
- เปิดเตาแก๊สทิ้งไว้และเกิดประกายไฟ ทำให้เกิดเพลิงไหม้ตามมา
- การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ชำรุดเสียหาย เสื่อมสภาพจากการใช้งาน เช่น สายไฟชำรุดฉีกขาด ทำให้ลวดนำไฟฟ้าที่อยู่ภายในสัมผัสกันเองหรือไปสัมผัสกับสิ่งอื่น และเกิดไฟฟ้าลัดวงจร
- เสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าหลาย ๆ อย่างพร้อมกันกับปลั๊กพ่วงที่มีหลายเต้าเสียบตัวเดียว เป็นการใช้ไฟเกินกำลัง และทำให้เกิดความร้อนสูง
- การเสียบปลั๊กชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้าทิ้งไว้เป็นเวลานาน ๆ อย่างเช่น ชาร์จแบตมือถือทิ้งไว้นานเกินไปจนเกิดความร้อนสูง
เมื่อการใช้ชีวิตประจำวันไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้เตาแก๊ส หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ได้ ดังนั้นเราควรมีความรอบคอบ อย่างไรก็ตามเราก็ควรต้องเตรียมตัวหาวิธีเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ไฟไหม้เอาไว้ก่อน เพราะมันอาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยอื่นที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเราตามที่ได้บอกไปก่อนหน้านี้ หากเรามีการเตรียมตัวที่ดี มีสติไม่ตื่นตระหนกก็จะสามารถเอาชีวิตรอดจากเหตุการณ์ไฟไหม้คอนโดได้ และอาจจะช่วยเหลือคนอื่นให้ปลอดภัยได้อีกด้วย เดี๋ยวเราไปดูกันต่อว่าเราสามารถเตรียมความพร้อมอย่างไรได้บ้าง เพื่อเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว
'การเตรียมความพร้อม' เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ไฟไหม้คอนโด
สำรวจว่าภายในอาคารมีทางหนีไฟอยู่ตรงจุดไหนบ้าง
เป็นสิ่งที่ควรทำตั้งแต่ตอนเยี่ยมชมโครงการก่อนตัดสินใจซื้อคอนโด แต่สำหรับใครที่เพิ่งย้ายเข้าอยู่ หรืออาศัยอยู่ในคอนโดมานานแล้ว และยังไม่ได้สำรวจว่าคอนโดมีทางหนีไฟอยู่ตรงจุดไหนบ้างก็ขอให้รีบทำเพื่อความปลอดภัยของตัวเรา
ให้ลองสอบถามกับทางนิติบุคคลว่าทางหนีไฟอยู่ตรงทิศไหนจากห้องที่เราอยู่ และยังสามารถใช้งานได้อยู่หรือไม่ นอกจากสอบถามกับนิติบุคคลแล้วอาจจะลองเดินสำรวจดู ซึ่งโดยปกติแล้วตามโถงทางเดิน หรือตามจุดต่าง ๆ ในพื้นที่ส่วนกลางคอนโดจะต้องมีป้ายแสดงแผนผังทางหนีไฟติดอยู่ เมื่อเจอทางหนีไฟที่ใกล้กับยูนิตของเราแล้ว ให้ลองใช้งานดู โดยเริ่มเดินจากชั้นที่เราอาศัยอยู่ลงไปถึงชั้นล่างเพื่อตรวจเช็คดูว่าประตูทางออกของทางหนีไฟสามารถเปิดปิดใช้งานได้เป็นอย่างดีหรือไม่ ในกรณีที่พบว่าประตูติดขัด ฝืด ชำรุด หรือถูกล็อคเอาไว้ เราก็สามารถแจ้งฝ่ายนิติบุคคลให้มาแก้ไขเสียให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น
เตรียมถังดับเพลิงไว้ในห้องให้พร้อม
ถังดับเพลิงเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทุกคนควรมีติดห้องคอนโดไว้ เพราะสามารถหยิบคว้ามาใช้ได้รวดเร็วหากเกิดเพลิงไหม้ภายในห้องของเรา แต่ก่อนจะหาถังดับเพลิงมาใช้ อยากให้ทุกคนมาทำความเข้าใจการจำแนกลักษณะของเพลิงไหม้กันก่อน โดยจะออกเป็น 5 ประเภทดังนี้เลย
- เพลิงไหม้ประเภท A - เป็นเพลิงไหม้จากเชื้อเพลิงธรรมดาที่ติดไฟง่าย อย่างเช่น เสื้อผ้า กระดาษ พลาสติก
- เพลิงไหม้ประเภท B - เป็นเพลิงไหม้จากเชื้อเพลิงของเหลว อย่างเช่น ของเหลวที่มีส่วนประกอบพื้นฐานเป็นน้ำมันชนิดต่าง ๆ อย่างน้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าซ ก๊าซ LPG และสารไวไฟทุกชนิด
- เพลิงไหม้ประเภท C - เป็นเพลิงไหม้จากอุปกรณ์ไฟฟ้า อย่างเช่นไฟฟ้าลัดวงจร จนเกิดความร้อนสูงและไฟไหม้
- เพลิงไหม้ประเภท D - เพลิงไหม้ที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาของโลหะ
- เพลิงไหม้ประเภท K - เพลิงไหม้ที่เกิดจากเชื้อเพลิงจากการทำครัว เช่น ไขมัน หรือน้ำมันจากสัตว์ น้ำมันพืช ที่ใช้ในการประกอบอาหารต่าง ๆ
อ่านบทความอื่นที่เกี่ยวข้อง คลิก
เมื่อเข้าใจกันแล้วว่ามีเพลิงไหม้ทั้งหมดอยู่กี่ประเภท ส่วนต่อไปเราก็จะมาดูกันว่า 'ถังดับเพลิง' ที่เหมาะสมกับการใช้งานภายในที่พักอาศัยอย่างบ้านหรือคอนโด มีแบบไหนบ้าง
- ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาเหลวระเหย - สำหรับถังดับเพลิงแบบแรกนี้ ภายในถังจะมีการบรรจุสารเคมีแบบเหลวระเหย ใช้ดับไฟประเภท A , B , C , และ K เมื่อใช้ดับเพลิงเสร็จแล้วจะไม่ทิ้งคราบสกปรก และไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้า ดังนั้นจึงเหมาะกับการใช้งานในห้องที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่าง ๆ หรือติดตั้งไว้ในบริเวณครัวก็ดี แต่ถังดับเพลิงชนิดนี้จะมีราคาค่อนข้างแพงกว่าแบบอื่น ๆ
- ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง - เป็นถังดับเพลิงแบบที่บรรจุผงเคมีแห้ง สามารถหาซื้อได้ง่าย และมีราคาไม่แพง ใช้ดับไฟประเภท A , B , และ C เหมาะสำหรับติดตั้งตามตำแหน่งทั่วไปของบ้าน หรือห้องคอนโด อย่างไรก็ตามถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้งเมื่อเปิดใช้งานแล้วก็จะต้องส่งไปบรรจุใหม่ เนื่องจากแรงดันหมดเร็ว ถึงแม้ผงเคมีข้างในจะยังไม่หมดก็ตาม อีกข้อควรระวังก็คือเมื่อเมื่อใช้ดับเพลิงเสร็จแล้วจะทิ้งคราบไว้ และหากพ่นไปโดนเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อาจจะทำให้เกิดสนิมและเสียหายชำรุดได้
- ถังดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ - สำหรับถังดับเพลิงแบบที่ 3 นี้ ภายในจะบรรจุด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เหมาะสำหรับใช้งานภายในอาคาร สามารถดับไฟประเภท B และ C ซึ่งเป็นเพลิงไหม้จากแก๊ส น้ำมัน ไฟฟ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด เมื่อฉีดออกมาแล้วจะเป็นลักษณะไอเย็นจัดของน้ำแข็งแห้ง และจะปกคลุมบริเวณที่เกิดเพลิงลุกไหม้ ช่วยลดความร้อนและดับไฟได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงไม่ทิ้งคราบสกปรก มีราคาไม่สูงมากและหาซื้อได้ง่ายเหมือนกับถังแบบผงเคมีชนิดแห้ง สามารถติดตั้งไว้ตามจุดต่าง ๆ ในบ้านหรือห้องคอนโดได้เลย
- ลูกบอลดับเพลิง - เป็นลูกบอลที่ภายในบรรจุสารแอมโมเนียฟอตเฟตสำหรับดับเพลิงไว้ เมื่อเกิดเพลิงไหม้ก็สามารถโยนเข้าไปในกองไฟได้เลย เมื่อลูกบอลสัมผัสกับเปลวไฟ สารเคมีข้างในก็จะฟุ้งกระจายออกมา และดับเพลิงลงได้อย่างรวดเร็ว เป็นอุปกรณ์ดับเพลิงที่ใช้งานง่าย แต่สามารถใช้ได้เพียงแค่ครั้งเดียว และมีราคาค่อนข้างสูง
อ่านเพิ่มเติม คลิก
เตรียมผ้าห่มกันไฟกับไฟฉาย และถ่านสำรอง
สำหรับการอพยพลงจากตึกคอนโดที่กำลังมีเหตุการณ์ไฟไหม้ เราอาจจะต้องเจอกับไฟลุกไหม้ระหว่างทาง และควันโขมงปกคลุมไปทั่วทางเดิน ดังนั้นอย่าลืมเตรียมผ้าห่มกันไฟกับไฟฉาย และถ่านสำรองไว้ด้วย และที่สำคัญคืออุปกรณ์เหล่านี้ควรวางอยู่ในบริเวณที่หยิบได้ง่าย
ผ้าขนหนูหรือผ้าผืนเก่าสำหรับชุบน้ำ
ควรเตรียมผ้าขนหนูหรือผ้าผืนเก่าใส่ไว้ในลิ้นชักหรือตู้ใกล้ ๆ กับซิงค์ล้างจาน เพราะสามารถนำผ้าไปชุบน้ำแล้วใช้ปิดจมูกระหว่างอพยพลงจากตึกได้ เพื่อป้อนกันการสำลักควันไฟที่เป็นพิษ และในกรณีที่มีกลุ่มควันไฟเกิดขึ้นนอกห้องอย่างและรุนแรง ทำให้เราไม่สามารถเปิดประตูออกไปได้ ให้นำผ้าชุบน้ำแล้วอุดบริเวณช่องว่างด้านล่างประตู เป็นการป้องกันไม่ให้ควันไฟลอดเข้ามาในห้อง และให้ออกไปหาทางขอความช่วยเหลือทางระเบียงห้องแทน
ถ้ามีโอกาสควรเข้าร่วมฝึกซ้อมการหนีไฟหรือวิธีการดับไฟ ที่ทางนิติบุคคลโครงการจัดขึ้น
สำหรับการซ้อมการหนีไฟที่นิติบุคคลโครงการคอนโดได้จัดทำขึ้นนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกบ้านผู้อยู่อาศัยทุกคนได้ทราบขั้นตอนในการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ ตั้งแต่การเรียนรู้สัญญาณเตือนภัยต่าง ๆ ตลอดจนการจำลองสถานการณ์ไฟไหม้เพื่อให้ฝึกซ้อมการอพยพออกจากห้องลงทางหนีไฟ ไปยังจุดรวมพล นอกจากนั้นจะมีกิจกรรมให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปิดวาล์วถังแก๊ส การใช้ถังดับเพลิงให้ถูกวิธี รวมไปถึงการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์ไฟไหม้คอนโดทั้งนั้น ดังนั้น PropertyScout ขอแนะนำให้ทุกคนเข้าร่วมร่วมฝึกซ้อมการหนีไฟที่ทางคอนโดจัดขึ้นสำหรับลูกบ้าน
อ่านบทความอื่นที่เกี่ยวข้อง คลิก
เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้คอนโดแล้ว ควรปฏิบัติอย่างไร?
เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้คอนโดแล้วสิ่งสำคัญอย่างแรกที่เราควรทำก็คือ 'การตั้งสติ' และเมื่อได้สติแล้ว ให้สังเกตว่าเราอยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัยอยู่หรือไม่ โดยสามารถพิจารณาตามสถานการณ์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ถ้าหากเพลิงไหม้ภายในห้องคอนโดของเรารุนแรงจนไม่สามารถใช้ถังดับเพลิงได้ อย่างแรกที่ต้องทำคือเตรียมผ้าห่มกันไฟ ไฟฉายพร้อมถ่านสำรอง และผ้าชุบน้ำสำหรับปิดจมูกให้พร้อม หลังจากนั้นให้รีบออกจากห้อง แล้วแจ้งห้องข้างเคียงให้ทราบโดยการเคาะประตูและตะโกนเรียก ระหว่างนั้นก็ให้กดปุ่มแจ้งสัญญาณเตือนภัยเพื่อแจ้งให้ทุกคนรีบออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด โดยมุ่งหน้าไปโถงทางเดินหลักไปที่บันไดหนีไฟที่อยู่ใกล้ที่สุด
- ในกรณีที่อยู่ไปมาดี ๆ ก็มีเสียงสัญญาณเตือนภัย ให้คิดไว้เสมอว่าทุกครั้งที่ได้ยินสัญญาณนั้นคือมีเหตุการณ์ไฟไหม้เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่การซ้อม และให้รีบหาทางหนีลงจากอาคารโดยทันทีและไปยังจุดรวมพลให้เร็วที่สุด โดยหยิบแต่ของมีค่าและของที่จำเป็นเท่าที่จะหยิบได้เท่านั้นเพื่อความคล่องตัวมากที่สุด
- ในระหว่างการหนีออกจากตึก ถ้ามีควันไฟมากให้ 'คลานต่ำ' และถ้าเป็นไปได้ให้คลานในระดับไม่เกิน 1 ฟุตเหนือพื้น เพื่อป้องกันการสูดควันพิษที่สามารถทำให้หมดสติได้
- เมื่อลงมาถึงข้างล่างแล้ว ให้รีบออกห่างจากตัวอาคารโดยเร็วที่สุด
- ในกรณีที่ไฟลุกไหม้รุนแรงมากจนกีดขวางทางลงจากอาคาร ให้รีบหาทางขึ้นไปที่ชั้นดาดฟ้าหรือชั้นสูงสุดของอาคารและรอการช่วยเหลือจากเฮลิคอปเตอร์บนนั้น เพราะในการปฏิบัติการของหน่วยกู้ภัย เจ้าหน้าที่จะเริ่มช่วยเหลือจากชั้นล่างและชั้นบนสุดก่อน และไปบรรจบที่ชั้นตรงกลางของอาคาร
อยู่คอนโดชั้นไหน ควรเตรียมตัวหนีไฟอย่างไรบ้าง
ไม่เกินชั้น 8
สำหรับการอยู่คอนโดแบบ Low Rise ความสูงไม่เกิน 8 ชั้น หรืออยู่คอนโดแบบ High Rise ไม่เกินชั้น 8 การเดินลงบันไดน่าจะไม่เป็นปัญหาสำหรับคนที่แข็งแรงดี คนที่อยู่อาศัยคนเดียวไม่มีครอบครัวก็สามารถใช้บันไดหนีไฟได้อย่างสบายไม่ต้องกังวล แต่หากอยู่กันเป็นครอบครัว มีเด็ก ๆ คนสูงอายุ หรือคนป่วย ก็จะทำให้การอพยพยุ่งยากขึ้นหน่อย ดังนั้นใครที่กำลังมีแผนจะเช่าหรือซื้อคอนโดใหม่ ควรเลือกชั้นที่อยู่ด้านล่าง ๆ และเลือกตำแหน่งห้องให้อยู่ใกล้บันไดหนีไฟ เพื่อความสะดวกในการอพยพ
ชั้น 8 ถึง ชั้น 15
ความสูง 8-15 ชั้น ถือว่าอยู่ในระดับกลาง ๆ สำหรับคนที่อยู่อาศัยในความสูงระดับนี้ หากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้คอนโดก็ยังสามารถเดินลงบันไดหนีไฟได้อยู่ และก็ยังมีโอกาสอพยพหนีขึ้นชั้นดาดฟ้าได้ด้วย แต่ที่สำคัญคือต้องประเมินสถานการณ์ให้ดีว่า 'หนีลงข้างล่าง' หรือ 'หนีขึ้นข้างบน' ทางไหนจะปลอดภัยกว่ากัน ถ้าหากว่าเป็นไฟไหม้คอนโดอย่างรุนแรงและเป็นระยะเวลาเวลานาน ก็มีโอกาสที่โครงสร้างของอาคารจะเสียหายและทำให้คอนโดถล่มลงมาได้ ให้สังเกตความรุนแรงของเพลิงไหม้ ถ้าสามารถหนีลงชั้นล่างได้ก็หนีลงไปได้เลย เพราะว่าปลอดภัยสุด แต่ในกรณีที่เปลวไฟลุกลามออกมาบริเวณทางหนีไฟทำให้ไม่สามารถลงไปด้านล่างได้ ให้รีบหนีขึ้นไปบนชั้นดาดฟ้าโดยทันทีเพื่อรอการช่วยเหลือทางเฮลิคอปเตอร์
ชั้น 15 ขึ้นไป
ถึงแม้ว่าการอยู่คอนโดชั้นบน ๆ จะทำให้ได้วิวสวยงาม แต่ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้นั้นเราก็จะต้องประเมินความรุนแรงให้ดี เพราะการที่จะหนีลงไปยังจุดรวมพลชั้นล่างนั้นจะยุ่งยากขึ้น มีความเสี่ยง และต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนที่อยู่ชั้นล่าง ๆ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วโครงการคอนโดแบบ High Rise ที่สูงแบบระฟ้ามักจะมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ฉุกเฉินบนดาดฟ้าอยู่แล้ว ดังนั้นคำแนะนำสำหรับคนที่อยู่อาศัยในชั้นบน ๆ หากหนีลงทางหนีไฟไม่ได้ ก็ให้ขึ้นไปบนชั้นดาดฟ้า ซึ่งจะทำให้สามารถอพยพได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัยกว่า
อ่านบทความอื่นที่เกี่ยวข้อง คลิก
สิ่งที่ 'ห้ามทำโดดเด็ดขาด' เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้คอนโด
- ห้ามเปิดประตูห้องโดยทันที - ในกรณีที่ไฟไหม้บริเวณโถงทางเดินอาจลุกไหม้มาถึงบริเวณหน้าประตูห้องเรา ดังนั้นก่อนเปิดประตูให้ลองใช้หลังมือสัมผัสลูกบิดแบบเร็ว ๆ เพื่อเช็คว่ามีความร้อนสะสมที่ลูกบิดหรือไม่ ถ้าลูกบิดร้อนจัดมาก ๆ ห้ามเปิดประตูโดยทันที เพราะแสดงว่าด้านนอกห้องมีเปลวไฟอยู่ถ้าเปิดประตูออกไปไฟอาจจะพุงเข้ามาในห้อง ทำให้เกิดอันตรายได้
- ห้ามมัวแต่ห่วงเรื่องของมีค่าทุกอย่าง หรือเรื่องงาน - เมื่อได้ยินสัญญาณเตือนภัยฉุกเฉิน ให้หยิบเฉพาะของติดตัวที่มีความจำเป็นจริง ๆ อย่างเช่นกระเป่าสตางค์หรือโทรศัพท์มือถือ แล้วให้วางแผนอพยพออกโดยเร็ว เพราะในเวลาแบบนี้ชีวิตถือเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด
- ห้ามใช้ลิฟท์ขณะเกิดเหตุไฟไหม้ - ถือว่าเป็นสิ่งที่อันตรายมาก เพราะระหว่างลงจากอาคารลิฟท์อาจจะเกิดการขัดข้อง ทำให้เราติดอยู่ในลิฟท์ ในตึกที่กำลังเกิดไฟไหม้ เรียกได้ว่าจากการหนีกลายเป็นเป็นติดกับดักแทน ดังนั้นใช้บันไดหนีไฟเพื่อความปลอดภัยในการอพยพดีกว่า
- ห้ามเข้าไปหลบในห้องน้ำ - เพราะห้องน้ำเป็นอีกกับดักเช่นกัน หากมัวแต่เข้าไปหลบในห้องน้ำจนเพลิงไหม้ลุกลามมาถึงในห้องคอนโด เราก็อาจจะขาดอากาศหายใจหรือถูกไฟครอกได้
- ห้ามกระโดดลงจากระเบียงคอนโด - โดยไม่มีอุปกรณ์หรือเจ้าหน้าที่รอรับด้านล่าง - หลายคนที่อยู่อาศัยในชั้นล่าง ๆ ของคอนโดแบบ Low Rise แล้วเจอกับเหตุการณ์ไฟไหม้อาจจะคิดว่าการกระโดดออกทางระเบียงเป็นวิธีอพยพได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าหากว่าไม่มีเจ้าหน้าที่พร้อมอุปกรณ์รอรับอยู่ด้านล่างแล้วตัดสินใจกระโดดลงไป อาจจะทำให้บาดเจ็บสาหัสหรือเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
ไฟไหม้คอนโด ใครต้องรับผิดชอบ?
หลังจากที่รู้สาเหตุที่อาจก่อให้เกิดไฟไหม้ ตลอดจนสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องเตรียมและต้องปฏิบัติแล้ว ก็คงถึงเวลาที่เราจะมาหาคำตอบกันว่า เมื่อเกิดเหตการณ์ไฟไหม้คอนโดแล้วใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบกันแน่ สำหรับประเด็นนี้ต้องขอบอกว่า จะต้อง 'ดูตามเหตุการณ์และสืบสวนหาสาเหตุว่าการเกิดไฟไหม้คอนโดในครั้งนั้นเกิดจากใคร' ซึ่งก็ขอยกตัวอย่างให้เข้าใจดังนี้
กรณี 1 ระบบไฟฟ้าของตึกเกิดการขัดข้อง - ทำให้เกิดเพลิงไหม้จากห้องควบคุมระบบไฟลุกลามไปยังโถงทางเดินไปจนถึงยูนิตพักอาศัยของลูกบ้าน สำหรับในกรณีแบบนี้ ทางเจ้าของโครงการหรือทางนิติบุคคลของคอนโดก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ แต่โดยทั่วไปทางโครงการจะมีการทำประกันภัยคอนโดเอาไว้ ซึ่งยูนิตที่ได้รับความเสียหายก็จะได้รับการจ่ายชดเชยแบบเฉลี่ยจากวงเงินที่ทำประกันไว้ ซึ่งในบางกรณีอาจจะไม่ชดเชยแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย และอาจจะไม่รวมทรัพย์สินบางอย่างที่อยู่ในห้องด้วย
กรณี 2 ลูกบ้านห้องหนึ่งเดินทางไปต่างประเทศ แล้วลืมเสียบปลั๊กเตารีดทิ้งไว้ - ทำให้เกิดไฟไหม้ทรัพย์สินภายในห้องตัวเอง เมื่อเพลิงไหม้มีความรุนแรงขึ้นก็ลามไปยังโถงทางเดิน ห้องข้าง ๆ และพื้นที่ส่วนกลางที่อยู่ในชั้นเดียวกัน ในกรณีนี้ผู้ที่ต้องรับผิดชอบก็คือลูกบ้านที่ลืมเสียบปลั๊กเตารีดทิ้งไว้
สรุปส่งท้าย
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนที่กำลังมองหาคอนโด หรือกำลังพักอาศัยในคอนโดอยู่แล้วก็ตาม ถึงเราจะใช้ชีวิตประจำวันอย่างไม่ประมาท แต่อย่างที่ได้กล่าวไปว่า สำหรับเหตุการณ์ไฟไหม้คอนโดนั้นอาจเกิดขึ้นจากปัจจัยอื่นที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นการที่เรา เตรียมตัวรับมือเป็นอย่างดี รู้วิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง รวมไปถึงการ มีสติเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน แบบนี้ PropertyScout เชื่อว่าทุกคนสามารถ พาตัวเอง พาครอบครัว และคนรัก หนีรอดปลอดภัยได้อย่างแน่นอน อย่าลืมว่าต้อง มีสติอยู่เสมอ เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินทุกรูปแบบ!
อ่านบทความ รีวิวโครงการ อัปเดตข่าวอสังหาริมทรัพย์ได้ที่ PropertyScout Blog
หรือต้องการ เช่า ซื้อ ขาย อสังหา ฯ ติดต่อ PropertyScout
ทีมงานมืออาชีพของเราพร้อมให้คำปรึกษาและบริการด้วยความเต็มใจ